ธุรกิจการแข่งขันในสมรภูมิ Auto Mobile และธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ในกลุ่ม AEC

ในธุรกิจการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2555 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการกระตุ้นยอดขายจนกระทั่งบางค่ายแทบจะขายไม่ทัน เนื่องจากมีการใช้สิทธิ์ตามโครงการถยนต์คันแรกเป็นจำนวนมาก ทำให้กลยุทธ์ในปี 2555 ธุรกิจยานยนต์ใช้กลยุทธ์ต่อสู้กันทั้ง Above the line และ Below the line กันครบวงจร “ทำให้ความต้องการรถยนต์ในอนาคตถูกดึงไปใช้หมดแล้ว”

ดังนั้นเชื่อมั่นว่าในปี 2556ตลาดการแข่งรถยนต์ภายในประเทศอาจลดลงเล็กน้อย เนื่องจาก Demand ได้ถูกสนองตอบ แต่สิ่งที่จะตามมา คือ “ประเด็นการขาดแรงงานในอนาคต” เพราะในอนาคตเชื่อว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ไปยังทุกประเทศทั่วโลกเนื่องจากศักยภาพของคนไทยยังคงมี

ไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ในเอเชีย หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และทำเศรษฐกิจไทยเติบโตเป็นผู้นำในอาเซียนได้ แม้แต่กลุ่ม CP ยังร่วมทุนกับเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสตรีคอร์ป (SAIC) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในจีน วางแผนผลิตรถยนต์แบรนดระดับโลก MG ป้อนตลาดไทยและตลาดโลก เนื่องจากเชื่อมั่นในความพร้อมของไทย และเชื่อมั่นว่ารถยนต์ MG ที่จะผลิตในไทยและส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกนั้นจะได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่รู้จักและยอมรับในคุณภาพ โดยจะเริ่มทำตลาดในปี 2557

ซึ่ง Brand MG เป็นรถยนต์ที่มีประวัติยาวนานเกือบ 100 ปี โดยมีต้นกำเนิดจากอังกฤษ และ SAIC เข้าไปซื้อกิจการตั้งแต่ปี 2550 และตั้งโรงงานผลิต MG ขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งที่จีน โดยจับตลาดในจีน

เชื่อมั่นว่าธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทยมีโอกาสที่จะเติบโตได้เรื่อยๆ แต่การทำตลาดจะดูจังหวะเป็นช่วงๆ ไป เนื่องจากปี 2555 ที่ผ่านมาการแข่งขันออก Campaign และ Promotionต่างๆ ในธุรกิจยานยนต์ แทบจะใช้กันครบทุกทุกเครื่องมือก็ว่าได้ และทุ่มงบกันแบบเทหน้าตักก็ว่าได้ เนื่องจากผู้บริโภคได้ถูกกระตุ้นด้วยแรงจูงใจตามโครงการรถยนต์คันแรกจากรัฐบาล ดังนั้นในปี 2556 ธุรกิจรถยนต์ขนาดกลาง ขนาดเล็ก อาจจะชะลอการทำตลาด

คงจะต้องจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Marketมากขึ้น หรือกลุ่มรถครอบครัวที่มีราคาค่อนข้างสูงไปเลย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ซื้อด้วยอารมณ์หรือไม่ต้องตัดสินใจมาก หรือ Low Involvement หรือกลุ่มที่จะซื้อเพื่อให้สื่อความหมายในด้านฐานะ ดังนั้นค่ายรถยนต์ต่างๆ อาจจะต้องหา Segment ใหม่ๆ หรือกลุ่มที่จำเป็นที่ต้องใช้รถในด้านอุตสาหกรรมหรือขนส่ง เช่น รถกระบะ รถพ่วง หรือรถบรรทุก

สำหรับกลุ่มที่เป็นเจ้าของรถยนต์คันแรก เมื่อได้รถสิ่งที่ตามมาคือการบำรุงรักษา ซึ่งศูนย์จะต้องตอบรับความต้องการลูกค้าได้มากพอ และการบริการในศูนย์บริการ รวมถึงการมี Service Mind ของพนักงานด้วย ซึ่งจะเป็นการแข่งขันกันอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นศูนย์บริการก็จะเป็นจุดที่ลูกค้าจะไม่ไปใช้บริการที่ศูนย์อื่นซึ่งเป็นศูนย์ทั่วไป

สำหรับในปี 2556 น่าจะเป็นอีกปีที่ผลผลิตสูงสุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกต่อ เพราะในปี 2555 ตลาดในประเทศจะมียอดคงค้างในการส่งมอบรถยนต์คันแรกที่จะส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีโอกาสที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2555 ส่วนช่วงกลางปี 2556 เมื่อค่ายรถเกือบทั้งหมดทยอยส่งมอบรถยนต์ที่คงค้างได้ครบ ยอดขายรถในประเทศจะหดตัวอีกครั้งแต่ไม่กระทบต่อภาพรวมแน่นอน

ปัจจุบันความท้าทายที่สำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิต หรือ Value Chain โดยการเพิ่มมูลค่าโดยเป็นผู้ออกแบบ หรือสร้างสิ่งที่เรียกว่า Innovation หรือนวัตกรรมใหม่ๆ แทนที่จะเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว

ซึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย จะพึ่งพาแรงงานเป็นส่วนใหญ่ (Labor Intensive) และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่าชิ้นส่วนรถยนต์ที่อาศัยเทคโนโลยีและความรู้ชั้นสูง (Knowledge Based Intensive) จะเป็นบริษัทต่างชาติหรือต้องนำเข้าทั้งสิ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมของไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพคนไทยให้ได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติมากนัก

“ในการทำอุตสาหกรรม หรือ ธุรกิจใดๆ จะต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า Innovation จนไป ถึง Evolution และ Revolution ให้ได้ โดยไม่จมอยู่กับวิธีการเดิมๆ”