ธุรกิจบัตรเครดิตปีกระต่าย: แข่งขันเข้มข้น…เพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมบัตรเครดิต

ตลาดบัตรเครดิตเริ่มกลับมามีสีสันมากขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้ประกอบการต่างเริ่มออกแคมเปญเพื่อขยายฐานบัตรเครดิตและกระตุ้นปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยจะเห็นได้จากที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ในตลาดได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2554 ไว้ที่ตัวเลขไม่ต่ำกว่า 2 หลัก โดยเฉพาะเป้าหมายการขยายฐานการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทำให้ในปีนี้ผู้บริโภคคงจะเห็นแคมเปญการตลาดที่เข้มข้นและกลยุทธ์การจูงใจให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตนที่หลากหลายมากขึ้น และเนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อรายได้และความมั่นคงทางการงานในระยะข้างหน้า ทำให้ผู้บริโภคกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งในและนอกประเทศขยายตัวได้ดีในปีนี้
อย่างไรก็ดี แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2554 ยังมีปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางธุรกิจ อาทิ เสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการเมือง รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้าที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภคบางกลุ่ม นอกจากนี้การแข่งขันทางธุรกิจที่มีความรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องโหมทำแคมเปญการตลาดอย่างหนัก ซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้นตาม ดังนั้น การทำธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่รอบด้านมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของตลาดบัตรเครดิต สภาวะการแข่งขันและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่จะมีผลต่อธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2554 ดังนี้

ธุรกิจบัตรเครดิตปีกระต่าย: ผู้ประกอบการแข่งขันรุนแรง…ทั้งฐานบัตรใหม่และการใช้จ่ายผ่านบัตร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดบัตรเครดิตในปี 2554 นี้ น่าจะกลับมาเติบโตในระดับศักยภาพได้อีกครั้ง แม้ว่าธุรกิจบัตรเครดิตไทยจะเข้าสู่ภาวะการเติบโตที่เต็มที่แล้วก็ตาม (Maturity Stage) แต่การดำเนินธุรกิจยังคงต้องดำเนินต่อไป โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดบัตรเครดิตของไทยยังมีช่องทางการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต ที่นอกจากจะเน้นการทำธุรกรรมไปยังการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในชีวิตประจำวันเป็นหลักแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตยังสามารถที่จะกระจายไปยังการทำธุรกรรมระหว่างภาครัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และประชาชน เช่น การชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ การชำระภาษี และค่าบริการต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้การทำธุรกรรมบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การซื้อสินค้าบนเว็บไซต์โดยชำระผ่านบัตรเครดิตยังคงเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตที่สูงได้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี การโปรโมทกระตุ้นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตให้เพิ่มขึ้นนั้น จะมีผลต่อยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้การดำเนินนโยบายทางธุรกิจผู้ประกอบการจึงต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยที่แวดล้อมทางธุรกิจขณะนี้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า แม้จะมีการประเมินทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยว่าจะสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและระดับรายได้ของผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลับต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายรายการ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและเป็นแรงกดดันทำให้ผู้บริโภคอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย รวมถึงความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภคบางกลุ่มลดลงได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2554 ดังนี้

ผู้ประกอบการเร่งเครื่องขยายฐานบัตรใหม่…ท่ามกลางตลาดอิ่มตัว
การขยายฐานบัตรเครดิตในปี 2554 นี้ คงจะหลีกไม่พ้นกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการช่วงชิงตำแหน่งผู้นำทางธุรกิจบัตรเครดิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายกลางยังคงต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจต่างมีเป้าหมายที่จะขยายฐานบัตรเครดิตเช่นกัน จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างมีเป้าหมายที่จะขยายฐานบัตรใหม่โดยรวมไม่ต่ำกว่า 7 แสนบัตร

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเติบโตของบัตรใหม่จะผ่านการเติบโตสูงสุด คือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตแล้ว แต่การเติบโตของฐานบัตรใหม่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่หวือหวาดังเช่นที่ผ่านมาก็ตาม โดยกลุ่มลูกค้าที่จะมาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการในปีนี้ คือ กลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มเข้าสู่ภาวะการทำงาน และกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่เคยทำบัตรเครดิต โดยในกลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มที่อาจจะยังมีมุมมองที่ไม่ดีต่อสินเชื่อบัตรเครดิต จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบการในการที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบัตรเครดิต เพื่อจูงใจให้ผู้ริโภคกลุ่มนี้หันมาใช้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนบัตรเครดิตทั้งระบบในปี 2554 จะมีประมาณ 14,815,000-14,960,000 บัตร ขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 ขยายตัวในกรอบที่ใกล้เคียงกับที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.1 ในปี 2553 โดยในปีนี้จะเห็นการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการคงจะต้องสรรหากลยุทธ์การตลาดต่างๆ เพื่อจูงใจลูกค้าให้เลือกสมัครบัตรเครดิตของตน ทั้งการโปรโมทสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตที่จะทวีความรุนแรง การใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงการเข้าถึงลูกค้าโดยผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การใช้ช่องทางโทรศัพท์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และการผ่านระบบตัวแทน เป็นต้น

การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2554 ขยายตัวสูงขึ้น…ปรับกลยุทธ์เพิ่มช่องทางการทำธุรกรรม
สำหรับแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2554 นี้ นอกจากจะมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยด้านการแข่งขันทางธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการต่างยังคงต้องสรรหากลยุทธ์การตลาดในรูปแบบใหม่ออกมา เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งการเป็นผู้นำการตลาดบัตรเครดิตนอกจากจะเป็นผู้นำในด้านจำนวนบัตรแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่จะนำมาซึ่งรายรับทางธุรกิจตามมา ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องออกแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง

โดยแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2554 นี้ (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 817,550-825,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.9-14.9 จากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.9 ในปี 2553

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีช่องทางการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการสามารถที่จะขยายการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเครดิต โดยเฉพาะการทำธุรกรรมบัตรเครดิตบนโลกออนไลน์ อาทิ การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟน ที่มีการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ (Application Software) มากมายให้ผู้ใช้สามารถดาว์นโหลดโปรแกรมทั้งแบบชำระเงินที่ต้องผ่านบัตรเครดิตและการดาว์นโหลดฟรี รวมถึงกระแสเกมส์ออนไลน์ที่เติบโตสูงในผู้บริโภคบางกลุ่ม ซึ่งผู้เล่นต้องชำระเงินผ่านบัตรเครดิตจึงจะสามารถอัพเกรดเกมส์ของตนได้ ซึ่งกระแสการเติบโตของทั้งสมาร์โฟนและเกมส์ออนไลน์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องน่าจะมีผลต่อมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในระยะข้างหน้าได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การขยายช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเครดิตบนโลกออนไลน์ ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบความปลอดภัยการใช้บัตรเครดิต ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ถือบัตรให้หันมามองว่าการใช้บัตรเครดิตเป็นเสมือนเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ถือบัตรแทนการมองบัตรเครดิตว่าเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่ง ยังเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการอีกประการหนึ่ง

ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวขึ้นตามการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต…แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องระวังกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
การเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตสอดคล้องกับการเติบโตตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในปี 2554 จะมีมูลค่าประมาณ 221,950-225,250 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.0-7.5 เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปี 2553 แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อจะมีผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในปี 2554 ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องติดตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขาดความต่อเนื่องได้ ประกอบกับผู้บริโภคต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อในผู้บริโภคบางกลุ่มได้

การเบิกเงินสดล่วงหน้ายังสามารถรักษาการเติบโตเป็นบวก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิต ณ ปี 2554 จะอยู่ที่ประมาณ 214,510-216,690 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9-4.9 เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 ในปี 2552 ทิศทางการเติบโตของการเบิกเงินสดล่วงหน้ายังคงรักษาระดับการเติบโตได้ โดยการเบิกเงินสดล่วงหน้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะดวกสำหรับผู้ถือบัตรเครดิตที่จำเป็นต้องการใช้เงินสด อย่างไรก็ดีการเติบโตคงจะไม่หวือหวา เนื่องจากผู้ถือบัตรส่วนใหญ่มุ่งใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าหรือบริการมากกว่าการใช้เพื่อการเบิกถอนเงินสด อีกทั้งผู้บริโภคมีทางเลือกทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทบัตรเบิกเงินสด หรือสินเชื่อหมุนเวียน ที่สามารถถอนเงินสดได้จากเครื่อง ATM ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้

บทสรุปและข้อคิดเห็น
การดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2554 นี้ ผู้ประกอบการคงต้องเผชิญกับโจทย์ทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงผู้บริโภคที่นับวันความจงรักภักดีต่อแบรนด์สินค้าเริ่มลดลง และธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตจัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีการแข่งขันสูง ความแตกต่างทางผลิตภัณฑ์มีน้อย (ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบัตรเครดิตความแตกต่างของผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่สิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิต และพันธมิตรที่ร่วมร้านค้า) ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง หรือการหาผลิตภัณฑ์อื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจต่างจึงต้องทำงานหนักขึ้น ในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีจุดเด่นที่เหนือคู่แข่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่น่าสนใจของผู้ใช้อยู่ตลอดเวลาและให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุดของผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตในยุคนี้ ในการที่จะสามารถเข้ามาสร้างกระแส Must Have หรือไม่มีบัตรเครดิตแบรนด์นี้ไม่ได้ในสังคมผู้ถือบัตรเครดิต

ดังนั้น ในปี 2554 นี้ ผู้บริโภคคงจะเห็นการแข่งขันทางธุรกิจที่มีความเข้มข้น ซึ่งหากมองในมุมของผู้บริโภค พบว่า การแข่งขันที่รุนแรงทางธุรกิจจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เช่น การรับส่วนลดจากทางร้านค้า การรับเงินสดคืนเข้าสู่บัญชี (Cash Back) และการรับของสมมนาคุณเมื่อใช้จ่ายตามวงเงินที่กำหนด เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากบัตรเครดิตก็ต่อเมื่อผู้บริโภคมีการจัดการบริหารการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างระมัดระวัง และชำระเต็มจำนวนตามรอบบัญชีเรียกเก็บ

สำหรับประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตต้องให้ความสำคัญ ซึ่งอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจบัตรเครดิตในระยะข้างหน้า อาทิ กฎเกณฑ์การเปิดเสรีทางการเงิน ที่ในปี 2554 นี้ กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศสามารถขยายสาขาได้ 2 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากขึ้น (ภายหลังจากที่สัดส่วนการตลาดบัตรเครดิตในด้านของจำนวนบัตรของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง) รวมถึงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ… (ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร) ซึ่งอาจมีผลต่อการทำธุรกิจบัตรเครดิตในระยะข้างหน้าได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้ยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ