UBC : The Reality Trend Setter

หลังจากที่เราได้ประมวลเรื่องราวเพื่อนำเสนอสู่มือผู้อ่านในฉบับเดือนกันยายน 2547 เมื่อครั้งที่ UBC ได้สร้าง “Talk of the Town” สร้างคำฮิตติดปากอย่าง “นักล่าฝัน” เราเป็นสื่อฉบับแรกและฉบับเดียวที่ไล่สัมภาษณ์ ตั้งแต่ ผู้เข้าแข่งขัน ครูฝึก ฝ่ายผลิตคนทำงาน ฝ่ายการตลาด รวมไปถึงสปอนเซอร์ แถมด้วยการเจาะลึกด้วยเรื่องราวเบื้องหลัง เป็นที่เดียวที่ได้เข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริง ทั้งบ้านที่พัก และคอนเสิร์ตของพวกเขา

เวลานี้เช่นเดียวกัน นับว่าเราเป็นสื่อฉบับแรกที่ได้คุยกับ อรรถพล ณ บางช้าง Director of Programming ของ UBC และ Executive Producer ของ AF ในฐานะช่องโทรทัศน์ที่จุดกระแสของเรียลลิตี้ จนถึงวันนี้เวลาล่วงมาจนเกือบครบปี ทั้งความสำเร็จ มุมมองความคิดในฐานะผู้บุกเบิก และข่าวคราวความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของ AFII เรายังนำมาเสนอให้ผู้อ่านอย่างเจาะลึกเหมือนเดิม

ขวบปีที่ผ่านมา จากรายการที่ออกอากาศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ไม่มีใครคิดว่า 1 เดือนต่อมารายการที่นิ่งๆ ทรงๆ ตัวรายการหนึ่ง ที่ยูบีซีทุ่มทุนสร้าง 100 ล้านบาท นับว่าใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับรายการเรียลลิตี้อื่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา

รายการนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการโทรทัศน์ ทั้งในแง่ฟอร์แมตใหม่ การใช้โทรศัพท์มือถือเพื่ออินเตอร์แอ็กทีฟกับรายการโทรทัศน์มีมากเป็นประวัติการณ์ ได้ผลตอบรับจากสื่อมวลชนทุกด้าน นำไปสู่การสร้างกระแสต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายรายในประเทศได้ทดลองทำรายการประเภทนี้เอง กระทั่งการซื้อโนว์ฮาวจากต่างประเทศ

แน่นอนว่าผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านรายการนี้กลายเป็น “สตาร์” ในวงการบันเทิง ทั้งนักร้อง พิธีกรรายการโทรทัศน์ นักแสดง ที่ถูกจัดการบริหารความดังด้วยบริษัทใหญ่อย่างแกรมมี่ คำถามที่ตามมาก็คือ อะไรที่ทำให้รายการนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนสูงมากถึงขนาดนี้ และภาพใหม่ของ 2nd Generation ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นอย่างไร

– ตอนนี้คิดว่า UBC เจอสูตรสำเร็จของรายการแบบนี้แล้วหรือยัง?

ผมคิดว่า แยกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ การที่เรานำรายการเข้ามาฉาย แล้วบอกว่าอันไหนจะดีไม่ดี เรื่องอย่างนี้มันง่าย รายการที่ซื้อมา เราก็จะดูรูปแบบ เราจะเห็นโปรดักชั่นมันเสร็จแล้ว เกมมันเป็นอย่างไร กติกามันเป็นอย่างไร จะเห็น pilot หนึ่งโชว์ที่เสร็จแล้ว ด้วยวิธีการเลือกรายการของเราเอง ประสบการณ์ของทีมงานก็จะดูว่าน่าสนใจน่าเอามาฉายหรือเปล่า เอามาแล้วน่าจะดี ซึ่งอันนี้เป็นอาชีพของยูบีซีอยู่แล้ว

– ด้วยรสนิยมของคนไทย เราที่พบมารู้สึกว่าเป็นอย่างไร?

บางรายการที่ดูแล้ว มันวุ่นวายมากๆ กติกาเข้าใจยาก เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ บางทีเอามาแล้วไม่เข้ากันเลย เอาง่ายๆ ผมไม่ได้พูดแค่เรียลลิตี้โชว์ ผมพูดแค่จัดสวน คือว่าเราจะเอารายการจัดสวนมาฉาย คือสวนที่เขาจัดเป็นภาษาฝรั่งหมดเลย ไปหาที่จตุจักรก็ไม่มี ถามว่ามีประโยชน์ไหมถ้าดู ซึ่งแค่ดูได้สวย แต่คนไทยจะรู้เข้าใจหรือเปล่าว่าไอ้ดอกไม้สีนี้มันคืออะไร ซึ่งเป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่เราจะซื้อมาฉายก็ได้ เพื่อให้ดูสวยๆ แต่คนไทยไม่อิน ต่อมาก็คือว่า วัฒนธรรมความเข้าใจของคน บางอย่างที่มีแค่เฉพาะในประเทศเขาอย่างเดียว เราก็ไม่สนุก

ยิ่งฟอร์แมตที่เราซื้อมาทำ ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก สเต็ปหนึ่ง คือว่าดูแล้วเกมสนุก แต่มานึกถึงว่าถ้าเป็นโปรดักชั่นของเมืองไทย แอร์ไทม์ที่เรามีประมาณไหน สเกลโปรดักชั่นทำได้หรือเปล่า การแสดงออกของคนไทยกับฝรั่งไม่เหมือนกัน ฝรั่งเวลาเขาแสดงออก… เขาแสดงออกมากกว่า คนไทยยังมีเกรงใจ จะด่ากันก็ไปแอบด่ากันข้างหลัง ด่าข้างหน้าไม่ใช่คนไทย… ก็เป็นเรื่องยาก ตอนที่เราทำ AF ดูเรื่อง “วัฒนธรรม” เป็นหลักเลยว่า ถ้าเป็นคนไทยประมาณเนี่ย ก็น่าจะเอาอยู่

ในฐานะที่จุดกระแสมาก่อนหน้าเกือบ 1 ปี คิดหรือเปล่าในตอนนั้นว่าการลงทุนแบบ 100 ล้าน ที่ถึงตอนนี้ที่บูมเอง ก็ไม่มีใครกล้าทำถึง จะสำเร็จแบบนั้น?

ผมว่าวิธีการทุกคนเวลาเราเริ่มทำ มันก็เป็นเรื่องเสี่ยงทั้งนั้น ผมคิดว่าเราไม่สามารถการันตีได้หรอกว่า จะมีความดัง แต่ว่าที่เรามั่นใจคือ ผู้บริหารที่นี้อยากจะทำ เพราะการทำเรียลลิตี้โชว์มันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพียงแต่ว่าเรารู้สึกว่า เวลาเราจะหยิบรูปแบบประเภทไหนขึ้นมาทำ เรามั่นใจ สตางค์ที่ได้มาเป็นความเครียดของทีมผลิตว่า…ใช้เงินมหาศาล การันตีคนดูหรือเปล่า การันตีความดังหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งที่เราการันตีได้… ก็คือเราเป็นผู้นำแน่นอน ในแง่ของการตลาด เราเป็นคนหยิบขึ้นมาก่อนแล้วทำก่อน ถึงแม้ว่าดีไม่ดีแต่เราก็ทำก่อน เวลาเราทำก่อนแล้วดี คนก็รู้สึกว่าเราเป็นปลุกกระแสให้ใครๆ ก็อยากจะเอามาทำตาม

– หลังจากนั้น มีผลตอบรับที่เป็นรูปธรรมหรือเปล่า?

การทำรายการหนึ่งรายการ แล้วจะมีคนมาสมัครดูเพิ่มขึ้น ผมว่าคงไม่ใช่ PayTV ไม่ได้วัดกันที่รายการเดียว การบอกรับสมาชิกมันมีองค์ประกอบให้คนตัดสินใจหลายปัจจัย หนึ่งคือ ผู้บริโภคจะใช้ความหลากหลายของรายการมาตัดสินใจซื้อ PayTV สอง-อย่างการทำเรียลลิตี้โชว์ ก็ทำให้คนที่ไม่ได้ดูอีกหลายรายการ ก็รู้สึกว่าพลาดไปเรื่อยๆ จนเขามาคิดว่า จำนวนเงินที่สมัครมันแพงหรือเปล่า เขามานั่งคิดว่า ถ้าเช่าวิดีโอเพื่อดูหนัง ซื้อบัตรดูฟุตบอลที่เมืองนอก เทียบกับสิ่งที่ยูบีซีเสนอให้ หรือมีให้ดูหลายสิบช่อง ถ้ามันคุ้มเขาก็ตัดสินใจซื้อ ไม่ใช่แค่เรียลลิตี้รายการเดียว

เราวางตัวเป็น eye opener สิ่งยูบีซีเขียนไว้ “เปิดยูบีซีเพื่อชีวิต” ให้ความรู้สึกว่าถ้าไม่ได้เปิดดูก็เหมือนพลาดอะไรไปหลายอย่าง ตอนนี้หลายๆ เรื่องในโลกไม่รู้ไม่ได้แล้ว ยูบีซีเลยกำลังทำสิ่งพวกนี้ ที่เป็นความใหม่ ความจริง และกำลังเกิดขึ้นในโลก

– ตอนนี้ Reality Show ก็ถือเป็นกระแสใหม่ที่เกิดขึ้นกับวงการโทรทัศน์อย่างที่เคยเกิดกับ Quiz Show คือ ใครๆ ก็ทำกัน?

ผมว่าเทรนด์สุดท้าย ในที่สุดการคิดรายการใหม่ยากมาก ก็จะกลับมาเบสิกเหมือนเดิม อย่างรายการข่าว รายการสารคดี รายการละครหนัง แต่ส่วนที่เป็นลูกเล่นอย่างเกมโชว์ ทอล์กโชว์ quiz show มีช่วงหนึ่งที่เคยมีรายการอย่าง Mechanic Game Show (ตัวอย่างเกมฮิวโก้-ผู้เขียน) ซึ่งของพวกนี้มันเป็นลูกเล่นในแต่ละปีของสถานีว่าจะคิดอะไรที่มันใหม่ขึ้น ซึ่งเรียลลิตี้ก็เหมือนกันถือเป็นกลุ่ม “ลูกเล่นใหม่”

เรียลลิตี้ตอนนี้กระแสมันมา เพราะมันใหม่ คนอยากดู เรตติ้งดี แต่ต่อไปมันก็ต้องปรับไป อาจจะเล็กลง น้อยลง… ผมถึงบอกว่าการมาเจาะรายการเรียลลิตี้โชว์ของยูบีซี แม้ว่ามันจะดูว่ามันใหญ่ เป็นทั้งช่องเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นแค่เซ็กเมนต์เดียว ของยูบีซีใหญ่ ของคนดูแค่กลุ่มหนึ่ง

– เป้าหมายของ AF เมื่อก่อนทำ จนถึงตอนนี้ achieve ได้หมดหรือเปล่า?

ผมว่าตั้งเป้าไว้ ปีที่แล้วถ้าพูดตรงๆ ก็คงต้องบอกว่าเกินเป้าอยู่แล้ว ผมคงไม่บอกว่าตั้งใจไว้แล้วว่าจะดังขนาดนี้ (หัวเราะ) เราพูดกันตรงไปตรงมา เราก็ทำ เราคิดว่าตัวเองเป็นผู้นำทุกครั้ง แต่ว่าคนชอบ แล้วมันดังมาก มันก็เกินกว่าความคาดหมายแน่ๆ

– คิดอย่างกับ Income ที่ไม่ได้เข้ามา เพราะว่าเราเหมือนสร้างกระแสสังคม แต่เราไม่ได้เรตติ้ง?

เรื่อง Income เราเป็นโทรทัศน์บอกรับสมาชิก เราไม่มีโฆษณา เพราะฉะนั้นจะไปวัดว่ารายการนี้ไป generate รายได้โดยตรงคงยาก แต่ถ้าเป็นฟรีทีวีคงมองประเด็นนี้เป็นหลัก ทำรายการเพื่อดูว่าโฆษณาเข้าหรือเปล่า ลงทุนเป็น 100 ล้าน ต้องได้ 200 ล้าน โฆษณาเต็ม แต่ยูบีซีไม่ได้ทำธุรกิจรูปแบบนั้น ทำให้การวิเคราะห์สื่อจึงดูยากขึ้น แต่สิ่งที่ได้ในแง่ของการตลาดคือ awareness ของตัวยูบีซีสูงมาก ใครๆ ก็รู้จักจาก AF ใครๆ ก็ยังอยากจะรอดูอยู่ว่าที่จะทำออกมาอีกครั้งเป็นอย่างไร

– Big Brother กับ UBC?

อย่างเรากับกันตนาก็เป็นพันธมิตรกันอยู่ ก็คุยกันว่าเขาจะทำโปรเจกต์ บิ๊กบราเธอร์ เขาถามว่าผมสนใจไหม ถ้าเขาอยากจะได้ช่อง 24 ชั่วโมงมาเผยแพร่ เราก็ไม่ขัดข้อง ดูโปรเจกต์แล้วก็สนใจ แต่ว่ารายการนี้กันตนาจะเป็นคนรับผิดชอบเอง 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีไฮไลต์อยู่ที่ไอทีวี จิ๊กซอว์ที่เขาขาดก็คือช่อง 24 ชั่วโมง

– สำคัญไหมช่อง 24 ชั่วโมงกับเรียลลิตี้?

มันก็ทำให้ช่องทางในการดูเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่อง มันเป็นกลไกตัวหนึ่งที่ผมว่ามันน่าจะทำให้รายการมันดังได้ เราไม่ขัดข้องอยู่แล้ว แต่ความสำเร็จเราไม่สามารถการันตีแทนผู้ชมคนไทยได้ แม้ว่าต่างประเทศมันจะสำเร็จมาก

– แล้ว AF กับ ฟรีทีวี?

ด้วยโปรเจกต์ที่ร่วมกันบิ๊กบราเธอร์ มันทำให้โปรเจกต์อาคาเดมี่มีแนวโน้มไปออกรายการฟรีทีวี

– แนวคิดการทำงานจะเปลี่ยนไหมเมื่อทำงานกับฟรีทีวี?

วิธีการทำงานกับโปรดักชั่นไม่ได้เปลี่ยน แต่ว่ารายการที่ไปออกฟรีทีวีจะไม่เหมือนยูบีซี ด้วยข้อจำกัดของเวลา คือว่า เช่นว่า ไฮไลต์ของ AF ที่อยู่ในอินไซต์ ก็จะเปลี่ยนมาเป็นครึ่งชั่วโมงที่อยู่ในไอทีวี ส่วนตัวที่เป็นคอนเสิร์ตก็คงต้องดูว่าไอทีวีจะให้เวลาแค่ไหน เพราะว่าคอนเสิร์ตของเรามีเกือบ 2 ชั่วโมง

– แล้วในอีกแง่หนึ่งฟรีทีวี จะถือว่าเป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดของเราไหม?

ผมคิดว่าอย่างนี้ ถ้าเรามองเรื่อง awareness ของ UBC ถ้าไปฟรีทีวีด้วยก็คงจะดีขึ้นนะ แต่ผมก็เรียนว่าในการทำรายการระหว่างฟรีทีวี กับเคเบิลต้องมีข้อแตกต่าง โดยจำนวนแอร์ไทม์เป็นหลัก คนดูจะเห็นความแตกต่างได้ว่า ถ้ามาดูยูบีซี ก็จะได้ช่อง 24 ชั่วโมง ได้ดูเต็มๆ แต่คนที่ดูฟรีทีวีก็จะเข้าใจว่ารายการเกิดอะไรขึ้นมาได้เห็นความสนุกประมาณหนึ่ง แต่ถ้าอยากได้มากกว่าก็ต้องสมัครยูบีซี ซึ่งความรู้สึกของทั้งสองตอนมันไม่เหมือนกันเลย

เราทำแบบนี้ มันเสริมกันอยู่ ในโปรเจกต์บิ๊กบราเธอร์ เป็นการเสริมกัน เราไม่ได้แย่งคนดูที่อยู่ที่ไอทีวีเลย แต่มันทำให้เขาอยากมาดูกับเรามากขึ้น

– แล้วตอนนี้เมื่อเป็นการลงทุนครั้งที่ 2 แสดงว่าต้นทุนก็น่าจะลดลง?

ไม่ลดลงเลยครับ… ประเด็นแรก คือบ้านที่ให้สมาชิก AF ไปอยู่ร่วมกัน ยังคงไปใช้คลับเฮาส์ ของโครงการสารินซิตี้ ที่เป็นสปอนเซอร์ให้เราเหมือนเดิม แต่อินทีเรียร์ดีไซน์ คือโครงสร้างภายใน เรารื้อทิ้งไปหมดแล้ว ปีนี้เราจะสร้างใหม่ สิ่งที่จะเห็นในปีใหม่หน้าตาไม่เหมือนเดิมเลยนะ เพราะฉะนั้นเวลาเดินเข้าไปในบ้านเก่าหน้าตามันจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย อารมณ์ความรู้สึกใหม่หมด

คราวที่แล้ว 9 สัปดาห์ คราวนี้ 12 สัปดาห์ เวลาออกอากาศยาวขึ้น คนดูเรียกร้องว่าน้อยไปหน่อย คราวนี้จะได้ดูคอนเสิร์ต 12 ครั้ง ซึ่งผมกำลังหน้ามืดอยู่ (หัวเราะ) เพราะมันจะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้น เราต้องทำมากขึ้น จำนวนเวลามีผล… ต้องเข้าว่า AF สิ่งที่มันแพงคือแสงสีเสียง เพราะเราต้องเล่นคอนเสิร์ตจริงๆ คือไม่มีแบ็กอัพ ไม่มีแบ็กกิ้งแทรก แสงสีใส่กันเต็มๆ เหมือนคอนเสิร์ตจริงๆ

– ปีนี้ยังใช้งบประมาณ 100 ล้าน เหมือนที่วางไว้หรือไม่?

เป็นตัวเลขเดิม รวมงบประมาณของการคัดเลือกคน และเงินของทางฝ่ายการตลาดบางส่วนไว้ด้วย แต่ในปีนี้ถ้าเงินในส่วนของผม ฝ่ายโปรดักชั่นขึ้นแน่นอน ซึ่งการตลาดก็ต้องดูอีกที คราวที่แล้วสร้างบ้านแก้ว (ช่วงแรกที่โปรโมตรายการ) ซึ่งแพงมาก ปีนี้อาจจะไม่จำเป็น แต่อาจนำไปใช้ซื้อสื่ออื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในการประกาศรับคน หรือระหว่างทางเพื่อโปรโมต ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายการตลาด ปีนี้ทางฝ่ายผลิตงบบานแน่นอน คิดเป็นว่า 9 วีค เพิ่มมาอีก 3 วีค ค่าผลิตมันเพิ่มมาประมาณนั้น 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ มองว่าสื่อคราวนี้คงจะใช้สื่อไม่แพ้ปีที่แล้ว

ปีนี้เราต้องเสียค่าฟอร์แมตเพิ่มขึ้นด้วย เพราะว่าสัญญาเราทำหลายปี แต่ละปีเป็นจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วถ้าเราทำต่อ

– ไทม์มิ่งของ AF ภาค 2 นี้จะเป็นอย่างไรบ้าง?

ต่อจากกับบิ๊กบราเธอร์เลย อาทิตย์ 26 มิถุนายนนี้ เราจะประกาศ 12 คนที่เข้ารอบ เราเริ่มวันที่บิ๊กบราเธอร์จบ วันที่ 18 กรกฎาคม เราเปิดเลย เราเข้าบ้านวันที่ 17 กรกฎาคม เปิดบ้านมาหกโมงเช้า ถ้าเปิดยูบีซีอยู่ก็จะเห็นแล้ว ส่วนเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม เป็นคอนเสิร์ตครั้งแรก ส่วนรางวัลคิดว่าประมาณเดิม

– ตอนนี้แนวคิดเปลี่ยนไปไหม เมื่อได้ทำงานร่วมกับแกรมมี่ คือเปลี่ยนไปหานักร้องมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าจะหาคนพวกนี้มาเพื่อทำงานในช่องยูบีซีเพื่อเป็นดารา นักแสดง พิธีกร ทำงาน PR ให้ช่อง?

เราไม่ได้คิดว่าที่ทำ AF คือการหาคนให้แกรมมี่ ที่เราเซ็นกับแกรมมี่ คือให้แกรมมี่เขาเป็นคนดูแล ซึ่งหมายถึงหลายอย่าง ตั้งแต่ย้ายบ้านมาจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ดูแลเขาย้ายโรงเรียน หาบ้าน งานที่เขาจะรับ งานดูแล ทั้งหลายที่เรียก “Artist Management” คนพวกนี้ที่ออกมาไม่ได้รับงานของแกรมมี่อย่างเดียว มีละครของหลายค่าย แกรมมี่เขามีบริษัทที่ดูแลศิลปินโดยเฉพาะไม่ว่าภาพลักษณ์ หรือการออกสื่อ ซึ่งยูบีซีเองไม่หน่วยงานที่จะมาดูแลเขาแบบนี้

ปีที่ผ่านมาคนที่เราเอามาใช้ก็มี ไม่ว่า แนน (ณัชรน์กมล ก่อสุวรรณ) ก็มาอยู่ในรายการ “ตะลุยปาร์ตี้” มีรายการ “Starry nights” ก็จะมีจุ้มจิ๋ม กับซีแนมอยู่ เราใช้ศิลปินของเราในการเป็นพรีเซ็นเตอร์ต่างๆ ปีนี้เราก็คงเป็นแนวเดิม ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องออกเทป เพราะผมไม่ได้บอกว่ารายการนี้รางวัลที่หนึ่งคือการออกเทป รางวัลที่หนึ่งคือศิลปินในสังกัดยูบีซี ซึ่งเราจะหางานให้ตามสังกัดของแต่ละคน คนที่มีพรสวรรค์ในเรื่องการร้องเพลง ไม่ว่าค่ายไหนเขาก็เอาไปเอง

เราคิดว่าเราทำไปปั๊บ คนของเราใน 11 คนที่ผ่านมา ดังเลย แล้วเขามีงานถือเป็นความสำเร็จของรายการ ถือเป็นความสำเร็จของน้องๆ แต่ผมไม่การันตีว่าทุกคนสำเร็จเท่ากันหมด คนที่มีพรสวรรค์มากเขาก็จะได้แบบหนึ่ง บางคนไม่ได้ก็มี บางคนได้ออกเทปบางคนไม่ได้ ครั้งนี้เราไม่ได้บอกไว้ว่าคุณมาแล้วรางวัลที่หนึ่งได้ออกเทปกับแกรมมี่ แล้วชุดนี้ก็ยังไม่คุยกันไว้

เราไม่ได้เอาคนที่เก่งที่สุด แต่เราเอาคนที่น่าสนใจที่สุด ไม่ใช่ว่าร้องเพลงดีเยี่ยมแล้วถึงได้ เพราะรายการนี้ไม่ใช่รายการประกวดร้องเพลง ต้องมีบุคคลิกต่างๆ ประกอบกันไป

– คาดว่าทำงานปีไหนจะเหนื่อยกว่ากัน?

ผมว่าปีนี้น่าจะหนักกว่า หนึ่ง ด้วยระยะเวลาที่มากขึ้น สอง ผมเชื่อว่า “ความคาดหวัง” ของคน คือคนที่ดูแล้วก็อยากดูเหมือนเดิม ว่าคนนั้นยังอยู่ไหมคนนี้ยังอยู่ไหม ซึ่งแบบนี้จะรู้ตอนเปิดบ้าน มันมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป ถ้าทำทุกอย่างแป๊ะๆ มันก็คงไม่สนุก ผมไม่คาดหวังว่าทำปีนี้ต้องดัง แต่เราคิดว่าคนดูอยากดูอยู่ อย่างทำฟรีทีวีผมก็เหนื่อยขึ้นแน่นอน ผมต้องตัดหลายตอน

รายการประเภทนี้เป็นลักษณะประเภทเดียวกัน ลักษณะแอร์ไทม์ที่ต้องใช้จะเหมือนกัน คือต้องมีไฮไลต์ทุกวันไม่งั้นคนดูปะติดปะต่อไม่ถูก ซึ่งเป็นฟอร์แมตเดียวกันกับต่างประเทศ อย่างเม็กซิโก มีทั้งฟรีทีวี และ PayTV ช่อง 24 ชั่วโมงของเม็กซิโกมีสองช่อง ซึ่งเป็นคนละมุมกัน แล้วก็มีแอร์ไทม์ในฟรีทีวีเขาได้ 1 ชั่วโมง ที่เราคุยกันอยู่เราได้หนึ่งชั่วโมง

Did you know?

24 รายการ Reality ใน UBC

ช่อง UBC Series
– Survivor
– The Bachelor
– The Bachelorette
– Temtation Island
– Playing it straight
– Joe Millionaire
– Next Joe Millionaire
– The Family
– Boarding House North Shore
– The Apprentice

ช่อง UBC X-zyte
– Human Resources
– The Swan
– Mad Mad House
– How Clean Is Your House?
– Extreme Makeover

ช่อง UBC Inside
– America’s Next Top Model
– The Simple Life
– Manhunt: Search for America’s Most Gorgeous Male Model

ช่อง AXN
– The Amazing Race
– Contender
– Next Action Star
– Fear Factor
– Academy Fantasia