จาก TPI สู่ IRPC โปรดักส์ร้อนแห่งปี

ยังคงเป็นกรณีร้อนแรง สำหรับ TPI หรือ IRPC ผ่านการงัดข้อทางธุรกิจการเมืองมาอย่างยาวนานสุด และถึงวันนี้ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ยังคงต่อสู้เพื่อนำเอาอาณาจักรปิโตรเคมีแห่งนี้กลับคืนมา และการต่อสู้ที่ว่านี้มีผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ว่ายุคใดได้เสมอ

ทีพีไอ หรือ ไออาร์พีซี กำลังถูกมองว่า เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องตกที่นั่งลำบาก เมื่อข้อเรียกร้องในการซื้อหุ้น IRPC กลับคืนจาก ปตท. ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้รับการเพิกเฉยจากรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์

การเพิกเฉยของรัฐบาลครั้งนี้ จึงมีปฏิกิริยาจาก “ประชัย” ที่มองว่ารัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์รับรู้ปัญหาของทีพีไอที่ถูกรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรขายไปให้กับ ปตท. อย่างไม่เป็นธรรมมาตลอด แต่การไม่ทำอะไรของรัฐบาลอาจมีสาเหตุมาจากคนสำคัญในรัฐบาลนี้หลายคนรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการ “ยึดทีพีไอ”

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นนักธุรกิจใหญ่ผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ปิโตรเคมี TPI ก่อนที่จะสูญเสียไปให้บรรดาเจ้าหนี้หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จนถูกเปลี่ยนชื่อเป็น IRPC ในปีนี้เพื่อลบภาพความหลังแห่งการต่อสู้แก่งแย่งชิงกรรมสิทธิที่มีมายาวนาน ทำให้ประชัยเหลือเพียงบริษัท TPI Polene ในธุรกิจปูนซีเมนต์ซึ่งแตกออกมาก่อนนี้เท่านั้น

วิกฤตลดค่าเงินบาทปี 2540 ทำให้ TPI ภายใต้การนำของประชัยในยุคนั้น ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะกู้เงินนอกประเทศมาลงทุน ส่งผลให้หนี้สินที่เพิ่มขึ้นมหึมาสุดที่ธุรกิจจะหาใช้คืนได้ จึงทำให้หุ้นเดิมต้องถูกลดสัดส่วนทุน ให้บรรดาเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นหุ้นจนประชัยกลายเป็นหุ้นส่วนน้อยไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อต่อมา ประชัยสามารถหาแหล่งเงินทุนจากจีนมาซื้อหุ้นส่วนที่สูญเสียไปคืน สานฝันอาณาจักรปิโตรเคมีของครอบครัวเลี่ยวไพรัตน์ต่อไป ก็กลับพบว่ากระทรวงการคลังและเจ้าหนี้ได้ร่วมกันจัดแจงขายหุ้นส่วนดังกล่าวให้ไปเป็นของบริษัท ปตท. ที่กำลังสานฝันขยายอาณาจักรปิโตรเคมีอยู่เช่นกัน

ประเด็นที่ “ประชัย” ชี้ให้สาธารณชนเห็นคือ ปตท. ในยุคนั้น คือปี 2547 เพิ่งจะถูกแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปไม่นาน แต่ผู้ที่ได้หุ้นจองรายใหญ่ๆ หลายคนก็ล้วนเป็นเครือญาติของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร การผลักดันทีพีไอไปอยู่ใน ปตท. นั้นทำเพื่อกระทรวงการคลังจริงแท้เพียงใด ?

อีกประเด็นที่ประชัยชี้ให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยคือในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอ เกือบ 2 หมื่นล้านหุ้นนั้น ราคาหุ้นที่กลุ่มทุน “ซิติก” จากจีนฝ่ายประชัยเสนอซื้อนั้นคือ 5.50 บาทต่อหุ้น ส่วนราคาที่ทาง ปตท. เสนอนั้นเพียง 3.30 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าเกือบครึ่งราคา แต่ผลคือทาง ปตท.ได้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นไป

การชี้ประเด็นทั้งสองและประเด็นอื่นๆ นั้น นอกจากผ่านทางสปอตโฆษณาใน ASTV วิทยุเครือผู้จัดการ 97.75 ประชัยยังมีสื่อวิทยุของตัวเองคือ “คลื่นประชาธิปไตย FM 92.25” วิทยุชุมชนที่ออกอากาศทั้งในกรุงเทพฯ และระยอง เพราะใช้ตึกสำนักงานของทีพีไอโพลีนใกล้สถาบันเทคนิคกรุงเทพและโรงงานของบริษัทที่ระยองเป็นสถานีออกอากาศนั่นเอง

แม่เหล็กของคลื่นคือนักจัดรายการอย่าง อัญชลี ไพรีรัก และที่กำลังมาแรงทุกค่ำคืนคือ “จิตกร บุษบา” ซึ่งมีลีลาการจัดที่ดุเดือดแต่เฮฮาเป็นกันเอง พร้อมมีข้อมูลและประเด็นที่สอดรับพ้องกับสื่อเครือผู้จัดการอยู่เสมอ และไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นไปแล้วว่า FM 92.25 ได้กลายเป็นสถานีที่แท็กซี่หลายคันล็อกไว้ฟังตลอด และแน่นอนว่าแท็กซี่กลุ่มนี้ “เกลียดทักษิณ”

ในทุกเบรกจะมีสปอตโฆษณาที่ไล่ลำดับความไม่เป็นธรรมที่ประชัยได้รับ และระบุถึงรัฐมนตรีคลังย้อนหลังไปหลายยุคมาจนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงคนสำคัญในรัฐบาลนี้หลายคนว่ารู้เห็นเป็นใจกับขบวนการ “ยึดทีพีไอ”

จาก TPI สู่ IRPC ในปัจจุบันต้องผ่านการงัดข้อกันทางธุรกิจการเมืองมาอย่างยาวนานสุด และถึงวันนี้ก็ยังไม่มีท่าทีจะจบลงได้ง่ายๆ ดูได้จาก ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และพันธมิตรของเขาที่ยังคงต่อสู้เพื่อนำเอาอาณาจักรปิโตรเคมีแห่งนี้กลับคืนมา และการต่อสู้ที่ว่านี้มีผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ว่ายุคใดได้เสมอ