เปิดแล้ว! เทอร์มินัล3 สนามบินนาริตะสำหรับโลว์คอสต์แอร์ไลน์

สนามบินนาริตะ ประตูสู่กรุงโตเกียว เปิดทำการอาคารผู้โดยสารที่ 3 สำหรับสายการบินราคาประหยัด โดยมีร้านขายสินค้าปลอดภาษีขนาดใหญ่ และศูนย์อาหารที่เปิดบริการตั้งแต่เวลาเช้ามืดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร
       
อาคารผู้โดยสารที่ 3 หรือ เทอร์มินอล 3 ของสนามบินนานาชาตินาริตะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 3:30 น.ของคืนวันที่ 8 เมษายน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกราว 100 คน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยเสียงปรบมือ และพิธีเปิดใช้งานที่ตกแต่งสนามบินให้เป็นเหมือนลู่วิ่งมาราธอนที่เปี่ยมสีสัน

อาคารผู้โดยสาร 3 จะใช้สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ โดยขณะนี้มีสายการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่ใช้งานเทอร์มินอล 3 ได้แก่ เจจูแอร์, เจ็ทสตาร์, สปริง เจแปน และวานิลาแอร์ (สายการบินจากประเทศไทย คือ การบินไทยยังใช้งานเทอร์มินอล 1, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์และบางกอกแอร์เวย์ ใช้เทอร์มินอล 2 เหมือนเดิม)
       
ความพิเศษของเทอร์มินอล 3 ของสนามบินนาริตะ คือ จะเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง แตกต่างจากเทอร์มินอลหลักสองอาคารแรก ที่ไม่อนุญาตให้เครื่องบินขึ้นบินหรือลงจอดในระหว่างเวลา 23.00 น. ถึง 6.00 น. เนื่องจากปัญหาเสียงรบกวน
       
ภายในเทอร์มินอล 3 จะมีร้านขายสินค้าปลอดภาษีขนาดใหญ่ที่สุด พื้นที่กว่า 680 ตารางเมตร และศูนย์อาหารที่เปิดบริการตั้งแต่เวลาตี 4 รวมทั้งมีเก้าอี้มากกว่า 100 ที่นั่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องเดินทางในช่วงดึกหรือเช้ามืด

อย่างไรก็ตาม อาคารเทอร์มินอล 3 จะไม่มีการใช้งวงช้างเพื่อขึ้นเครื่องบิน ผู้โดยสารจะต้องเดินขึ้นเครื่องบินบนรันเวย์ แต่จะมีช่องทางเดินพร้อมแนวกันฝนให้ นอกจากนี้อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่นี้ยังอยู่ห่างจากสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ที่เทอร์มินอล 2 ราว15 นาทีด้วยการเดิน ซึ่งอาจทำให้ผู้โดยสารที่มีสัมภาระจำนวนมากประสบความยากลำบากบ้าง

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า การสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ท่าอากาศยานนาริตะถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากท่าอากาศยานนาริตะพยายามจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ในอดีต ในฐานะท่าอากาศยานสำหรับเที่ยวบินระยะไกล โดยพยายามดึงให้สายการบินต้นทุนต่ำใช้เข้ามาใช้สนามบิน หลังจากเที่ยวบินส่วนหนึ่งได้ย้ายไปยังท่าอากาศยานฮาเนดะ ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองมากกว่า
       
ทั้งนี้ สายการบินต้นทุนต่ำเริ่มได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 และในปัจจุบันมีส่วนแบ่งผู้โดยสารในภูมิภาคดังกล่าวถึงประมาณร้อยละ 50 ทำให้สนามบินหลักของญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปิดพื้นที่เฉพาะให้กับบรรดาสายการบินราคาประหยัด ที่เข้ามาเป็นทางเลือกมากขึ้น.

ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000040839