ปี’51 คนไทยทัวร์นอก : เงินไหลออก 1.25 แสนล้านบาท…เพิ่มขึ้น 12.6%

ตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาในปี 2551 ทั้งนี้ด้วยแรงเกื้อหนุนจากปัจจัยสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความร่วมมือของพันธมิตรทางธุรกิจจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ และการขยายการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ และค่าครองชีพที่สูงขึ้นของบางประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ และรัสเซีย ตลอดจนมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดของหลายประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศของไทยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักท่องเที่ยวคนไทยที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย

จำนวนคนไทยเที่ยวต่างประเทศปี 2551… โตกว่า 10 %
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
คาดการณ์ว่าในปี 2551 จะมีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศประมาณ 4.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จากปี 2550 ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนหลายประการ ดังนี้

-เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายต่างๆในต่างประเทศลดลงตาม จูงใจให้มีการท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

-การขยายเส้นทางบริการของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียเพื่อรองรับตลาดทัวร์ต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญที่เกื้อหนุนธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศในราคาประหยัดแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

-จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในประเทศบางแห่ง ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ และสมุย มีค่าใช้จ่ายสูงใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศระยะใกล้ อาทิ จีน มาเก๊า และเวียดนาม

-การแข่งขันในตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวในประเทศหลายรายที่ประสบปัญหาตลาดซบเซา และหันมาขยายตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศแทน ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศต่างปรับกลยุทธ์การตลาดด้วยการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ และพัฒนารายการนำเที่ยวในเส้นทางใหม่ๆเพิ่มความหลายหลายดึงดูดนักท่องเที่ยว

-เส้นทางคมนาคมทางบกที่สะดวกขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีนรวมทั้งจีน เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศพัฒนาแพ็กเกจเดินทางด้วยรถยนต์เพิ่มขึ้น (ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าแพ็กเกจเดินทางด้วยเครื่องบินมาก) ทำให้สามารถขยายตลาดที่มีกำลังซื้อระดับกลางได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

-การขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขายตรง และธุรกิจประกันเป็นตลาดรองรับที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวของตลาดกลุ่มบริษัท ห้างร้าน และหน่วยราชการ (มีการประชุมสัมมนาหรือเดินทางท่องเที่ยวสังสรรค์ประจำปี) ในปี 2551 หลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ

-บริษัทนำเที่ยวหลายรายร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ธุรกิจสายการบิน ธนาคารและค่ายบัตรเครดิตรายใหญ่ จัดแคมเปญกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งการขยายช่องทางการขายทัวร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขายและการจัดส่งเอกสารให้ลูกค้า และรองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ที่หันมานิยมจองแพ็กเกจทัวร์ทางอินเตอร์เน็ต (ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่า) กันมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

-การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 ในช่วงเดือนสิงหาคมมีแนวโน้มกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีคนไทยเดินทางไปประเทศจีนเพิ่มขึ้นในปี 2551 เพื่อร่วมชมพิธีเปิด-ปิดและการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกประเภทต่างๆ

-การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศของบรรดาประเทศในแถบเอเชีย โดยมีนักท่องเที่ยวคนไทยเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญ อาทิ มาเก๊าร่วมกับสายการบินไทยแอร์เอเชียจัดแคมเปญ “Experience Macau”,สิงคโปร์ร่วมกับสายการบินเจ็ทสตาร์จัดรายการส่งเสริมการขายท่องเที่ยวสิงคโปร์ช่วงวันหยุด “Uniquely Singapore Weekend”,ฮ่องกงจัดรายการ “Hong Kong Living Culture” ส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2551 ขณะที่มาเลเซียจัด 50 กิจกรรมท่องเที่ยวตลอดทั้งปีเพื่อร่วมงานฉลองเอกราช

ปี’51…นักท่องเที่ยวไทยช็อปปิ้งในต่างประเทศ 3.8 หมื่นล้านบาท
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายในด้านต่างๆของนักท่องเที่ยวคนไทยระหว่างที่พำนักท่องเที่ยวอยู่ในต่างประเทศในปี 2551 จะมีมูลค่าประมาณ 125,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 จากปี 2550

การใช้จ่ายในต่างประเทศของนักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 32.8 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 41,000 ล้านบาทเป็นค่าที่พัก รองลงมา คือ ร้อยละ 30.4 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาทเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว กระเป๋าและรองเท้า น้ำหอมและเครื่องสำอาง เครื่องไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีค่าอาหารและเครื่องดื่มในสัดส่วนร้อยละ 19.2 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านบาท ค่าบริการนำเที่ยวและค่าพาหนะเดินทางในต่างประเทศในสัดส่วนร้อยละ 10.4 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงต่างๆในสัดส่วนร้อยละ 4.8 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศของนักท่องเที่ยวคนไทยที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 38,000 ล้านบาท พบว่า ส่วนใหญ่คือ ประมาณเกือบร้อยละ 80 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ใช้จ่ายใน กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออก โดยมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในมาเลเซียมากอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ในจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ตามลำดับ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวคนไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 24,300 ล้านบาท

รองลงมา คือ ร้อยละ 13 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ใช้จ่ายใน กลุ่มประเทศแถบยุโรป โดยมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในอังกฤษมากอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ในเยอรมนีและฝรั่งเศส ตามลำดับ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวคนไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 3,100 ล้านบาท

ลาว เวียดนาม….แหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้านที่กำลังมาแรง
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวคนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยวมากอันดับหนึ่งคือ มาเลเซีย รองลงมาได้แก่ จีน ลาว สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเวียดนามตามลำดับ โดยมีคนไทยเดินทางเข้าไปยังประเทศเหล่านี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวคนไทยทั้งหมดที่เดินทางไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางเข้าไปยังประเทศซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในแถบเอเชียตะวันออกแล้วพบว่า นักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางเข้าไปยังลาวและเวียดนามเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงเกือบร้อยละ 40 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สองซึ่งเชื่อมระหว่างมุกดาหารและสะหวันนะเขตในช่วงปลายปี 2549 รวมทั้งเส้นทางคมนาคมทางบกที่สะดวกขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีนรวมทั้งจีน ประกอบกับบรรดาผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศพัฒนารายการนำเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านโดยรถยนต์ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเดินทางทางเครื่องบินมาก

มาเลเซีย เป็นอีกประเทศที่นักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปเที่ยวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงคือ ร้อยละ 25 ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งเสริมการขายในประเทศไทยโดยมุ่งตลาดแมสผ่านสื่อท้องถิ่น และการบริการของสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้แพ็กเกจทัวร์มีราคาค่อนข้างถูก

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางเข้าไปเที่ยวเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 15 ทั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมีนักท่องเที่ยวคนไทยเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวคนไทยใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสูงในอันดับต้นๆ

แหล่งท่องเที่ยวระยะไกล…คลายความนิยม
การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศต่างพยายามขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยมีตลาดลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เป็นเป้าหมายสำคัญ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่พิจารณาค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกปลายทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยราคาแพ็กเกจทัวร์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ราคาเฉลี่ยที่ 20,000 บาท รองลงมา คือ ราคาเฉลี่ยที่ 30,000-40,000 บาท ส่วนแพ็กเกจทัวร์ต่างประเทศที่มีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพ็กเกจทัวร์ระยะไกลในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือได้รับความนิยมลดลงจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนการเติบโตของการท่องเที่ยวระยะไกลในต่างประเทศ คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ มาตรการตรวจคนเข้าเมืองรวมทั้งขั้นตอนการขออนุมัติวีซ่าที่เข้มงวดมากขึ้นของบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป ส่งผลกระทบทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนเส้นทางท่องเที่ยวไปยังออสเตรเลีย และประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ยุโรปตะวันออก และยุโรปเหนือ

ขณะที่ค่าครองชีพและค่าเครื่องบินที่สูงขึ้นในหลายประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ และรัสเซีย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นมาก และส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวบางส่วนเปลี่ยนปลายทางเป้าหมายท่องเที่ยวไปยังประเทศอื่นที่มีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงหรือถูกกว่าแทน

อย่างไรก็ตาม สำหรับแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคนไทยกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูงคือ ประเทศในแถบยุโรป (เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส) และอเมริกาเหนือนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างปรับกลยุทธ์การตลาดโดยขายแพ็กเกจทัวร์ที่เน้นความคุ้มค่า และมุ่งขยายตลาดท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา และกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลเป็นพิเศษ เป็นต้น

อินเดียนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่กำลังมาแรงในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา

บทสรุป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า
ตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาในปี 2551 โดยคาดว่าจะมีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.1 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จากปี 2550 ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ช่วยเกื้อหนุน โดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การขยายการให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำ และการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นในตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศจากบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศที่ต่างมุ่งขยายฐานตลาดลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับกลาง

การใช้จ่ายในต่างประเทศของนักท่องเที่ยวคนไทยในปี 2551 มีแนวโน้มก่อให้เกิดเงินไหลออกนอกประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 125,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 จากปี 2550 เม็ดเงินส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 32.8 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 41,000 ล้านบาทเป็นค่าที่พัก รองลงมาคือ ร้อยละ 30.4 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศ โดยค่าใช้จ่ายที่ซื้อสินค้าในต่างประเทศส่วนใหญ่คือ เกือบร้อยละ 80 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาทเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออก รองลงมาคือ ร้อยละ 13 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาทเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในกลุ่มประเทศแถบยุโรป

แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชียตะวันออกยังคงได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวคนไทย โดยมีลาว เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นปลายทางท่องเที่ยวที่มีคนไทยเดินทางไปเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวระยะไกลในยุโรปและอเมริกาเหนือได้รับความนิยมลดลง คงมีเฉพาะตลาดผู้มีกำลังซื้อสูงที่ยังคงนิยมเดินทางไปเที่ยวเป็นประจำ