ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกาศสัตยาบรรณโดยสมัครใจ ในการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของไทย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้ง พลัส จำกัด ร่วมประกาศสัตยาบรรณของบริษัทโดยสมัครใจในการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดการสื่อสารและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์

ทั้งนี้ สัตยาบรรณโดยสมัครใจของทั้ง 5 บริษัทในการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าวริเริ่มขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2549 ในการประกาศทบทวนช่องทางการสื่อสารและการใช้สื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สื่อที่อาจเข้าถึงกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งระหว่างการทบทวนช่องทางการสื่อสารและจัดทำแนวทางการสื่อสารใหม่นี้ ทั้ง 5 บริษัทได้ทำการหยุดการโฆษณาในสื่อต่างๆ ในช่วงเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา

สำหรับแนวทางการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของกฎระเบียบการโฆษณาแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน และเพิ่มเกณฑ์การควบคุมให้เข้มงวดครอบคลุมช่องทางการสื่อสารการตลาดที่หลากหลาย เพื่อลดช่องทางการสื่อสารที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์

แนวทางการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ ประกอบด้วยช่องทางการสื่อสารหลัก ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งสื่อนอกบ้าน อาทิ ป้ายกลางแจ้งสาธารณะหรือบิลบอร์ด โรงภาพยนตร์ สื่อดิจิตอล สื่อ ณ จุดขาย การส่งเสริมการขาย การจัดกิจกรรมทางการตลาดหรือ อีเวนท์ และการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในการจัดทำแนวทางการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว ทั้ง 5 บริษัทได้ประเมินช่องทางการสื่อสาร โดยใช้ดัชนีสื่อของเอซี นีลเส็น ซึ่งครอบคลุมสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เพื่อระบุจำนวนของผู้ชมที่เป็นกลุ่มเยาวชนของแต่ละสื่อและรายการ รวมทั้งการอ้างอิงการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อต่างๆ ของกระทรวงวัฒนธรรมและกรมประชาสัมพันธ์ โดยทั้ง 5 บริษัท ได้กำหนดมาตรฐานว่า จะไม่ดำเนินการโฆษณาหากสื่อและรายการนั้นมีกลุ่มผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นจำนวน 25% หรือมากกว่า ทั้งนี้ ตัวเลข 25% เป็นตัวเลขมาตรฐานที่ผู้ประกอบการแอลกอฮอล์ชั้นนำทั่วโลก

ใช้เป็นเกณฑ์ในหลายประเทศ โดยทั้ง 5 บริษัทจะทบทวนแนวทางการสื่อสารโดยใช้ข้อมูลของเอซี นีลเส็น ทุก 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่า สื่อและรายการต่างๆ จะยังคงปฏิบัติตามมาตรฐานนี้

สำหรับช่องทางการตลาดอื่นๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลจากเอซี นีลเส็น ทั้ง 5 บริษัทจะทำการประเมินว่า จะมีโอกาสที่กลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์จะเห็นสื่อโฆษณาแอลกอฮอล์จากช่องทางการสื่อสารนั้นหรือไม่อย่างไร และจะหาวิธีและมาตรการในการลดการเผยแพร่ผ่านช่องทางที่อาจเข้าถึงกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์นั้น โดยบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 5 บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบอย่างจริงจัง ทั้ง 5 บริษัท จึงได้จัดทำแนวทางการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ครอบคลุมช่องทางการสื่อสารต่างๆ แม้ว่ากฎระเบียบของภาครัฐในปัจจุบันจะยังไม่กำหนดหรือบังคับใช้ก็ตาม

โดยหัวใจสำคัญของการจัดทำโครงการดื่มอย่างรับผิดชอบของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 5 บริษัท คือ การป้องกันการดื่มของกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตระหนักดีว่า การแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพ คือ ผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์จะต้องทำงานร่วมกันและมุ่งเน้นการทำการตลาดและการจำหน่ายอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนการให้การศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้บริโภค และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 5 บริษัท ในฐานะผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ในการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ว่า การแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์อย่างได้ผลที่สุด คือ ภาครัฐ องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) และผู้ประกอบกอบการแอลกอฮอล์ จะต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้น บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 5 บริษัทจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาแนวทางการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสมัครใจนี้จะเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้ง 5 บริษัทในการทำการตลาดอย่าง รับผิดชอบ และจะเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น