ธุรกิจแล็บสี ’ 49 : เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ…แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนและไม่แน่นอนเกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมือง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายประเภท อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ธุรกิจที่มีแนวโน้มดีสวนกระแสเศรษฐกิจกลับเป็นธุรกิจแล็บสี ที่เคยเข้าสู่ช่วงทรงตัวได้กลับเข้าสู่ช่วงเฟื่องฟูอีกครั้ง อันได้รับผลต่อเนื่องมาจากความสนใจของประชาชนที่ต้องการภาพในช่วงงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเก็บไว้เป็นที่ระลึกจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจแล็บสีมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ความต้องการล้าง อัด ขยายภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 20-30
ในช่วงที่ผ่านธุรกิจแล็บสีต้องปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อเข้าสู่กระแสการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้การถ่ายภาพจากเดิมที่ใช้ฟิล์มธรรมดามาเป็นกล้องดิจิทัลที่จัดเก็บรูปผ่านหน่วยความจำ และการอัดภาพจากไฟล์ข้อมูลรูปภาพ ซึ่งทำให้อุปกรณ์สำหรับอัดขยายภาพรุ่นเดิมไม่สามารถใช้งานได้และต้องปรับปรุงเครื่องมือใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายความถึงการเพิ่มเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเครื่องมือรุ่นใหม่ในจำนวนที่ค่อนข้างมาก โดยอาจสูงถึง 4-5 ล้านบาทต่อเครื่องอัด-ขยายภาพดิจิทัล 1 เครื่อง แม้ว่าทางผู้ผลิตเครื่องจะมีนโยบายให้เจ้าของธุรกิจแล็บสีผ่อนชำระเป็นรายเดือนได้ แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพรูปแบบอื่นๆ ก็พัฒนาขึ้น เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของพรินเตอร์สี กระดาษพรินเตอร์ ที่ทำให้ผู้ใช้กล้องดิจิทัลสามารถพิมพ์ภาพเองได้สะดวกและมีคุณภาพดีขึ้น ได้กลายมาเป็นปัจจัยแข่งขันทางอ้อมที่เพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันนอกเหนือจากการแข่งขันทางตรงจากคู่แข่งทางการค้าในกลุ่มธุรกิจเดียวกันเอง อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบคุณภาพและราคาของกระดาษที่จะใช้พิมพ์ภาพจากเครื่องพรินเตอร์เมื่อเทียบกับภาพที่อัดขยายจากแล็บสีแล้วจะเห็นว่าร้านแล็บสียังมีคุณภาพที่ดีกว่ามาก ทำให้ธุรกิจแล็บสียังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ทั้งนี้แนวโน้มของการให้บริการก็ยังคงต้องเน้นที่การปรับตัวเพื่อรองรับกับการขยายตัวของปริมาณการใช้กล้องดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อัตราการใช้กล้องดิจิทัลในปัจจุบันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจการครอบครองสินค้าเทคโนโลยีของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 780 ราย ในช่วงระหว่างวันที่ 15-30 พฤษภาคม 2549 พบว่า ร้อยละ 40.4 ของกลุ่มตัวอย่างมีกล้องดิจิทัลสำหรับใช้ในครัวเรือน และร้อยละ 5.5 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีกล้องดิจิทัลใช้งาน มีไว้ครอบครองจำนวนมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 5.5 ของกลุ่มตัวอย่างต้องการซื้อกล้องดิจิทัลในอีก 6 เดือนข้างหน้า แสดงให้เห็นว่าความต้องการกล้องดิจิทัลยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการใช้กล้องดิจิทัลสำหรับถ่ายภาพนั้นได้ส่งผลให้พฤติกรรมของคนถ่ายภาพแตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก จากเดิมการถ่ายภาพหากต้องการพิมพ์ภาพผ่านฟิล์มจากกล้องใช้ฟิล์มนั้นต้องนำฟิล์มมาล้าง-อัดภาพที่ร้านแล็บสีเท่านั้น โดยที่ร้านจะคิดค่าบริการตามจำนวนภาพที่สั่งอัด ในราคา 3-6 บาทต่อภาพขนาดปกติ (ขึ้นกับขนาดและชนิดของกระดาษที่ใช้) และค่าล้างฟิล์ม 20-30 บาทต่อม้วน ในขณะที่การใช้กล้องดิจิทัลผู้ใช้สามารถจัดเก็บภาพหรือดูภาพที่ถ่ายมาแล้วได้หลายช่องทาง คือ ดูภาพผ่านหน้าจอ LCD ของตัวเครื่อง ดูภาพผ่านจอคอมพิวเตอร์ หรือดูผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ สำหรับการจัดเก็บภาพหรือถ่ายโอนภาพนั้น สามารถทำได้ผ่านทางคอมพิวเตอร์ และจัดเก็บได้ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ จัดเก็บเป็นซีดีรอม (CD-ROM) หรือเก็บไว้ในแฟลชไดรฟ์ (Flash Drive) ได้ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องเอาไปจัดพิมพ์เป็นภาพ นอกจากนี้ยังสามารถส่งไฟล์รูปภาพผ่านทางอินเทอร์เน็ตให้กับเพื่อน/ญาติพี่น้องได้รวดเร็วกว่าเดิม และมีแนวโน้มว่าผู้ที่ใช้กล้องดิจิทัลจะมีความถี่ในการถ่ายรูปมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มที่จะใช้บริการอัด-ขยายภาพกับแล็บสีก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้บทบาทของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนั้น ทำให้พฤติกรรมการถ่ายภาพของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น

– กลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะใช้บริการแล็บสีเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลแล้วนำภาพไปอัด-ขยายภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณรูปที่ถ่ายมานั้นเพิ่มขึ้นจากเดิมฟิล์มธรรมดาโดยปกติจะสามารถถ่ายภาพได้เพียง 24-36 ภาพต่อม้วน ในขณะที่ภาพที่จัดเก็บจากการ์ดหน่วยความจำ (memory card) สามารถบันทึกภาพได้มากกว่า 100 ภาพขึ้นไป และต้องการเก็บภาพไว้จะนำมาล้าง-อัดทันที ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย การจัดเก็บภาพผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์หรือวิธีการจัดเก็บอื่นๆ ไม่คล่อง และต้องการเก็บภาพในลักษณะกระดาษแบบเดิมมากกว่า

– กลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะใช้บริการแล็บสีน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีค่อนข้างมาก สามารถจัดการกับไฟล์รูปภาพที่ถ่ายผ่านกล้องดิจิทัลได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์ การจัดเก็บในรูป CD-ROM การจัดเก็บไว้ในแฟลชไดรฟ์ (Flash Drive) ได้ โดยที่ยังไม่นำไปจัดพิมพ์เป็นภาพ หรือเลือกเฉพาะรูปที่ต้องการจริงๆ ไปจัดพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีทางเลือกที่จะพิมพ์ภาพผ่านทางพรินเตอร์แทนการไปร้านแล็บสีอีกด้วย หรือส่งไฟล์รูปภาพผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปยังที่ต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การใช้ซอฟท์แวร์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่

แหล่งรายได้ของร้านแล็บสี มาจาก การจำหน่ายฟิล์ม ล้างขอัด-ขยายภาพ จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพ ใส่กรอบรูป ถ่ายภาพติดบัตร และการรับถ่ายภาพนอกสถานที่ สำหรับช่วงเวลาที่มีการใช้บริการร้านแล็บสีมากนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี สงกรานต์ การจัดงานเลี้ยงสังสรรในช่วงปีใหม่ งานแต่งงาน งานบวช งานศพ งานรับปริญญา ในช่วงเทศกาลเหล่านี้จะมีผู้ใช้บริการร้านแล็บสีมากขึ้น และสำหรับในปี 2549 นี้ ธุรกิจแล็บสีได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษเพราะมีเหตุการณ์ช่วงงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยกระตุ้นธุรกิจในช่วงระยะสั้น แต่ในระยะต่อไปนั้น ธุรกิจแล็บสียังต้องเผชิญกับปัจจัยผันผวนต่างๆ ดังนี้

– ปัจจัยทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ความผันผวนของเศรษฐกิจ การปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมัน อันนำมาซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค การใช้จ่ายทางด้านการท่องเที่ยว บันเทิงและสันทนาการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้รับการพิจารณาจากผู้บริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทำให้กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ลดลง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้บริการร้านแล็บสี

– ปัจจัยด้านการแข่งขัน ในจำนวนคู่แข่งทางตรงหรือผู้ให้บริการร้านแล็บสีด้วยกันเอง แม้ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ก็มีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง โดยการปรับลดอัตราค่าบริการล้างอัดภาพลงเหลือ 2.50-3 บาทต่อภาพเพื่อแย่งชิงลูกค้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งชุมชนมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง

– ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แม้ว่าที่ผ่านมาร้านแล็บสีหลายแห่งจะมีการปรับปรุงคุณภาพของเครื่องล้างอัดภาพให้สามารถรองรับการอัดภาพจากกล้องดิจิทัลได้ การเพิ่มระบบซอฟท์แวร์และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่รองรับการให้บริการใหม่ โดยมีเงินลงทุนประมาณ 1-10 ล้านบาท การเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ค่อนข้างรวดเร็วนั้นทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นอาจล้าสมัยได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเครื่องมือเครื่องใช้อยู่ตลอดเวลาและส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจค่อนข้างมาก

– ปัจจัยด้านการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งนี้พบว่าการเข้ามาสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ในปัจจุบันไม่ยุ่งยากมากนัก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการรายเดิม โดยเฉพาะการปรับตัวลดลงของราคาอุปกรณ์ในการอัดล้างภาพ ในขณะที่เครื่องมีประสิทธิภาพดีขึ้น มีขนาดเล็กลง สามารถตั้งร้านได้ในลักษณะบูธพิมพ์ภาพขนาดเล็กในห้างสรรพสินค้า หรือหรือในรูปแบบของสตูดิโอขนาดเล็ก-ปานกลางที่มีบริการต่อเนื่องทางด้านอื่นๆด้วย เช่น บริการถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายภาพแฟนซี ซึ่งในปัจจุบันมีบริการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ส่วนร้านที่มีขนาดใหญ่รองรับปริมาณงานค่อนข้างมากซึ่งมักจะมีการลงทุนสูงนั้นก็ได้รับการอุดหนุนทางด้านการผ่อนชำระจากผู้ผลิตเครื่องล้างอัดภาพเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายเดิมในตลาด แต่ก็นับว่าต้องอาศัยเงินลงทุนมากทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอยู่บ้าง

– ปัจจัยด้านสินค้าอื่นที่ใช้ทดแทนได้ พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดสินค้าที่ทดแทนกันได้เข้ามาให้บริการแทนที่ร้านแล็บสีได้ โดยเฉพาะการจัดตั้งตู้บริการล้างอัดภาพอัติโนมัติ (KIOS) ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ชุมชน เพื่อให้บริการลูกค้าทดแทนการนำไปล้างอัดภาพที่ร้าน การส่งไฟล์รูปภาพจัดการล้างอัดภาพผ่านอินเทอร์เน็ตและรอรับภาพที่บ้านแทนการเดินทางออกไปข้างนอก การพัฒนาของเครื่องพรินเตอร์ที่มีความละเอียดสูงขึ้น คุณภาพของกระดาษที่ดีขึ้นที่ผู้ใช้สามารถจัดพิมพ์ภาพได้เอง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้กลายเป็นคู่แข่งทางอ้อมที่เพิ่มบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 นี้ธุรกิจแล็บสีจะมีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศคืองานพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังได้รับแรงหนุนสำคัญจากปริมาณการใช้กล้องดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นและการเพิ่มจำนวนของกล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคุณภาพดีขึ้น แต่ในการดำเนินธุรกิจในช่วงต่อไปนั้น ก็ยังจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลากหลายด้านที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้