Mindshare Interactive จาก Moderator สู่ Blog

บริษัท MindShare Interaction เป็นหน่วยงานหนึ่งของบริษัทมายด์แชร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2006 เพื่อสื่อถึงการตอบรับการขยายตัวของโฆษณาบนโลกออนไลน์ เริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณปี 2001 ก่อนหน้านั้นเคยใช้ชื่อว่าเอ็มดิจิตอล แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มวัน จากการร่วมทุนระหว่างมายด์แชร์กับโอกิลวี่วันอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน

มายด์แชร์อินเตอร์แอคชั่น จึงมีมาตั้งแต่ดอทคอมบูมยุคแรกในเมืองไทย สมัยที่มีการลงทุนเว็บครั้งแรก ทั้งเว็บสนุกดอทคอม เอ็มเว็บ แคชชา แต่การโฆษณาบนออนไลน์ก็มีให้เห็นแค่แบนเนอร์ และมีลูกค้าน้อยมากเมื่อเทียบกับวันนี้ ขณะที่ผู้ลงทุนพัฒนาเว็บใช้เงินลงทุนมหาศาล ครั้งนั้นจึงถือเป็นการลงทุนที่ผิดพลาด เนื่องจากประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยมีเพียง 2 ล้านคน และใช้อินเทอร์เน็ตในปริมาณต่ำ

“ช่วงหลังการใช้อินเทอร์ค่อย ๆ พัฒนา ถ้าดูจากตัวเองเป็นหลักก็จะเห็นเลยว่า เราถูก Socialized ทีละนิดจนมาถึงจุดที่มีชีวิตที่ต้องอยู่บนโลกออนไลน์ ลองนึกถึงหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง The net สมัยก่อนคิดว่ามันเกินจริง แต่เดี๋ยวนี้แม้แต่ตัวเองก็ทำงานบนอินเทอร์เน็ต เจอคนน้อยมาก เวนเดอร์บางรายคุยกันเจ็ดปียังไม่เคยเห็นหน้า” กรณิการ์ กลีบแก้ว Interaction Manager จากบริษัท MindShare Interaction พูดถึงปรากฏการณ์ของสังคมกับโลกออนไลน์

กรณิการ์ อายุ 31 ปี ก่อนหน้าจะมาอยู่กับมายด์แชร์ เคยทำงานที่สยามทูยู เป็นปรากฏการณ์ในวงการเอเยนซี่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการผสมผสานระหว่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องเว็บไซต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทเอเยนซี่ เพราะความที่เอเยนซี่ส่วนใหญ่ต้องการความเชี่ยวชาญของคนที่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนสื่อให้กับลูกค้าที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสื่อดิจิตอลหรือสื่อออนไลน์มากขึ้น หลาย ๆ เอเยนซี่เริ่มมีแผนกออนไลน์ ดิจิตอล หรืออินเตอร์แอคชั่น เพื่อความครบวงจรในการเสนองานให้กับลูกค้าและตามให้ทันกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต่างกับครั้งดอทคอมยุคฟองสบู่ เพราะจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีจำนวนผู้ใช้ของไทยในปัจจุบันรวมแล้วกว่า 10 ล้านคน และยิ่งในกลุ่มนักศึกษาด้วยแล้ว เคยมีตัวเลขการสำรวจพฤติกรรมการของกลุ่มวัยรุ่นของเอแบคโพลล์เมื่อปลายปี 2006 พบว่า สื่อที่คนกลุ่มนี้นิยมใช้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และทีวี ตามลำดับ

“จากที่คุยกับเด็กจุฬาฯ และเอแบค จำนวน 10 คน ที่มาอบรมที่บริษัท ถามว่าออนไลน์วันละกี่ชั่วโมง ทุกคนเงียบ บอกนับไม่ถูก เพราะออนไลน์ทั้งวันทั้งคืน ทีวีไม่ดู ฟังแล้วตกใจเพราะไม่คิดมาก่อนว่าเด็กสมัยนี้ถึงขั้นเลิกดูทีวีแล้ว เขาจะดูก็เฉพาะรายการที่ชอบจริงๆ เช่น รายการเพลง แต่จะไม่ใช่คนที่เปิดทีวีแล้วนั่งแช่เหมือนยุคก่อน”

พฤติกรรมแบบนี้ กรณิการ์เชื่อว่ามีปัจจัยหลักมาจากการใช้ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเห็นว่าจากช่วงที่ทรูลดราคาโมเด็มอินเทอร์เน็ตเหลือ 1 บาท ในช่วงปี 2004 ทำให้ประชากรเน็ตเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

พฤตกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากใช้บ้างไม่ใช้บ้างในอดีต จึงเปลี่ยนมาเป็นรูปที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จากเว็บไซต์ที่มีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความชอบส่วนตัวของเจ้าของเว็บในการพัฒนา อย่างเว็บสนุก กระปุก ก็เริ่มพัฒนาไปสู่รูปแบบของธุรกิจมากขึ้น เช่นเดียวกับเว็บไซต์ของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็เริ่มหันมาพัฒนาคอนเทนต์บนออนไลน์กันอย่างจริงจังมากขึ้น

จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น คอนเทนต์และกิจกรรมบนอินเทอร์เพิ่มขึ้น ทำให้อินเทอร์เน็ตพัฒนารูปแบบจากเท็กซ์ไปสู่ ภาพ เสียง วิดีโอ ทำให้โลกออนไลน์เปลี่ยนไป จากการใช้งานอยู่คนเดียวก็พัฒนาเป็นชุมชนบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สามารถอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ทั้งวัน

“เด็กสมัยนี้ทำการบ้านผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องเจอกันแล้ว ทั้งทำงาน ค้นข้อมูล บันเทิง แล้วเชื่อมโยงกัน แต่รูปแบบการเติบโตของเมืองไทยจะค่อนข้างไปในด้านบันเทิง เพราะคนไทยยังไม่ค่อยชอบการอ่าน”

จากการสังเกตของมายด์แชร์ อินเตอร์แอคชั่น ลักษณะที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ จึงเป็นการรวมทุกอย่างไว้ในเว็บไซต์ ชนิดต้องมีให้ครบ เว็บของคนไทยส่วนใหญ่ก็พยายามพัฒนาไปแนวนี้มากกว่าเน้นด้านใดด้านหนึ่ง ตัวอย่าง เว็บไซต์ดังๆ ของต่างประเทศ อาทิ Frinkr.com เว็บที่คนนิยมเข้ามาโพสต์และค้นหารูป ถ้าเป็นเว็บของคนไทยนอกจากแชร์ภาพก็ต้องให้เขียนบล็อกได้ด้วย เป็นรูปแบบของคอมมูนิตี้

“อาจจะเหมือน Hi5 ซึ่งมีทุกอย่าง มีภาพ ไปเชิญเพื่อนมาจอยเป็นคอมมูนิตี้ เสร็จแล้วมีบล็อกของตัวเอง เพื่อนก็อ่านบล็อกของเรา มีอัลบั้มภาพให้ดู กลายเป็นว่าทุกเซอร์วิสจะออกมาสไตล์บล็อก Hi5 เองก็พัฒนาให้แชร์วิดีโอได้ ถ้าไม่ทำให้ครบ ผู้ใช้ก็จะเปลี่ยนใจไปใช้ของคนอื่น”

ในฐานะเอเยนซี่ กรณิการ์มีหน้าที่ต้องคอยตามติดการพัฒนาเหล่านี้ เพื่อจะได้เลือกเครื่องมือสื่อสารบนโลกออนไลน์ให้กับลูกค้าได้ถูกทาง เธอเล่าว่า ผลจากพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ ทำให้เกิดรูปแบบของบล็อกมาร์เก็ตติ้งที่มาแรงมากขึ้นในการใช้เป็นเครื่องมือสารเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากแบนเนอร์ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของโฆษณาบนออนไลน์

ทีมงานของมายด์แชร์ เริ่มพัฒนาสู่บล็อกมาร์เก็ตติ้งโดยเริ่มจากการใช้ทีมในการ Moderator เว็บไซต์ว่าอะไรคือสิ่งที่คนยุคนี้สนใจ เช่น การติดตามเว็บบอร์ดในพันทิพดอทคอม มีใครที่พูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องแบรนด์ หรือการใช้เทคนิคเข้าไปใน Lead ให้คนพูดเกี่ยวกับสินค้าหรือแบรนด์ที่ต้องการ จนกระทั่งพัฒนาไปถึงการเขียนบล็อกเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงในบางเรื่อง
บล็อกอย่างไรให้สำเร็จ

กระบวนการทำงานผ่านบล็อกของมายด์แชร์ จะเริ่มต้นจากดูวัตถุประสงค์ของแคมเปญของสินค้าก่อนว่า ต้องการสื่อสารอะไร เช่น ต้องพูดถึงสินค้าหรือพูดถึงประโยชน์ของสินค้า จากนั้นหาคนมาเขียนถึงสิ่งที่ต้องการสื่อผ่านบล็อก กำหนดชั่วโมงการเขียน ซึ่งคนเขียนจะต้องมี Sense เกี่ยวกับสินค้าหรือเรื่องราวที่ต้องการสื่อเป็นพิเศษ

“ลูกค้าไม่ต้องการให้พูดถึงโปรดักส์เสมอไป สมมติเขาบอกว่ามีสารผสมที่ทำให้ผิวเนียนสดใส เราก็เลี่ยงไปพูดว่าการมีผิวเนียนสดใสดีอย่างไร แล้วแต่ทาร์เก็ต สมมติอยากพูดเรื่องฟุตบอล ก็ต้องเอาคนที่รู้เรื่องฟุตบอล แต่เราจะชี้แนะว่าเขาต้องทำอย่างไรเวลาเขียน อะไรที่เราเจาะจงอยากให้ผู้อ่านรู้ รูปแบบนี้เดี๋ยวนี้ทำเกือบทุกแบรนด์เยอะมาก ซึ่งต้องมีทีมงานเฉพาะนั่งดู”

กรณิการ์ เล่าวิธีการและเล่าว่า ปัจจุบันในสำนักงานของมายด์แชร์อินเตอร์แอคชั่น ซึ่งเดิมมีทีมอยู่แค่ 3 คน คือเจ้านายของเธอ เธอ และลูกน้องอีกหนึ่งคน ปัจจุบันมีทีมโปรดักชั่นที่ยกมาจากเว็บไซต์ชื่อดังอีกหนึ่งทีมจำนวนกว่า 20 คน เข้ามาเช่าพื้นที่ในออฟฟิศเพื่อทำงานร่วมกับมายด์แชร์อย่างใกล้ชิดและเพื่อความคล่องตัวในการทำงานและการบริการลูกค้า

แม้จะมีรูปแบบการเขียนที่ทีมต้องชี้แนะให้ผู้เขียนบล็อกทำได้ตามวัตถุประสงค์ แต่ข้อควรระวังอย่างยิ่งของการทำบล็อกมาร์เก็ตติ้ง คือต้องไม่ให้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตรู้ว่านั่นคือการเขียนเพื่อขายสินค้า หรือรู้สึกว่าเขากำลังถูกยัดเยียด หรือรบกวน เพราะจะทำให้เกิดภาพลบกับแบรนด์ทันที ดีที่สุดถ้าทำได้ต้องทำให้ผู้บริโภคเป็นคนเปิดทางให้ และยอมรับเอง ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ของการโฆษณาบนโลกออนไลน์

“วิธีที่ต้องคิดให้ตกคือ จะเข้าไปหาลูกค้าบนออนไลน์อย่างไร ถ้าเขารู้ว่ามันคือแผนการตลาดเมื่อไรก็จบ หรือจะทำให้รู้ก็ได้ แต่คอนเทนต์นั้นจะต้อง Trust กับใจเขาจริงๆ ต้องเปิดกว้างเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาพอใจที่จะรับรู้ ค่อยๆ เบรนด์เข้าไป ตัวอย่าง บางรายเลือกใช้คนดังมาพูดก็อาจจะได้ผล“

กรณิการ์ยกตัวอย่างโฆษณาแฮปปี้ ของดีแทค เป็นกรณีหนึ่งที่ทำแบบให้ลูกค้ารู้ โดยนำมิวสิกวิดีโอไปโพสต์ในอินเทอร์เน็ต เพื่อให้คนฟอร์เวิร์ดโฆษณาต่อในลักษณะของไวรัลมาร์เก็ตติ้ง ถือเป็นไอเดียที่แตกต่างและเป็นความกล้าของเจ้าของแบรนด์ที่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ ซึ่งปกติทีวีซี (ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์) มักจะเป็นความลับและจะไม่ให้เห็นก่อนออกอากาศ

กรณีแฮปปี้โชคดีที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว มีแบรนด์โพสิชันนิ่งและแนวทางโฆษณาชัดเจนมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งบอกกล่าวกับลูกค้าตรงๆ ว่าจะทำอะไรแล้วลูกค้ารับได้ ปัจจัยอีกประการที่ต้องดูว่าสินค้าไหนเหมาะกับการทำบล็อกมาร์เก็ตติ้ง หรือเหมาะกับการสร้างไวรัลมาร์เก็ตติ้งจากโลกออนไลน์หรือไม่ ต้องพิจารณากลุ่มเป้าหมายของตัวเองเสียก่อน

ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นแมส เป็นลูกค้าต่างจังหวัด เด็กเล็ก เป็นกลุ่มแรกๆ จะไม่เหมาะโดยสิ้นเชิง กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในข่ายคิดวิธีนี้ได้ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นเมือง กลุ่มคนทำงานในเมือง เฉลี่ยคือกลุ่มคนเมืองตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป แต่ถ้าเกิน 40-45 ปีขึ้นไปก็เริ่มไม่เหมาะเพราะเป็นวัยที่เริ่มห่างอินเทอร์เน็ต

ปัจจุบันแบรนด์สินค้าที่ทำบล็อกได้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่มีคนชอบอยู่แล้ว มีทุกประเภท ทั้งของกิน ของใช้ เสื้อผ้า แฟชั่น ส่วนใหญ่เกิดการรวมตัวกันขึ้นของผู้ใช้ในการสร้างชุมชนของแบรนด์นั้นๆ และเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยที่เจ้าของสินค้าไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่จะเปิดตัวใหม่เป็นระยะ ซึ่งโดยปกติสาวกของแบรนด์จะคอยติดตาม แต่ต้องเป็นสิ่งของที่เขาอยากรู้สนใจจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าแฮปปี้ที่จะรับรู้

กรณิการ์ สรุปว่า พฤติกรรมและกิจกรรมบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภค ทำให้คนทำโฆษณาต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ แม้กระทั่งแบนเนอร์ก็ไม่ควรรบกวนผู้ใช้เกินไป หรือต้องคิดว่าจะเปลี่ยนจากแบนเนอร์ให้เขาไปเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนบนออนไลน์อย่างไร หากลูกค้าที่ยังไม่มีเป้าหมายที่ทำตลาดบนออนไลน์ บางครั้งเอเยนซี่ก็ต้องเป็นฝ่ายแนะนำเพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ใหม่

“คนทำต้องเป็นคนที่ใช้ ต้องเล่นจริงๆ อย่างตัวเองก็ต้องปรับตัว ต้องคิดแบบใหม่ จากเดิมที่คิดว่าทำอย่างไรให้แบรนด์ไปทิ่มตาคน ก็ต้องถามว่าจะทำอย่างไรให้แบรนด์ไปอยู่ในใจคน”

ผลจากการติดตามพัฒนาการของโลกออนไลน์อย่างใกล้ชิด ทำให้ปัจจุบันมายด์แชร์มียอดเติบโตของออนไลน์มาร์เก็ตติ้งเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกปีติดต่อกันมาหลายปี โดยคาดว่ามูลค่าตลาดรวมของงบโฆษณาออนไลน์ในปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณเกือบ 200 ล้านบาท จากที่เคยมีอยู่ไม่ถึงสิบล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้โฆษณาออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงวันนี้ ก็คือ หนึ่ง-เวลา สอง-การที่คนต้องการทดลองสื่อใหม่ๆ ที่สามารถวัดผลได้ สาม-ใช้งบไม่มากในการทดลอง และสี่-มีเครื่องมือให้ใช้หลายรูปแบบ

อินเตอร์แอคชั่นทูลยอดนิยม
-แบนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบมากขึ้น เช่น เป็นวิดีโอ แฟลช เล่นเกม กรอบข้อมูล เป็นต้น แบนเนอร์ยังเป็นจำนวนสูงสุด เนื่องจากเป็นการโฆษณาที่สามารถคุมแมสเสจที่ต้องการสื่อสารกับลูกค้าได้ตรงที่สุด
-สปอนเซอร์ชิป เลือกสนับสนุนเป็นส่วนๆ
-การแข่งขัน หรือทำกิจกรรมลงเว็บ
-การทำ Moderation
-บล็อก
(ที่มา : มายด์แชร์ อินเตอร์แอคชั่น)

Joga.com บล็อกของคนรักการเตะ
Joga เป็นภาษาโปรตุเกส ย่อมาจากคำว่า Jogaboita ซึ่งหมายถึง การเล่นฟุตบอลอย่างสวยงาม เป็นเว็บไซต์ที่ไนกี้ร่วมกับกูเกิลจัดทำขึ้นเป็นโกลบอลแคมเปญ เพื่อสร้างเป็นชุมชนออนไลน์ เริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 2006 สำหรับทุกคนที่รักฟุตบอลกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

ในเว็บไซต์ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ของการทำความรู้จักกับคอฟุตบอลที่มีใจรักเหมือนๆ กัน การสร้างสรรค์เกมและชมรม การเข้าถึงตัวนักกีฬาจาก Nike และเพลิดเพลินกับคลิปวิดีโอและภาพถ่าย โดยให้ผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกสามารถอัพโหลดภาพและวิดีโอของตัวเองได้ด้วย สามารถสานสัมพันธ์กับเพื่อนและเริ่มต้นสัมพันธ์ใหม่ๆ เข้าร่วมสังสรรค์กับนักกีฬามืออาชีพและชุมชนนักฟุตบอล หรือกระทั่งสร้างชุมชนของคุณเองเพื่อสนทนาเรื่องของฟุตบอล แลกเปลี่ยนเคล็ดลับเกี่ยวกับลูกเล่นเด็ดๆ เลือกสนามทั่วโลก และจัดเกมที่จะเล่นในครั้งถัดไป

ปัจจุบันเว็บไซต์โจก้า เปิดให้บริการแล้ว 14 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ โปรตุเกสแบบบราซิล ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน สเปน จีนตัวย่อ จีนตัวเต็ม ญี่ปุ่น เกาหลี ดัตช์ รัสเซีย ไทย และเช็ก ซึ่งคาดว่าการสามารถเปลี่ยนภาษาได้บนเว็บจะทำให้เว็บไซต์นี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในไทย ขณะเดียวกันก็มีภาษาสากลจากภาพและวิดีโอเป็นสื่อที่สามารถเข้าใจตรงกันได้ทุกประเทศทั่วโลก

ส่วนของแคมเปญที่มายด์แชร์อินเตอร์แอคชั่นรับเข้ามาทำในไทย คือการจัดประกวดวิดีโอซึ่งจะมีกรรมการตัดสิน ทีมไหนชนะจะได้เข้าร่วมอบรมการเล่นฟุตบอลจากสโมสรชื่อดังระดับโลก

“เว็บไซต์นี้เป็นบล็อกของพวกบ้าฟุตบอล เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำเรื่องของบล็อกซึ่งไม่ใช่แค่เท็กซ์ แต่เป็นวิดีโอ ที่เชื่อมกันได้หมด เริ่มทำมาตั้งแต่ปีที่แล้วใครสนใจก็เข้ามาเขียน บางคนเล่นจริงจัง แต่คนไทยก็อาจจะมีเล่นบอลพลาสติก เล่นใต้ทางด่วนก็ได้” กรณิการ์ กลีบแก้ว ผู้จัดการอินเตอร์แอคชั่น ของมายด์แชร์อินเตอร์แอคชั่นกล่าว

เธอเล่าให้ฟังด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะมีแคมเปญนี้ แคมเปญของไนกี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปีที่ผ่านมา และมีส่วนใช้บล็อกและไวรัลมาร์เก็ตติ้งเข้าไปสร้างกระแส คือการทำหนังโฆษณาไนกี้ฟุตบอลโดยเป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับชื่อดังของไทย ซึ่งเกิดกระแสที่ดังและทำให้คนคอยดูโฆษณาชิ้นนี้จำนวนมาก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความมีชื่อเสียงของผู้กำกับ แต่อีกส่วนคือกลยุทธ์การตลาดเบื้องหลัง ที่เริ่มต้นจากการเข้าไปสร้างกระแสในชุมชนออนไลน์ ด้วยการปล่อยกระแสข่าวในเชิงเรียกร้องความสนใจว่า “รู้ไหมเป็นเอกทำหนังโฆษณาเกี่ยวกับฟุตบอลให้ไนกี้” เท่านี้แฟนเป็นเอก แฟนไนกี้ และคนรักฟุตบอล ก็พร้อมใจที่จุคุยกันเรื่องนี้ จนกลายเป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ

เพลย์บิวตี้ออนบล็อกกับ LUX

อีกตัวอย่างเว็บไซต์ที่ใช้บล็อกเป็นส่วนหนึ่งในนั้นที่มายด์แชร์อินเตอร์แอคชั่นดูแลอยู่ คือเว็บไซต์ Playwithbeauty-id.com ของผลิตภัณฑ์สบู่ลักซ์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการนำสินค้าคอนซูเมอร์ที่เป็นแมส มาทดลองกับสื่อชนิดนี้

“เราบอกลูกค้าว่า ห้าม ไม่ต้องเขียนเกี่ยวกับโปรดักส์เลย ถ้าจะเขียนก็อย่าทำเลยค่ะ เสียเงินเปล่า พอเข้ามาในเว็บเราจะมีบล็อกให้ผู้หญิงเข้าไปเขียนเรื่องความสวย คอนเซ็ปต์คือเพลย์วิธบิวตี้ พูดแต่เรื่องความสวยไม่ต้องพูดถึงโปรดักส์” กรณิการ์ กลีบแก้ว พูดถึงผลงานล่าสุดของแผนกอินเตอร์แอคชั่น

การจะเชิญชวนให้คนมาเขียนบล็อกไม่ใช่เรื่องง่าย ในระยะเริ่มต้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ ที่ต้องจ้างบล็อกเกอร์ประจำมาช่วยเขียน เริ่มจากการมีสไตลิสต์มานั่งเขียนเรื่องการแต่งตัว ช่างแต่งหน้า คนทำแฟชั่น เพื่อเป็นตัวเริ่มต้นให้ก่อนที่ชุมชนจะค่อยๆ สร้างตัวขึ้นมาเอง

“คนที่เลือกมาเป็นบล็อกเกอร์ พยายามหาให้หลากหลายจะได้สนุก เพราะเสน่ห์บนออนไลน์คือคนจริง ชีวิตจริง เขียนเรื่องจริง ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงแต่เขียนแบบที่ตัวเองเป็น ได้แสดงความคิดเห็นในส่วนของตัวเอง ก็ได้ เพราะการเป็นนักเขียนในบล็อกไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนจริง”

ก่อนหน้าจะมีเว็บไซต์ ลักซ์ ยังสร้างความแปลกใหม่ให้วงการตลาดด้วยการออกหนังสือเกี่ยวกับความงาม ซึ่งไม่พูดถึงผลิตภัณฑ์เลย ออกมาวางจำหน่ายในราคาเล่มละ 200 บาท และได้รับการตอบรับดีจากผู้อ่านเสียด้วย จนทำให้เกิดความน่าแปลกใจที่ใรจะคิดว่าสบู่ก้อนไม่กี่บาทจะกล้าทำตลาดในรูปแบบนี้

อย่างนี้น่าจะบอกได้ว่า ถ้าอยากจะได้ใจลูกค้า ต้องหยุดคิดเรื่องขายสักแป๊บแล้วให้ใจไปก่อน ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะกลับมาเกินคาดหมาย

ก่อนจะเป็นผู้บริโภคยุค Web 2.0

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ หนึ่งในทีมผู้เขียนหนังสือ Marketing Moves เคยให้นิยามไว้ว่าผู้บริโภคยุคนี้คือผู้บริโภคยุคเว็บ 2.0 โดยสรุปที่มาของยุคผู้บริโภคไว้คร่าวๆ ดังนี้

Social-> ยุคที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นจึงจะอยู่รอด เพราะการตลาดต้องขายสินค้าที่ผลิตในปริมาณมากเกินจำเป็น การโฆษณาจึงเป็นรูปแบบของ Mass Advertising ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนรู้สึกว่าถูกโฆษณายัดเยียด

Globalization -> ยุคที่การโฆษณาและการตลาดต้องเคลื่อนตัวตามสังคมที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์

Knowledge base society -> ยุคข้อมูลข่าวสาร ยุคของสังคมไซเบอร์มี Viral Marketing เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนจำนวนมาก

Post knowledge base society -> สังคมหลังยุคข่าวสารข้อมูล จะเป็นยุคที่ก่อให้เกิดชุมชนที่มีคุณค่า เป็นสังคมที่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม และมีความจริงใจ การทำตลาดกับผู้บริโภคต้องแสดงถึงการให้ความสำคัญด้านจิตใจมากขึ้น ในลักษณะของ Mind-to-Mind และมีคำสำคัญที่ต้องนึกถึง 3 คำ ได้แก่ Caring, Sharing และ Truth