เจาะขอบสนาม “แม้ว ซิตี้” เทกโอเวอร์ บันลือโลก

ด้านหนึ่งของการตัดสินใจซื้อทีมสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” มองในเชิงธุรกิจ การเลือกทีมนี้ไม่ธรรมดา เพราะทั้งผลประกอบการ รายได้ สนาม และที่สำคัญแฟนบอลเมืองแมนเชสเตอร์มีจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ขณะอีกด้านหนึ่งเป้าหมายของทักษิณย่อมไม่แตกต่างจากภาพนักธุรกิจที่มีรอยมลทิน ซึ่งต้องการซักรอยเปื้อนนี้ออก หวังว่าการอยู่ในที่สว่างจะช่วยสร้างแบรนด์ใหม่ให้ตนเอง

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจแฝงนัยที่ซ่อนเร้นของทักษิณ ชินวัตร ในการเข้าเทกโอเวอร์ร์ทีมเรือใบสีฟ้า สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยเงินกว่า 7 พันล้านบาท

มองในเชิงธุรกิจ การลงทุนครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แม้จะช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทีมนี้จะกลายเป็นทีมระดับแถวกลางๆ และล่างๆ ของตารางพรีเมียร์ลีก แต่เกียรติประวัติอันยาวนานของทีม เคยเป็นแชมป์ลีกสูงสุดถึง 2 สมัย แชมป์เอฟเอคัพถึง 4 สมัย แชมป์ลีกสมัยอีก 2 สมัย และแชมป์ ยูฟ่าคัพ วินเนอร์คัพ 1 สมัย จึงเป็นอีกหนึ่งในทีมสโมสรอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร

ยิ่งหากมองลงลึกไปถึงปัจจัยด้านผลประกอบการของทีม ย่อมต้องอดแปลกใจไม่น้อยที่ เรือใบสีฟ้าทีมนี้ติดอันดับที่ 17 ในนิตยสาร Forbes ได้รับการสำรวจแล้วพบว่า เป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ร่ำรวยทีมหนึ่งในแถบยุโรป

ข้อมูลล่าสุดจากตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษ ปัจจุบันบริษัท แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่า 22.72 ล้านปอนด์ (ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2550) ล่าสุด มีกำไรก่อนหักภาษี จากผลประกอบการ ในรอบ 1 ปีหลัง สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ราว 16.97 ล้านปอนด์ มีหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ราว 54 ล้านหุ้น

จะเห็นชัดว่าเป็นสโมสรที่ทำกำไรสูงในระดับที่น่าพอใช้ ยิ่งเปรียบเทียบกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกเอง ถือว่าอยู่ในท็อปเท็นที่มีภาพธุรกิจที่สดใส และน่าลงทุนอย่างมาก

ยิ่งหากมองอนาคตโอกาสทางธุรกิจ สนาม “ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์” เป็นตัวชี้วัดได้ดี ซึ่งเป็นสนามเหย้าในปัจจุบันของแมนเชสเตอร์ ถือว่ามีความโอ่อ่า ทันสมัยที่สุด มีความจุถึง 48,000 ที่นั่ง โดยเช่าจากสภาเมืองแมนเชสเตอร์ ใช้เงินอีกราว 35 ล้านปอนด์ ในการปรับปรุงสนาม หลังจากเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ ในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002)

ขณะเดียวกัน ประชากรในเมืองแมนเชสเตอร์ส่วนใหญ่ ล้วนเป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ของทีมเรือใบสีฟ้า คลั่งไคล้กันแบบจากรุ่นปู่ย่ามาถึงรุ่นลูกหลาน แม้ในปัจจุบันทีมร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจะยิ่งใหญ่กว่า แต่ทีมเรือใบสีฟ้าถือเป็นทีมต้นตระกูลของเมืองแมนเชสเตอร์ มีเกียรติประวัตินับร้อยปี

เมื่อพิจารณาถึงสนาม และแฟนบอล ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นสโมสรฟุตบอลที่น่าลงทุน และใช้เงินลงทุนไม่สูงเกินไปนัก หากเปรียบกับทีมชั้นนำอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด , อาร์เซนอล และลิเวอร์พูล

“ผมมองว่าน่าลงทุนนะ คุณทักษิณเป็นนักธุรกิจ ที่ต้องศึกษาและมองโอกาสของหลายๆทีมมาอย่างดี อย่างครั้งหนึ่ง เขาเล็งไปที่สโมสรสเปอร์ ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินสูงมาก สุดท้ายเขาเลือกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ผมว่าเป็นสโมสรที่กำลังพอดี อยู่กลางๆ แต่มีโอกาสทางธุรกิจสูง หากมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะที่ผ่านมาทีมนี้ขาดผู้จัดการทีมที่ดี จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ทีทไม่ประสบความสำเร็จ” สรุพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ ให้ความเห็น

ดังนั้นหากพิจารณาในแง่การลงทุน การซื้อกิจการแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของทักษิณ ชินวัตร จึงมีน้ำหนักสำคัญอยู่ที่ว่า ที่ใดมีแรงจูงใจที่ดี มีปัจจัยเอื้อต่อผลตอบแทน ย่อมเป็นเหตุผลที่นักธุรกิจจะต้องเข้าไปหาโอกาส

ทว่า อีกด้านหนึ่งของการตัดสินใจลงทุนซื้อทีมฟุตบอลจากเกาะอังกฤษ มีภาพลึกๆ นัยที่ถูกมองว่า งานนี้ทักษิณต้องการซักล้างภาพลักษณ์รอยมลทินของตัวเอง ในแง่ของนักการเมืองด้านมืด มีการกล่าวหาถึงการทุจริต อย่างน้อยๆ เขาเชื่อว่ากีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอลอาจเป็น “ผงซักฟอก” ที่ล้างรอยมลทินได้บ้าง

ยิ่งในขณะเกมถ่ายทอดสด กล้องถ่ายทอดที่โฟกัสไปที่ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะเจ้าของทีม ย่อมเป็นกระบวนการหนึ่งของการแบรนดิ้งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นภาพลักษณ์ใหม่ในที่สว่างของภาพนักลงทุนระดับโลก ซึ่งขับเคลื่อนอยู่ในสนามฟุตบอล

ความสำเร็จของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในฤดูกาลใหม่ 2007-2008 จึงเป็นที่เฝ้าจับตาของคนในอังกฤษ โดยเฉพาะดึงตัวตัว สเวน โกรัน อีริกสัน ยอดกุนซือระดับโลก ชาวสวีเดน มาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ และเตรียมให้เงินกว่า 50 ล้านปอนด์ในการช้อปปิ้งนักเตะใหม่ๆ เข้าทีม เป็นภาพลักษณ์ของเรือใบสีฟ้าที่รอการพิสูจน์ความสำเร็จกันต่อไป

…ปรากฏการณ์การซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ครั้งนี้ของทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นเกมร้อนซ่อนปม ที่โด่งดังระดับโลกจริงๆ

ลำดับเหตุการณ์ ทักษิณ ชินวัตร เทกโอเวอร์
– เดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ทีมได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีที่มีผู้จะเข้ามาซื้อกิจการของสโมสร โดยมี เรย์ แรนสัน อดีตนักฟุตบอลของทีม ยื่นความจำนงไว้
– เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 มีกระแสข่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อสโมสร ด้วยมูลค่าประมาณ 108 ล้านปอนด์ พร้อมงบประมาณในการซื้อตัวนักฟุตบอลมาเล่นให้กับทีมอีก เป็นจำนวน 50 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 158 ล้านปอนด์
– เดือนพฤษภาคม ข่าวทักษิณ สนใจซื้อกิจการของสโมสร ได้รับการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง ทั้งทางสำนักข่าว และสื่อมวลชนต่างๆ โดยมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ
– เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ทักษิณได้กลายเป็นเจ้าของสโมสรด้วยการถือหุ้นสโมสร 75 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับการเปิดตัว สเวน โกรัน อีริกสัน ยอดกุนซือระดับโลก ชาวสวีเดน ผู้จัดการทีมคนใหม่

ประวัติทีม
สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ (Manchester City Football Club) ฉายา เรือใบสีฟ้า ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) เดิมใช้ชื่อทีมว่า “เซนต์ มาร์กส์ (เวสต์ กอร์ตัน)” ต่อมาในปี ค.ศ. 1893 -1894 มีการปฏิรูปทีมครั้งใหญ่หลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก เปลี่ยนชื่อมา เป็น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ฟุตบอล คลับ จนถึงปัจจุบัน

ผลงานของทีม
เป็นแชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) และ พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) แชมป์เอฟเอคัพ 4 สมัย แชมป์ลีกคัพ 2 สมัย และเป็นแชมป์ ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ อีก 1 สมัย แต่หลังจากเป็นแชมป์ลีกคัพ ในปี พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) พวกเขาก็ไม่ได้ขึ้นถึงตำแหน่งแชมป์ ในรายการสำคัญอีกเลย และยังมีผลงานไม่ค่อยดีนักมาตลอด โดยเฉพาะ ในช่วงปี พ.ศ. 2530 พวกเขาต้องตกชั้น 2 ครั้ง ในรอบ 3 ปี จนลงไปอยู่ในดิวิชั่น 3 เดิม อยู่ถึง 1 ปี อย่างไรก็ตาม ทีมก็สามารถกลับขึ้นมาสู่ลีกสูงสุด และยังคงรักษาตัวไว้ได้อย่างมั่นคง มาจนถึงฤดูกาลล่าสุด แม้ผลงานของทีมมักอยู่ในช่วงกลางตาราง ค่อนไปทางท้ายก็ตาม โดยจบ ฤดูกาล 2006-2007 ในอันดับที่ 14 ของพรีเมียร์ลีก

การบริหารทีม
สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ บริหารทีมในรูปแบบของบริษัท แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่า 22.72 ล้านปอนด์ (ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2550) ล่าสุด มีกำไรก่อนหักภาษี จากผลประกอบการ ในรอบ 1 ปีหลัง สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ราว 16.97 ล้านปอนด์ ก่อนหน้าที่ทักษิณ ชินวัตรจะเข้าไปซื้อกิจการ มีหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 54 ล้านหุ้น มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือ จอห์น วอร์เดิล ประธานสโมสรคนปัจจุบัน และเดวิด มาคิน ซึ่งถือหุ้นรวมกัน มีจำนวนถึงร้อยละ 29.95 รองลงมา ได้แก่ สตีเฟน โบเลอร์ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 18.75 บริติช สกาย บรอดคาสติ้ง ร้อยละ 9.88 และ ฟรานซิส ลี อดีตประธานสโมสร ร้อยละ 7.13 ส่วนหุ้นที่เหลือกระจายอยู่กับผู้ถือหุ้นรายย่อยนับพันราย