ไทย VS มาตรการ NTBs : อุปสรรคการค้าเสรี

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2549 มุ่งเน้นใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (การส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี) เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศไม่สามารถผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ชะงักงัน การบริโภคภายในชะลอตัวจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในระดับสูง รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้การส่งออกของไทยในปี 2549 ขยายตัว 17.5% สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) การส่งออกขยายตัว 16.5% อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในปีนี้ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการแข็งค่าของค่าเงินบาท ราคาน้ำมันในระดับสูงทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ย ขาขึ้น และที่สำคัญ คือ อุปสรรคจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ที่สินค้าส่งออกของไทยประสบมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันแม้ว่าภาษีศุลกากรของสินค้าในการค้าโลกลดลงเป็นลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากพันธกรณีการเปิดเสรีการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) แต่การใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) กลับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับและมีรูปแบบใหม่ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่น่าสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของการใช้มาตรการ NTBs ได้เปลี่ยนจากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศ มาเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ใช้มาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Sanitary and Phyto-Sanitary Measures : SPS) และมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าด้านเทคนิค (Technical Barriers to Trade : TBT) มากขึ้นเป็นลำดับ โดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก รวมทั้งการรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของแรงงาน เห็นได้จากการกำหนดมาตรการด้านสุขภาพ/สุขอนามัยเข้ามาเชื่อมโยงกับมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่คำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นสิ่งสำคัญ

สินค้าส่งออกไทย : เผชิญมาตรการ NTBs

ปัจจุบันสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมของไทยเผชิญกับมาตรการ NTBs จากประเทศต่างๆ ทั้งจากมาตรการ AD และมาตรการกำหนดมาตรฐานสินค้าด้าน SPS และ TBT รวมถึงมาตรฐานด้านการปกป้อง/คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันผู้ประกอบการด้านการส่งออกของไทยในการดำเนินการด้านการค้าระหว่างประเทศที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์/กฎระเบียบทางการค้าโลกตลอดเวลา

• สินค้าประมงไทย
สหรัฐฯ – การส่งออกกุ้งของไทยไปสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับมาตรการ NTBs หลายรูปแบบ จากทั้งมาตรการ AD และการกำหนดมาตรฐานใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อม กรณีที่ไทยถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้ากุ้งแช่แข็ง และเรียกเก็บเงินค้ำประกันการนำเข้า (Continuous Bond) ทำให้ผู้ส่งออกกุ้งของไทยมีต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้นมาก ทางฝ่ายไทยได้ยื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อ WTO ในเดือนเมษายน 2549 โดยเห็นว่า การที่สหรัฐฯ เรียกเก็บเงินประกันภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทย เป็นการกีดกันทางการค้าและขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ภายใต้กลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO

นอกจากนี้ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ออกข้อบังคับให้ผู้ส่งออกกุ้งไทยต้องมีใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมจากองค์กรเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ Aquaculture Certification Council (ACC) โดยไม่ยอมรับใบรับรองการตรวจสอบของกรมประมงของไทย ทำให้บริษัทเอกชนไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบของ ACC และอาจทำให้ห้างอื่นๆ ในสหรัฐฯ กำหนดกฎระเบียบนี้ตามมา

สหภาพยุโรป – สหภาพยุโรปออกข้อบังคับด้านสาธารณสุขฉบับใหม่ (EUREPGAP) ในช่วงต้นปี 2549 โดยอ้างว่าผู้บริโภคในสหภาพยุโรปคาดหวังเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น โดยสหภาพยุโรปจะไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้า หากความปลอดภัยของสินค้าไม่ถึงระดับมาตรฐาน เช่น มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะสารเคมี แบคทีเรีย และเชื้อโรคอื่นๆ โดยข้อบังคับนี้ของสหภาพยุโรปครอบคลุมเพิ่มเติมถึงสินค้าประมง รวมถึงกุ้ง จากเดิมที่กำหนดเฉพาะมาตรฐานสินค้าผักและผลไม้สด นอกจากนี้ สหภาพยุโรปตั้งเงื่อนไขให้หลายองค์กรเอกชนของตนเข้ามาตรวจสอบกระบวนการผลิตกุ้งของไทยทั้งระบบตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูป โดยไม่ยอมรับใบตรวจรับรองของกรมประมงของไทยเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าประมง และอาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ควรคำนึงถึงมาตรฐานด้าน food safety ไม่เช่นนั้นอาจถูกประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย (ซึ่งเป็นประเทศที่สหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าประมงเช่นกัน) แย่งชิงตลาดสหภาพยุโรปไปได้

• สินค้าอุตสาหกรรมไทย : ตั้งรับมาตรการ NTBs
สินค้าอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากกฎระเบียบ RoHS (Directive on the Restriction of the Use of certain Hazardous Substances in Electrical and Electronic Equipment) กำหนดสารอันตรายต้องห้าม 6 ชนิด ในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 จากก่อนหน้านี้ที่สหภาพยุโรปกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE (Directive on Waste Electrical and Electronic Equipment) ซึ่งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้นำเข้าของ EU ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ WEEE โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเพิ่มปริมาณของซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น จากการถูกผลักภาระต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ WEEE จากผู้นำเข้าของ EU นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2550 ร่างกฎหมายระเบียบควบคุมเคมีภัณฑ์ (Regulation on the Registration, Evaluation, and Authorization of Chemicals : REACH) ของสหภาพยุโรปจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งครอบคลุมเคมีภัณฑ์ต้องห้ามถึง 30,000 ชนิด โดยสหภาพยุโรปเห็นว่า สารเคมีสังเคราะห์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

กฎหมาย RoHS ที่กำหนดสารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ทำให้สินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยไปสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ได้รับผลกระทบโดยต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารอันตราย 6 ชนิดในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2549 ไทยส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 22.7% จาก 744.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2548 เป็น 913.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 14% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหภาพยุโรป สำหรับ สินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ของไทยไปสหภาพยุโรปที่จะได้รับผลกระทบจากกฎ RoHS ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (สินค้าส่งออกอันดับ 5 ของไทยไป EU) โดยไทยส่งออกมูลค่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (สินค้าส่งออกอันดับ 8 ของไทยไป EU) ไทยส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบไปสหภาพยุโรปในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มูลค่า 206.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การผ่อนคลายปัญหาของไทยจากการเผชิญมาตรการ NTBs อาทิ

• การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Agreements : MRAs) ระหว่างประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยปรับประสานมาตรฐาน และกฎระเบียบที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆ ให้สอดคล้องกัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนของบริษัทส่งออกได้มาก ดังเช่นวัตถุประสงค์หนึ่งของการดำเนินนโยบายจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีของไทย คือ การมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) โดยเฉพาะกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่กำหนดมาตรฐานสินค้าไว้ในระดับสูง โดยเจรจาจัดทำความตกลง MRAs ภายใต้ความตกลง FTA อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยได้จัดทำความตกลง MRAs กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แล้ว แต่สินค้าส่งออกผักและผลไม้ของไทยยังคงประสบปัญหาการเข้าสู่ตลาดสองประเทศนี้ ภาครัฐจึงควรเร่งเจรจาแก้ไขปัญหาความเข้มงวดด้านมาตรฐานสินค้านี้ เพื่อช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตลาดส่งออกและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดทำความตกลง FTA

• จัดตั้งองค์กรกลางด้านมาตรฐานสินค้า – ไทยจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์กรกลางของภาครัฐที่กำกับดูแลมาตรฐานสินค้าของไทยอย่างครบวงจรเป็นระบบทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้องค์การด้านมาตรฐานของไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสากลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับใบรับรองด้านมาตรฐานจากองค์การภายในประเทศแล้ว สามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศโดยได้รับการยอมรับมาตรฐานสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันการกำหนดมาตรฐานสินค้าให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้านำเข้ามายังประเทศไทย เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยผู้บริโภคภายในประเทศ และปกป้อง/คุ้มครองสิ่งแวดล้อมภายในประเทศจากวัสดุ/วัตถุดิบสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมในประเทศ

• พัฒนาผลิตภัณฑ์ – สำหรับภาคเอกชน ผู้ผลิตจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพของแรงงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อผลกระทบของสินค้าต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากความเข้มงวดในด้านการใช้วัตถุดิบและการใช้สารที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งไทยเจรจาจัดทำ FTA ด้วย ที่มีแนวโน้มกำหนดกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้ามากขึ้นในปัจจุบัน

สรุป
ภาครัฐและภาคเอกชนไทยควรร่วมมือกันพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าไทย เพื่อขจัดอุปสรรคจากมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขกับสินค้าส่งออกของไทย ถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) รูปแบบใหม่ที่ไทยเผชิญในปัจจุบัน และ มีแนวโน้มการใช้มาตรการนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยผ่านองค์กรกลางด้านมาตรฐานสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภาคเอกชนควรเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยคำนึงถึงมาตรฐานสากลและกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ทั้งด้านสุขอนามัย การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพแรงงาน เพื่อกระตุ้นให้การส่งออกของไทยขยายตัวตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของ GDP โดยเฉพาะในปี 2549 ที่ปัจจัยภายในทั้งการลงทุนและการบริโภคชะลอตัว จากราคาน้ำมันในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐชะงักงัน และความไม่แน่ชัดทางการเมือง ล้วนเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้