ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปตอกย้ำความแข็งแกร่ง ปี 51 เติบโตทุกด้าน

บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป แถลงผลประกอบการหลังเป็นโฮลดิ้งของกลุ่มแทนธนาคารทิสโก้สำเร็จ แจงผลงานปี 51 เติบโตทุกด้านท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ สะท้อนความแข็งแกร่ง โชว์กำไรสุทธิ 1,721 ลบ. โต 4.2% เงินฝากทุกประเภทโตก้าวกระโดด 46.9% ด้านสินเชื่อเช่าซื้อโตต่อเนื่อง 19.5% เผยแผนงานปี 52 รุกฐานลูกค้ารายย่อยทั้งเงินฝากและลีสซิ่ง พร้อมย้ำการตั้งบ. โฮลดิ้งจะสามารถนำนโยบายกำกับแบบรวมกลุ่มมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ แถลงข่าวเปิดเผยถึงความสำเร็จในการจัดตั้ง บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เพื่อเป็นบริษัทแม่แทนธนาคารทิสโก้ ว่าบริษัททำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ธนาคารเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ 9 ม.ค. 52 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผู้แสดงความจำนงแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ของธนาคารสูงถึง 99.51% ของหลักทรัพย์ทั้งหมด ส่งผลให้ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 52 เป็นต้นมา ผลประกอบการของกลุ่มทิสโก้จึงรวมอยู่ในบริษัทแห่งใหม่นี้

โดยผลประกอบการปี 2551 (1 ม.ค. -31 ธ.ค. 51) กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิจำนวน 1,720.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากปี 2550 ที่อยู่ที่ 1,651.18 ล้านบาท โดยสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่น่าพอใจท่ามกลางความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนอันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 โดยยังสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

ทางด้านนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการอำนวยการ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงรายละเอียดของผลการดำเนินงานในปี 2551 ว่ากลุ่มทิสโก้มีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจำนวน 4,161.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% ส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลมีจำนวน 7,585.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,424.19 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9%

ทั้งนี้ กลุ่มทิสโก้สามารถเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อจาก 3.5% เป็น 3.7% ได้จากความสามารถในการบริหารสัดส่วนของสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย โดยกลุ่มทิสโก้มีกลยุทธ์ในการขยายตัวในธุรกิจสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี ในขณะที่ต้นทุนเงินทุนลดลงจากการขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยด้วยการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้า

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักอยู่ที่ 2,352.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% ประกอบด้วยการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจสินเชื่อจำนวน 171.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.6% รายได้จากธุรกิจประกันชีวิตธนกิจเพิ่มขึ้นจำนวน 121.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% รายได้ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่มขึ้น 30.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.4% และรายได้จากธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 10.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 106.13 ล้านบาท ลดลง 16.9% ตามภาวการณ์ลงทุนที่ซบเซา

ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้ในปี 2551 มีจำนวน 103,109.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% โดยสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้แบ่งออกเป็น สินเชื่อรายย่อย 78,993.14 ล้านบาท (สัดส่วน 62.6%) เพิ่มขึ้น 18.7%, สินเชื่อธุรกิจ 19,488.07 ล้านบาท (สัดส่วน 15.4%) เพิ่มขึ้น 24.8%, และสินเชื่ออื่นๆ 4,628.50 ล้านบาท (สัดส่วน 3.7%) เพิ่มขึ้น 9.4%

โดยสินเชื่อรายย่อยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งคิดเป็น 97.8% ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด โดยสินเชื่อเช่าซื้อมีจำนวน 77,287.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่อนุมัติใหม่มีจำนวน 41,448.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.0% ส่วนยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศงวด 11 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 555,078 คัน ลดลง 2.1% ส่งผลให้อัตราปริมาณการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของกลุ่มทิสโก้ ต่อปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ใหม่เฉลี่ย (Penetration Rate) ใน 11 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 10.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่อยู่ที่ 9.4%

สำหรับเงินฝากในปี 2551 มีจำนวน 100,591.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 46.9% ในจำนวนนี้เป็นเงินฝากประเภทกระแสรายวัน 6,414.46 ล้านบาท สัดส่วน 6.4%, เงินฝากออมทรัพย์ 5,140.40 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.1%, เงินฝากประจำ 4,043.74 สัดส่วน 4.0%, บัตรเงินฝาก 43,221.62 ล้านบาท สัดส่วน 43.0% และเงินกู้ยืมระยะสั้น 41,768.42 ล้านบาท สัดส่วน 41.5%

“เงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น โดยออมทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 138.2% และกระแสรายวันเพิ่มขึ้นถึง 207.0% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวเป็นผลจากการที่ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากทั้ง 2 ชนิดในรูปแบบที่หลากหลาย ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีเงินฝากรวมทั้งหมดประมาณ 100,000 บัญชี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”

โดยในปี 2551 ธนาคารทิสโก้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย โดยได้ออกบัตรทิสโก้เพิร์ส ซึ่งเป็นทั้งบัตรเอทีเอ็มและบัตรสมาร์ทเพิร์สในใบเดียว และยังได้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ได้แก่ e-Money ATM หรือ e-TM เครื่องให้บริการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ทั้งฝาก-ถอน-โอน-จ่าย อย่างสมบูรณ์เป็นรายแรก ซึ่งทั้งบัตรทิสโก้เพิร์ส และเครื่อง e-TM ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ธนาคารพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ทิสโก้ยังออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกมากมายในปี 2551 อาทิ เงินฝากออมทรัพย์ซูเปอร์เซฟวิ่งส์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำ, TIP Savings เงินฝากออมทรัพย์พ่วงความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุ, เงินฝากประจำคุ้มครองสุขภาพ, เงินฝากประจำพิเศษ 8 เดือน, เงินฝาก Auto Savings และ Down Payment Savings เปลี่ยนเงินดาวน์รถเป็นบัญชีเงินฝากสำหรับลูกค้าเช่าซื้อ เป็นต้น

สำหรับการบริหารความเสี่ยง นางอรนุชกล่าวว่า กลุ่มทิสโก้มีการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL อย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้อัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาจาก 4.3% จากสิ้นปี 2550 มาอยู่ที่เพียง 2.9% โดย NPL ทั้งหมดมีจำนวน 2,984.42 ล้านบาท ลดลง 20.4% ซึ่งสัดส่วน NPL ที่ 2.9% นี้ถือว่าต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม

“โดยเราใช้วิธีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ Basel II ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานบัญชี IAS39 โดยจะตั้งสำรองตามค่าประมาณการสูญเสีย ไม่ใช่ตั้งสำรองตามความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสะท้อนให้เห็นนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสี่ยง”

ทั้งนี้ เงินกองทุนของกลุ่มทิสโก้ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 11,535.60 ล้านบาท โดยฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ณ ไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ 9.90% และขึ้นมาอยู่ที่ 11.75% ณ สิ้นปี 2551 ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเงินให้สินเชื่อ

“ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากที่เราออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิในวงเงิน 2,000 ล้านบาทไปเมื่อต้นเดือน ม.ค. 52 จะทำให้ BIS Ratio เพิ่มขึ้นมากกว่า 2% โดยอยู่ที่ประมาณ 13-14%”

ทางด้านนายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล กรรมการอำนวย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารคนใหม่ กล่าวภายหลังเข้ารับตำแหน่งหลังจากการตั้งบริษัทโฮลดิ้งเป็นผลสำเร็จว่า ในส่วนของกลยุทธ์ของธนาคารทิสโก้ในปี 2552 จะยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าเงินฝากที่เป็นลูกค้ารายย่อยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังจะรุกธุรกิจที่กลุ่มทิสโก้มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ธุรกิจเช่าซื้อ“

สำหรับบัญชีเงินฝากเราตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 บัญชี และมีแผนที่จะขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในจำนวนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยเน้นพื้นที่ในเขตกรุงเทพปริมณฑล จากปัจจุบันที่มีสาขาจำนวนทั้งสิ้น 34 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพ 12 แห่’และต่างจังหวัด 22 แห่ง โดยเราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างทั่วถึง ตามเป้าหมายดังกล่าว

ในส่วนของธุรกิจลีสซิ่งเราก็ได้ทำแล้วคือการเข้าไปซื้อธุรกิจลีสซิ่งจากกลุ่มฟอร์ด และการเข้าซื้อหุ้น 49% ในบริษัทโตเกียว ลีสซิ่ง (ไทยแลนด์) โดยใช้ชื่อใหม่คือ ทิสโก้ โตเกียว ลีสซิ่ง ซึ่งธุรกิจลีสซิ่งทั้งสองก็คงมีผลงานออกมาให้เห็นในปีนี้” นายสุทัศน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายปลิว กล่าวสรุปว่า จากภาพรวมในปี 2551 ที่ผ่านมา กลุ่มทิสโก้มีการเติบโตในเกือบทุกด้าน สำหรับปี 2552 จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นปีที่ดีของกลุ่มทิสโก้ โดยผลงานที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินธุรกิจที่ระมัดระวัง คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นแนวทางกำกับดูแลกิจการตามหลักบรรษัทภิบาล ที่กลุ่มทิสโก้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด

“สำหรับปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราตั้งบริษัทโฮลดิ้งแทนธนาคารทิสโก้ ซึ่งทำให้เราสามารถนำนโยบายการกำกับแบบรวมกลุ่มมาปฏิบัติให้มีความชัดเจนมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างใหม่นี้จึงเชื่อว่าจะสนับสนุนให้กลุ่มทิสโก้เป็นสถาบันการเงินที่มีความเข้มแข็ง และมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายปลิว กล่าว