มาแว้ว…สี่ล้อพันธุ์จีน

ฮือฮา และกลายเป็น Talk of the town ไม่น้อย เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี.ประกาศจะนำเข้ารถยนต์สายพันธุ์จีนเข้ามาตีตลาดในเมืองไทยช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะรุ่น “เชอรี่” ซึ่งวางโพสิชันนิ่งให้เป็นรถยนต์ราคาถูก เริ่มต้นเพียงสามแสนเศษ และเน้นจุดขายความเป็น “อีโคคาร์” หรือรถประหยัดพลังงานที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจเมืองไทย มองในเชิงการตลาดแล้ว ถือเป็นวิธีการเดินเกมเข้ามาในตลาดรถที่น่าสนใจไม่น้อย ท่ามกลางอุปสงค์หดหาย และกระแสรถประหยัดพลังงาน

1.
จะดีหรือไม่ก็ตาม สำหรับรถยนต์สายพันธุ์จีนทั้งรุ่นเชอรี่ คิวคิว และรถอเนกประสงค์ ทิกโก้ ที่ซี.พี.จะนำเข้ามานำร่องในตลาดเมืองไทย ถ้ามองในเชิงการตลาด ถือว่าน่ากลัวไม่น้อยในการนำรถราคาถูกเข้ามาตีตลาดในช่วงนี้

เนื่องจากเป็นจังหวะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไม่โสภาสถาพร ผู้บริโภคโดยรวมกำลังซื้อลด หรือดีมานด์หดหาย ยิ่งลองไปถามค่ายรถต่างๆ ช่วงนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนื่อยหนัก และยอดขายรถยนต์เกือบทุกรุ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ซี.พี.อาจเห็นจังหวะช่วงนี้ในการบุกตลาดรถ โดยเฉพาะรุ่นเชอรี่ คิวคิว ถือเป็นรถรุ่นประหยัดยอดนิยมของจีน ซึ่งตลาดในจีนถือเป็นรถที่มีการวางโพสิชันนิ่งชัดเจนว่าสุดประหยัด เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยเรียน และเริ่มต้นทำงานที่ยังมีเงินไม่มาก เน้นการใช้งานในเมือง หรือขับขี่ในระยะทางไม่ไกลมากนัก

เชอรี่ คิวคิว เป็นรถไซส์เล็ก ขนาดเพียง 850-1100 ซีซี เร่งความเร็วสูงสุดได้ 130 กม./ชม. มีดีไซน์คล้ายรถมินิ คันเล็กๆ ป้อมๆ เน้นโค้งมนทั้งไฟหน้าและไฟท้าย บางคนเปรียบเปรยว่าเป็นรถการ์ตูน มีการตกแต่งที่ดูกะทัดรัด เก๋ไก๋ เหมาะสมกับคนหนุ่มสาว เด็กวัยรุ่น

ขณะที่อีกรุ่นหนึ่ง คือ ทิกโก้ รถยนต์อเนกประสงค์ ดีไซน์คล้ายๆ ซีอาร์วี ของฮอนด้า ขนาด 1597 ซีซี ราคาเริ่มต้นที่ 700,000-800,000 บาท เน้นจับกลุ่มครอบครัว เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ ซี.พี. มองว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่คนชอบรถใหญ่ หรูหรา ประเภทลุยๆ แต่ราคาประหยัด

2.
รุ่นเชอรี่ ซี.พี. เชื่อว่าจะเป็นแบรนด์ที่ยอดฮิตต่อไปในอนาคต ดังคำพูดของธนากร เสรีบุรี ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไปของซี.พี. กล่าวว่า ด้วยชื่อที่จดจำง่าย และความเป็นรถชั้นนำราคาสุดประหยัดในจีน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รถรุ่นนี้จะเข้ามาทำตลาดเมืองไทยได้รวดเร็ว

ทั้งนี้รถที่จะนำเข้า เป็นผลผลิตจากบริษัท เชอร์รี ออโตโมทีฟ คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของจีน โดยการนำเข้าครั้งนี้ ซี.พี.จะทำในรูปแบบการร่วมทุน เข้ามาจัดตั้งบริษัท และเปิดโชว์รูมบริการหลังการขายในไทย เบื้องต้นจะเน้นเปิดโชว์รูมใน 3 จังหวัดหลัก คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต

การนำเข้ารถช่วงแรก จะนำเข้าจากโรงงานเชอรี่ที่ประเทศอินโดนีเซียก่อน ในอนาคตจะนำชิ้นส่วนรถมาผลิตที่ประเทศไทยเองต่อไป ทำให้ราคารถอาจถูกลงอีก

มองในเรื่องกลยุทธ์ราคาถูกน่าสนใจยิ่ง แม้เชอรี่ในจีนจะมีหลายคนบอกว่ามีราคาเทียบกับเงินบาทไทยเพียงหนึ่งแสนบาท แต่มาขายในไทย 3 แสนกว่าบาท อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าถูกกว่ารถยนต์ญี่ปุ่น แต่หากปล่อยให้เชอรี่ทำตลาดต่อไป ไม่แน่ค่ายรถญี่ปุ่นจะหันมาสร้างตลาดอีโคคาร์ เกิดกระแสรถราคาถูกประหยัดพลังงาน สร้างผลดีกับผู้บริโภค

3.
ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ถึงการสร้างตลาดรถยนต์ของซี.พี.ครั้งนี้ อาจมองได้ว่า การใช้กลยุทธ์ราคาถูกนั้น ซี.พี.พยายามใช้ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากองค์กรชื่อดังของจีนมาเป็นจุดขาย เพื่อรับประกันว่าสินค้าของจีนนั้นไม่ได้มีราคาถูกอย่างเดียว แต่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการใช้งานด้วย

กลยุทธ์การขายที่ซี.พี.มองไว้อีกคือ การคืนเงินให้กับลูกค้าหากไม่พอใจกับคุณภาพรถ หรือมีเครื่องยนต์ชำรุด ใช้ไปไม่เท่าไรต้องเข้าอู่บ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของสินค้ายังเป็นภาพที่คนไทยยังติดกับภาพลบ โดยหลายคนมองว่าสินค้าจีนถูกแต่ไม่ค่อยมีคุณภาพเพียงพอ ยิ่งเป็นรถยนต์ ยิ่งไม่ค่อยมีใครกล้าเสี่ยง เห็นได้ชัดจากการตั้งกระทู้ผ่านเว็บไซต์ มีมากมายหลายคำถามว่า รถยนต์พันธุ์จีนจะดีหรือ ควรเสี่ยงหรือไม่

ฉะนั้น การสื่อสารด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือ เป็นจุดสำคัญที่ซี.พี.จำเป็นต้องหันมาสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นให้รวดเร็วที่สุด
การบ้านชิ้นนี้ซี.พี.ต้องนำไปคิด และถ้ามองในเรื่องของแบรนด์แล้ว ชื่อเสียงของซี.พี.ย่อมเป็นเครื่องหมายการันตีอย่างหนึ่งว่า เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างซี.พี.กล้าขาย ผู้บริโภคก็กล้าซื้อ

รุ่น เชอรี่ คิวคิว
ขนาด 850-1100 ซีซี
ราคา 3.2 – 4 แสนบาท
จุดขาย รถไซส์เล็ก ราคาถูก ประหยัดน้ำมัน

รุ่นทิกโก้
ขนาด 1500 ซีซี
ราคา 700,000-800,000 บาท
จุดขาย รถหรูอเนกประสงค์ ราคาถูก

ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม www.cheryglobal.com