เทศกาลตรุษจีนปี 52 : คนกรุงฯใช้จ่ายเม็ดเงินสะพัด 19,000 ล้านบาท

เทศกาลตรุษจีนนับว่าเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่บรรดาผู้ประกอบการรอคอย เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินสะพัดในการจับจ่ายของบรรดาคนไทยเชื้อสายจีน และบรรดาลูกจ้างของร้านค้า/สถานประกอบการที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายจีน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี’52ของคนกรุงเทพฯ” โดยในปีนี้ได้ทำการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 9-16 มกราคม 2552 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 458 คน เน้นสัมภาษณ์เฉพาะ “ตัวแทนของครอบครัว”ที่ไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ทั้งนี้เพื่อทราบถึงแนวโน้มของพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมสำคัญๆในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ของคนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ และกระแสการสะพัดของเม็ดเงินจากการจับจ่ายในด้านต่างๆช่วงเทศกาลตรุษจีนไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยชาวไทยเชื้อสายจีนมีกิจกรรมหลักๆในช่วงเทศกาลตรุษจีนคือ การซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การแจกอั่งเปา การมีกิจกรรมต่างๆในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโปรแกรมยอดนิยมคือ การไหว้พระตามศาลเจ้า/วัดต่างๆ การรับประทานอาหารนอกบ้าน การออกไปจับจ่ายซื้อของตามห้างสรรพสินค้า โดยกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ประมาณ 19,000 ล้านบาท เทียบกับเทศกาลตรุษจีนในปี 2551 แล้วลดลงร้อยละ 1.6 ทั้งนี้เนื่องจากการแจกอั่งเปาซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่สร้างเม็ดเงินสะพัดลดลงเหลือเพียง 7,400 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับตรุษจีนปีที่ผ่านมา ในขณะที่การจับจ่ายซื้อเครื่องเซ่นไหว้เพิ่มขึ้นเป็น 4,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ การท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ และการท่องเที่ยวแบบค้างคืนมีแนวโน้มสร้างเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ส่วนการไปท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงตรุษจีนสร้างเม็ดเงินเพียง 1,500 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับในช่วงตรุษจีนปีที่ผ่านมา

ตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ : เม็ดเงินสะพัดในกทม. 4,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2%
จากการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี’52ของคนกรุงเทพฯ” ในปี 2552 นี้ราคาสินค้าต่างๆที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ยังอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตาม การไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นถือเป็นประเพณี และเป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับทำมาค้าขายคล่อง ตลอดจนโชคลาภ ดังนั้น ชาวไทยเชื้อสายจีนก็ยังต้องซื้อเครื่องเซ่นไหว้ แต่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละ 60.0 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ โดยกลุ่มนี้ ร้อยละ 48.4 คาดว่าจะปรับลด/ควบคุมงบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ร้อยละ 34.2 ปรับลด/ควบคุมปริมาณของเซ่นไหว้ ร้อยละ 13.2 เลือกชนิดของไหว้ และร้อยละ 4.2 เลือกประเภทของเซ่นไหว้ บางรายการที่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีโดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเป็นหลัก

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องตลาดเครื่องเซ่นไหว้ คือ งบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปี 2552 นี้ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 57.5 ตั้งงบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้เท่ากับปีที่แล้ว ส่วนร้อยละ 29.9 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว และมีคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องเซ่นไหว้เพียงร้อยละ 12.6 ที่ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 3,300 บาท เมื่อคำนวณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้โดยรวมของคนกรุงเทพฯที่มีเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 นี้คาดว่าจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,700 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2

แจกอั่งเปา : เม็ดเงินสะพัด 7,400 ล้านบาท…ลดลง 5.1%
อั่งเปาหรือเงินก้นถุง ซึ่งปกติผู้ใหญ่จะให้แก่บุตรหลานตามธรรมเนียมหลังการรับประทานอาหารร่วมกันในหมู่ญาติพี่น้อง ต่อมาภายหลังยังรวมถึงเงินที่ลูกหลานให้แก่ญาติผู้ใหญ่ในเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งเงินพิเศษที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือโบนัสที่บริษัทห้างร้านจ่ายแก่พนักงาน โดยแต่เดิมที่ทองรูปพรรณยังมีราคาไม่สูง การแจกอั่งเปานิยมให้เป็นทองรูปพรรณ อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาทองเพิ่มสูงขึ้นมากและภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย การแจกอั่งเปาส่วนใหญ่จึงนิยมให้เป็นเงินสด ผู้รับอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีนส่วนใหญ่คือกว่าร้อยละ 60 เป็นบุตรหลานที่ยังไม่ทำงาน รองลงมาคือญาติผู้ใหญ่ และลูกจ้างหรือพนักงาน ตามลำดับ ประเด็นที่น่าสนใจที่พบในการสำรวจครั้งนี้ คือ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 58.7 ปรับการแจกอั่งเปา เนื่องจากคาดการณ์ว่ารายได้จะลดลง และต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย

การตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนปี 2552 นี้ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.1 ตั้งงบประมาณเท่ากับปีที่แล้ว ร้อยละ 11.6 ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และร้อยละ 36.3 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจที่สำรวจพบคือ จำนวนบุตรหลานที่จะแจกอั่งเปา และราคาทองรูปพรรณจะยังคงใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา แต่ผู้แจกอั่งเปาบางส่วนอาจจะลดจำนวนเงินหรือน้ำหนักทองลงเล็กน้อย กล่าวคือ ในปี 2552 น้ำหนักทองรูปพรรณที่เป็นอั่งเปาจะอยู่ที่ 1 สลึง และ 2 สลึง ในขณะที่ในปีที่ผ่านมาน้ำหนักทองรูปพรรณที่เป็นอั่งเปาจะอยู่ที่ 50 สตางค์และ 1บาท สำหรับในส่วนที่ลดลงคือ การแจกอั่งเปาลูกจ้างที่เปลี่ยนจากการแจกทองมาเป็นการให้เงินสด หรือลดจำนวนเงินที่ให้ลง
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะแจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนปี 2552 นี้ตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปา(รวมทั้งเงินสดและทองรูปพรรณ)อยู่ที่เฉลี่ยคนละ 5,800 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านอั่งเปาเฉลี่ยคนละ 6,000 บาท ทำให้โดยรวมแล้วมีเม็ดเงินอั่งเปาสะพัดในกรุงเทพฯประมาณ 7,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเม็ดเงินสะพัดจากการแจกอั่งเปาในปี 2551 ที่มีประมาณ 7,800 ล้านบาท แล้วลดลงร้อยละ 5.1

กิจกรรมในกทม.ช่วงเทศกาลตรุษจีน : สร้างเม็ดเงินสะพัด 1,900 ล้านบาท
วันเที่ยวในเทศกาลตรุษจีนปีนี้คือ วันที่ 26 มกราคม 2552 คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.8 เลือกที่จะพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และร้อยละ 21.2 เลือกที่จะมีกิจกรรมนอกบ้านแต่อยู่ในกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ เนื่องจากวันเที่ยวในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันทำงานปกติและเป็นวันแรกของสัปดาห์ รวมทั้งในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้พฤติกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีนของบรรดาคนไทยเชื้อสายจีน และลูกจ้างของร้านค้าที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยบรรดาร้านค้าบางร้านเลือกหยุดเพียง 1-2 วัน เท่านั้น และเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่างๆโดยเน้นประหยัด จากการสำรวจพบว่า กิจกรรมยอดฮิตในช่วงตรุษจีนของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ อันดับหนึ่งร้อยละ 39.3 ของกลุ่มตัวอย่าง คือ การไหว้พระตามศาลเจ้า/วัดต่างๆในกรุงเทพฯ โดยสถานที่ยอดนิยมได้แก่ วัดมังกรกมลาวาส วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศาลเจ้าพ่อเสือ วัดสระเกษ วัดกัลยาณมิตร วัดไตรมิตร วัดหัวลำโพง ศาลหลักเมือง เป็นต้น กิจกรรมยอดนิยมอันดับรองลงมา คือ ร้อยละ 31.4 รับประทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 17.6 เดินเล่น/ช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า และร้อยละ 8.2 เลือกไปเที่ยวสวนสัตว์/สวนสนุก

งบประมาณสำหรับกิจกรรมนอกบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้อยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณคนละ 1,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากคาดว่าจำนวนคนที่จะทำกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,900 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และสวนสนุก เป็นต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 1,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6

คนกรุงฯเที่ยวในประเทศ : เม็ดเงินสะพัด 3,500 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจที่กระทบต่อกิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ คือ วันเที่ยวตรงกับวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2552 ทำให้ไม่สะดวกที่จะต้องหยุดงานเพื่อไปท่องเที่ยว กอปรกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้เกิดความกังวลที่ต้องประหยัด และความวิตกว่าจะถูกปลดออกจากงาน รวมทั้งยังเป็นช่วงที่สถานประกอบการบางแห่งยังไม่จ่ายเงินเดือน และเป็นช่วงเพิ่งผ่านเทศกาลปีใหม่ ทำให้คนกรุงเทพฯบางส่วนตัดสินใจเลื่อนการท่องเที่ยวไปช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ บรรดาร้านค้าจะปิดร้านเพียง 1-3 วันเท่านั้น จากที่ในช่วงเศรษฐกิจดีอาจจะหยุดยาวเป็น 1 สัปดาห์ คาดการณ์ว่าการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนนั้นเป็นเทศกาลที่บรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวทั้งในลักษณะเช้าไปเย็นกลับและค้างคืน ทั้งนี้เพื่อถือโอกาสในการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญด้วย จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะเดินทางไปเที่ยวในประเทศในช่วงตรุษจีนมีสัดส่วนร้อยละ 21.2 แบ่งออกเป็น

-ผู้ที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ โดยการเดินทางไปต่างจังหวัดแบบเช้าไปเย็นกลับในช่วงตรุษจีน แหล่งท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนิยมเดินทางไปในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 นี้ ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่สูงมากนัก แหล่งท่องเที่ยวในประเทศแบบเช้าไปเย็นกลับยอดนิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล เช่น พัทยา บางแสน ชะอำ และหัวหิน แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีวัดที่มีชื่อเสียง ได้แก่ นครปฐม(พระปฐมเจดีย์ และวัดไร่ขิง) สุพรรณบุรี(วัดไผ่ล้อม) พระนครศรีอยุธยา(วัดมงคลบพิธ วัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล) สระบุรี(วัดพระพุทธบาท) ฉะเชิงเทรา (วัดโสธรวรารามวรวิหาร) เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะตลาดที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำวัดดอนหวาย ตลาดร้อยปีอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

-ผู้ที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดแบบค้างคืน เดินทางไปเที่ยวแบบค้างคืน โดยต่างมีโปรแกรมแวะทำบุญไหว้พระตามวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีการจัดงานฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต นครสวรรค์ หาดใหญ่ อุดรธานี เป็นต้น โดยส่วนใหญ่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นการขับรถไปเที่ยวกันเอง อย่างไรก็ตาม บางกลุ่มก็ยังนิยมใช้บริการบริษัทนำเที่ยว โดยโปรแกรมท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีนคือ การไหว้พระ 9 วัด

คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงตรุษจีนเฉลี่ยคนละ 4,487 บาท ซึ่งลักษณะพิเศษของการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน คือ ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนใกล้เคียงกับผู้ที่ท่องเที่ยวแบบค้างคืน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ คาดว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 ของคนกรุงเทพฯก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 3,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเม็ดเงินสะพัด 3,300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เนื่องจากคาดว่าจำนวนคนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่นักเดินทางท่องเที่ยวก็ยังใช้นโยบายท่องเที่ยวแบบประหยัด

ทัวร์นอกช่วงตรุษจีน…คึกคัก : เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ 1,500 ล้านบาท
การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 นี้ มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ทั้งจำนวนคนที่เดินทาง และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากการที่บรรดาบริษัทท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจัดการส่งเสริมการขายโดยเน้นการลดราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว คนที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน ประกอบด้วยบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว และกลุ่มคนที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ เนื่องจากเลื่อนการเดินทางมาจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ช่วงตรุษจีนจะมาถึงค่อนข้างเร็วและใกล้กับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านมา ทำให้มีกลุ่มตัวอย่างบางกลุ่มยังไม่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงตรุษจีน แต่จะรอไปเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวอีกครั้งหนึ่ง

แหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในช่วงตรุษจีนเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชีย ได้แก่ จีน มาเก๊า ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีนนั้นนับว่าได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากค่าใช้จ่ายจะไม่แพงมากนักแล้ว ยังเป็นโอกาสของการได้ไปเยี่ยมญาติและจับจ่ายซื้อของหรือช็อปปิ้งอีกด้วย นอกจากนี้ ลาวและเวียดนามก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยเช่นกัน งบประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงตรุษจีนอยู่ที่เฉลี่ยประมาณคนละ 31,250 บาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางที่ต้องการจะไปท่องเที่ยว และจำนวนวันที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว การท่องเที่ยวต่างประเทศก่อให้เกิดการรั่วไหลของเงินตราออกนอกประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา

สรุป
การร่วมกิจกรรมสำคัญในเทศกาลตรุษจีนปี 2552 มีแนวโน้มคึกคัก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก แต่เนื่องจากเป็นประเพณีความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษเพื่อรับกับปีใหม่ โดยเฉพาะเพื่อให้การค้าในปีใหม่เจริญรุ่งเรือง และรับโชคลาภในปีใหม่ ดังนั้น คนไทยเชื้อสายจีนที่ยังยึดถือประเพณีการไหว้เจ้าก็ยังคงมีการไหว้เจ้าในช่วงตรุษจีนต่อไป และแม้ว่าเครื่องเซ่นรวมทั้งของไหว้อื่นๆจะมีราคาแพงขึ้น แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนก็ยังคงออกไปซื้อหาเครื่องเซ่นและของไหว้อยู่ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้และการจับจ่ายในวันเที่ยวยังเน้นการใช้จ่ายอย่างประหยัด ส่งผลให้การใช้จ่ายในด้านต่างๆโดยรวมในเทศกาลตรุษจีนปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย ในขณะที่เม็ดเงินสะพัดในการแจกอั่งเปามีแนวโน้มลดลง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี’52ของคนกรุงเทพฯ” พบว่าเทศกาลตรุษจีนในกรุงเทพฯก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 19,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วลดลงร้อยละ 1.6 โดยแยกเป็นการซื้อสินค้าเพื่อจัดเครื่องเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้มีมูลค่าประมาณ 4,700 ล้านบาท ขณะที่การแจกอั่งเปามีมูลค่ารวมประมาณ 7,400 ล้านบาท และการใช้จ่ายด้านกิจกรรมนอกบ้านสำหรับคนกรุงฯที่อยู่ในกรุงเทพฯช่วงตรุษจีนมีมูลค่าประมาณ 1,900 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาท และการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงตรุษจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทั้งประเทศในปี 2552 น่าจะอยู่ในระดับประมาณ 32,000-38,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากเม็ดเงินสะพัดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นผู้กระจายเม็ดเงินให้สะพัดประมาณร้อยละ 50-60 ของปริมาณเม็ดเงินสะพัดทั้งประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีน