ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ … ตอกย้ำภาวะเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (Standard & Poor’s: S&P) และ ฟิทช์ เรทติงส์ (Fitch Ratings) ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ ‘เชิงลบ’ จากเดิม ‘มีเสถียรภาพ’ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยสถาบันสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศทั้ง 2 แห่งได้ให้น้ำหนักไปที่ผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งอาจกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศได้ในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับประวัติการจัดระดับเครดิตของประเทศไทย และผลกระทบพอสังเขปที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ดังนี้ :-

การปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยรอบล่าสุด
ปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ และเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้ง S&P และ Fitch ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลง

วันที่ 1 ธันวาคม 2551 Standard & Poor’s (S&P) ได้ประกาศทบทวนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงสู่ ‘เชิงลบ’ จากเดิม ‘มีเสถียรภาพ’ อย่างไรก็ตาม S&P ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Credit Ratings) และสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินในประเทศ (Local Currency Credit Ratings) ไว้ที่ระดับเดิม ‘BBB+/A-2’ และ ‘A/A-1’ ตามลำดับ โดย S&P มองว่า การยึดครองสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งในกรุงเทพฯ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลนั้น ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ซึ่งได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงจะลุกลามออกไปอย่างเห็นได้ชัด และพัฒนาการเหล่านี้อาจย้อนกลับไปสร้างแรงกดดันในทางลบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นไปจากผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

วันที่ 1 ธันวาคม 2551 Fitch Ratings (Fitch) ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยเป็น ‘เชิงลบ’ จากแนวโน้ม ‘มีเสถียรภาพ’ แต่ยังคงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-term Local Currency IDR) ของประเทศไทยไว้ระดับเดิมที่ “BBB+” และ “A” ตามลำดับ โดย Fitch มองว่า ปัญหาทางการเมืองที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถยุติลงโดยเร็วนั้น อาจส่งผลบั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

ย้อนรอยการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยโดยสังเขป
ประเทศไทยต้องเผชิญกับระลอกของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งในวิกฤตครั้งนั้น อันดับเครดิตระยะสั้นและระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยได้ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอันดับเครดิตระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของไทยได้รับผลกระทบจากประเด็นเรื่องหนี้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งสวนทางกับมูลค่าของการส่งออกที่เริ่มลดลง ปัญหาสภาพคล่องต่างประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มไม่มีเสถียรภาพ ขณะที่อันดับเครดิตระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยได้รับผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ได้ถดถอยลง การเพิ่มสูงขึ้นของหนี้เสียในสถาบันการเงิน ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน และระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ขาดความยืดหยุ่นซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยการปรับลดอันดับเครดิตของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งมีรายละเอียดดังนี้

Moody’s Investors Service (Moody’s) เริ่มต้นประกาศลดอันดับเครดิตระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของไทยจากระดับ ‘Prime-1’ เป็น ‘Prime-2’ ในเดือนกันยายน 2539 และตามมาด้วยการปรับลดอันดับเครดิตระยะสั้นอีก 2 ครั้ง ในเดือนตุลาคม และธันวาคม 2540 ลงเป็น ‘Not Prime’ ในที่สุด นอกจากนี้ Moody’s ก็ยังได้ปรับลดเครดิตระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยจากระดับ ‘A2’ ลงสู่ระดับ ‘A3’ ในเดือนเมษายน 2540 และตามมาด้วยการปรับลดอันดับเครดิตระยะยาวอีก 3 ครั้งลงสู่ระดับ ‘Ba1’ ในเดือนธันวาคม 2540 ซึ่งต่ำกว่าระดับเครดิตสำหรับการลงทุน (Below Investment Grade) ซึ่งก็คือ ระดับเครดิตสำหรับการลงทุนแบบเก็งกำไร (Speculative Grade)

Standard & Poor’s (S&P) เริ่มประกาศปรับลดอันดับเครดิตระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของไทยลงจากระดับ ‘A-1’ สู่ระดับ ‘A-3’ ในเดือนตุลาคม 2540 ขณะที่ อันดับเครดิตระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ ถูกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2540 จาก ‘A’ เป็น ‘A-’ ก่อนจะถูกปรับลดลงมาอีก 2 ครั้งสู่ระดับ ‘BBB-’ ในเดือนมกราคม 2541

Fitch Ratings (Fitch) ได้จัดอันดับเครดิตระยะสั้นของไทยเป็นครั้งแรกไว้ที่ ‘B’ ในเดือนพฤษภาคม 2541 แต่เนื่องจากปัญหาหนี้ระยะสั้น และวิกฤตต้มยำกุ้งที่ลามออกไปทั้งภูมิภาค Fitch จึงให้แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็น ‘เชิงลบ’ ขณะที่ อันดับเครดิตระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ ถูกกำหนดไว้ครั้งแรกที่ระดับ ‘BB+’ ซึ่งต่ำกว่าระดับเครดิตสำหรับการลงทุน โดยมีแนวโน้ม ‘เชิงลบ’ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เศรษฐกิจไทยได้ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศและฐานะการคลังได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากพร้อมๆ กับเสถียรภาพทางการเมือง ก็ได้ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศหลายแห่งทำการปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตทั้งระยะสั้นและระยะยาวของไทยในช่วงปี 2542 และตามมาด้วยระลอกของการปรับเพิ่มอันดับเครดิตตั้งแต่ในช่วงปี 2546 โดยในปัจจุบัน S&P จัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศของไทยไว้ที่ระดับ ‘BBB+/A-2’ ขณะที่ Moody’s และ Fitch จัดอันดับไว้ที่ ‘Baa1/P-2’ และ ‘BBB+/F2’ ตามลำดับ

อันดับความน่าเชื่อถือของไทยในปัจจุบัน vs. วิกฤตต้มยำกุ้ง … ความเหมือนที่แตกต่าง
ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางการเมือง เป็น 2 ประเด็นหลักที่มีความสำคัญต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ สำหรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจนั้น จะพิจารณาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัวประกอบกัน อาทิ ภาระหนี้ สภาพคล่องระหว่างประเทศ ความสามารถในการปรับปรุงดุลการเงิน โครงสร้างของเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการบริหารเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจ ขณะที่ ความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบของปัจจัยทางการเมืองและสังคมที่มีต่อความสามารถในการหาเงินตราต่างประเทศและต่อความประสงค์ของรัฐบาลในการชำระหนี้ จะถูกพิจารณาจาก ระบบการเมือง สภาพแวดล้อมทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยทางการเมืองเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในรอบนี้มีความแตกต่างไปจากวิกฤตต้มยำกุ้งในรอบก่อนหน้า เนื่องจากในรอบวิกฤตต้มยำกุ้งนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศทำการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศของไทย คือ ปัญหาในภาคสถาบันการเงินของไทย ซึ่งประกอบเข้ากับความอ่อนแอของภาคต่างประเทศ (ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน ตลอดจนการทะยานขึ้นอย่างมากของหนี้ระยะสั้น) ขณะที่ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเพียงปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในรอบนี้นั้น มีสาเหตุหลักมาจาก ความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในประเทศ ซึ่งได้เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมา ซึ่งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองนั้นอาจกลายเป็นประเด็นหลักที่ทำให้พื้นฐานทางเครดิตของประเทศถดถอยลง พร้อมๆ ไปกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในระยะถัดไป โดยเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในระยะถัดไป คือ ฐานะของภาคต่างประเทศ (การส่งออก ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงิน) การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ตลอดจนฐานะทางการคลังของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าเครื่องชี้เหล่านี้จะยังไม่ส่งสัญญาณของปัญหาออกมาในเวลานี้ แต่สภาวะแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ก็อาจทำให้ความอ่อนแอของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจเหล่านี้เริ่มปรากฎเด่นชัดมากขึ้นในระยะถัดไป

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากจะต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลก เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งได้กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน พร้อมๆ ไปกับพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ ซึ่งในเวลานี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศต่างก็จับตาดูพัฒนาการของปัญหาทางการเมืองของไทยเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและ/หรือบานปลายนั้น อาจส่งผลต่อเนื่องทำให้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงขยายออกไปในวงกว้าง ซึ่งนั้นก็จะทำให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อท่ามกลางแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก อาจทำให้ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทยต้องรับมือกับโจทย์หนักจากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมและหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแนวโน้มการชะลอตัวของภาคส่งออกและความผันผวนของตลาดการเงิน ในขณะที่ โจทย์หนักจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศนั้น อาจส่งผลทำให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทยขาดประสิทธิผลที่ชัดเจน เมื่อประเด็นเรื่อง “ความเสี่ยงทางการเมือง” อาจกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่กำหนด “ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย” โดยความต่อเนื่องของนโยบายการคลังอาจต้องประสบกับภาวะชะงักงัน เนื่องจากแม้ว่ารัฐบาลอาจจำต้องแบกรับภาระการขาดดุลการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเพื่อดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็อาจยังประสบกับปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณหากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังคงไม่นิ่ง ในขณะที่ กลไกการส่งผ่านผลของสภาวะที่ผ่อนคลายของนโยบายการเงินอาจไม่สามารถแผ่ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเท่าที่ควร เนื่องจากสถาบันการเงินต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากความเสี่ยงในการปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินยังมีต้นทุนจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษและตราสารทางการเงินเพื่อระดมสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ การระดมสภาพคล่องเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในภาวะความเสี่ยงสูงเช่นปัจจุบัน อาจทำให้เป็นการยากที่สถาบันการเงินจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยจำต้องตกเข้าสู่ภาวะที่ซบเซายาวนาน ซึ่งนั่นก็ย่อมจะหมายถึงโจทย์ที่หนักมากยิ่งขึ้นของทางการไทยในระยะต่อไป