หาก Web 2.0 เป็นเว็บยุคใหม่ที่ใช้ ผู้อ่านกลายมาเป็นผู้สร้างเนื้อหา วิทยุยุคใหม่อย่าง Radio In Thailand (RIT) หรือ radio.in.th ก็อาจเรียกได้ว่าเกิดมาอย่างเป็น Radio 2.0 บนชุมชนที่นักฟังเพลงและดีเจใกล้ชิดและสับเปลี่ยนบทบาทกันบางครั้ง ก่อนที่จะเติบโตมาเป็นสถานีวิทยุอาชีพเต็มรูปแบบจนกระทั่งสามารถขายกิจการให้บริษัทสื่อรายใหญ่ได้
เริ่มบนชุมชนไซเบอร์ …
ย้อนกลับไปในปี 2543 “ตั้ม” ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม กับ “ตรี” วิทวัส นาคเกษม รู้จักกันผ่านทางห้องพูดคุยออนไลน์ของคนที่ทดลองเล่นโปรแกรม Shoutcast ซึ่งเป็นโปรแกรมทดลองกระจายเสียงทางอินเทอร์เน็ตแบบส่วนตัว ที่นักท่องเว็บหลายคนลองเอามาเปิดเพลงและจัดรายการดูเล่นๆ วันละช่วงสั้นๆ ตามแต่เวลาว่างของแต่ละคน และที่อยู่เข้าฟังก็เปลี่ยนไปเรื่อยไม่แน่นอน
แต่ทั้งคู่ไม่หยุดแค่นั้น “ดีเจตั้ม” กับ “ดีเจตรี” รวบรวมกลุ่มเพื่อนอีก 6 คนในห้องแชตมาช่วยกันตั้งสถานีวิทยุจริงๆ ที่มีเวลาออกอากาศยาวๆ และแน่นอน ให้ชื่อว่า TRN หรือ Thailand Radio Network โดยที่ทั้งคู่ซึ่งมีพื้นฐานเป็นโปรแกรมเมอร์ ช่วยกันพัฒนาโปรแกรมเพิ่มเป็นภาษาไทยให้ผู้ฟังเปิดง่ายฟังง่าย เรียกว่า “TRN Player”
“บางคนนั่งพูดจัดรายการจากร้านกาแฟ บางคนก็นั่งจัดที่มหาวิทยาลัย หมุนเวียนกันเข้ามาให้มีเวลาทั้งวัน” ณัฐพรเล่าย้อนให้เห็นภาพของความเป็น Radio 2.0 ที่ผู้ฟังกับผู้จัดก็คือคนกลุ่มเดียวกัน
กลุ่มดีเจตัวหลักในยุคนั้นมีเพียงณัฐพรกับวิทวัส ส่วนที่เหลือเป็นการหมุนเวียนชุดกันไปตามแต่เวลาว่าง และให้โอกาสแต่ละคนได้ลองจัดถ้วนหน้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาสายนิเทศศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 โต้โผก็รักษาวัฒนธรรมนี้ต่อมาอีกหลายปีแม้ทั้งสองจะจบมาทำงานโปรแกรมเมอร์ต่างที่กันไปแล้ว แต่ก็ยังแบ่งเวลาสรรหาผู้ฟังนักศึกษาที่สนใจลองจัดมารุ่นละ 5 – 6 คนอยู่เสมอ
โตเป็นสถานีมืออาชีพ …
ต่อมาเมื่อกลุ่มคนฟังเดิมเริ่มเติบโตขึ้น จบการศึกษาแต่ยังติดตาม Radio In Thailand อยู่ ทำให้รูปแบบรายการเริ่มหลากหลายขึ้น ขยายจากกลุ่มคนฟังที่เป็นวัยรุ่นในยุคแรก และด้วยยอดคนฟัง ณ ช่วงหนึ่งๆ ขึ้นถึงกว่า 3 พันคนสม่ำเสมอ เครื่องแม่ข่ายเซิฟเวอร์กระจายเสียงเริ่มรับภาระไม่ไหว แม้จะมีสปอนเซอร์เป็นเว็บไซต์อื่นบางรายบ้างแล้ว แต่การขยายเครื่องไม้เครื่องมือและความเร็วเน็ตก็ยังเป็นภาระหนัก ทำให้ทั้ง 2 ผู้ก่อตั้งเริ่มมองหาทางออกให้ “โอกาสที่เริ่มกลายเป็นวิกฤต” นี้
Smile Interactive บริษัทผู้ให้บริการระบบ SMS รายใหญ่แห่งหนึ่ง จึงเข้ามาเป็นคำตอบ ด้วยการซื้อกิจการของ Radio In Thailand และได้กลายเป็นแผนกหนึ่งใน Smile SMS ในเครือบริษัทมหาชนด้านสื่อโฆษณาอย่าง Adamas
ผนึกกำลัง SMS + วิทยุ
“ที่ผ่านมาตลาดหลักในธุรกิจ SMS ของเราก็คือสถานีวิทยุ เช่น เครือ อสมท. ที่เอาไว้จัดเกมส์ตอบคำถามเช็กเรตติ้ง” เอกพล ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้จัดการของ Smile Interactive เล่าถึงความเป็นมาของ Smile จะเข้าเทกโอเวอร์ Radio in Thailand
แต่สำหรับการเข้าเทกโอเวอร์ radio.in.th หรือ RIT มาอยู่ใน Smile นั้น เพราะทางเอกพลมองว่า RIT เป็นมากกว่าวิทยุเพราะมีลูกเล่นจากการที่อยู่บนเว็บด้วย สามารถรับส่งได้มากกว่าข้อความ Text ธรรมดา และพูดคุยกับผู้ฟังได้ทีละหลายๆ คนพร้อมกันขณะจัดรายการโดยการ Chat ต่างจากรายการวิทยุ FM, AM เดิมๆ ที่คุยได้ทีละ 1 สายและเวลาจำกัด
“ด้วยลูกเล่นเหล่านี้ ลูกค้าผู้ซื้อโฆษณาจะสร้าง Brand Impact ได้มากกว่า แรงกว่า แถมยังรู้จักผู้ฟังได้มากกว่า กว้างกว่าวิทยุแบบเดิมๆ” เอกพลสรุปอย่างมั่นใจ
จากใจรัก สู่มืออาชีพ …
ปัจจุบัน ณัฐพรกับวิทวัส 2 ผู้ก่อตั้งก็ได้รับตำแหน่ง Product Manager และ Co-product Manager ไป ส่วนทีมนักจัดรายการก็ได้งานเป็นดีเจประจำกันอย่างจริงจังและขยายรับเพิ่มจนตอนนี้มีถึง 16 คนแล้ว
แม้รูปแบบ “Radio 2.0” ที่ผู้ฟังผลัดเวียนกันมาลองเป็นผู้จัดบ้างอาจจะหายไปจาก RIT เพราะต้องก้าวเปลี่ยนมาเป็นสถานีวิทยุเต็มรูปแบบ (บนอินเทอร์เน็ต) แต่รูปแบบเดิมของ TRN นั้น ทุกวันนี้ก็ได้ไปอยู่ในวงการ Podcast ซึ่งกำลังมาแรง แทนระบบเดิมๆ ที่ณัฐพรกับวิทวัสเคยทดลองมาก่อนแล้ว
Did You Know ?
Podcast คือการที่ใครก็ได้สามารถกระจายเสียงที่บ้านโดยใช้แค่ไมโครโฟน อัดเสียงเข้าคอมพิวเตอร์ ส่วนมากในรูปแบบไฟล์เสียงยอดนิยม นามสกุล MP3 จากนั้นส่งไฟล์เข้าเว็บไซต์ ที่หน้าโฮมเพจ หรือพ็อดแคสเพจ โดยผ่านทางซอฟต์แวร์ Feed เสียง เพื่อให้คนฟังเลือกดาวน์โหลดได้ มีทั้งแบบฟังเลย (Stream) หรือแบบดาวน์โหลดไปฟังในเครื่องเล่นพกพา
ปัจจุบันเหล่านัก Podcast มีอยู่มากมายหลายล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่พูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ เลือกเปิดเพลงตามใจ ในเวลาที่ตัวเองสะดวก เป็นงานอดิเรกเท่านั้น มีไม่กี่รายที่มีคนฟังมากแต่แม้จะมากก็ยังเป็นไม่ถึงแสนคนเท่านั้น
คำว่า Podcast มาจากการผสมคำว่า iPod กับคำว่า Broadcast เข้าด้วยกัน และแม้ว่าการ Podcast จะทำได้และฟังได้โดยไม่ต้องใช้ iPod แต่คำนี้ก็ก็ฮิตติดปากคนไปเสียแล้ว ทาง Oxford ถึงกับเพิ่มคำ “Podcast” นี้ให้เป็นศัพท์ใหม่ที่จะถูกระบุอยู่ใน New Oxford American Dictionary เมื่อต้นปีที่ผ่านมา