จากทีวีขนาดใหญ่ มาสู่จอทีวีแบนราบ “แอลซีดีทีวี” ผสมกลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีไว้แค่ชมรายการเท่านั้น แต่ได้กลายเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ที่สามารถไปอยู่ได้ทั้งในห้องทำงาน ห้องนอน ห้องน้ำ ในห้างสรรพสินค้า แม้แต่ในงานนิทรรศการ
ช่วงปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า LCD TV เป็นหนึ่งในสินค้าไม่กี่ชนิด ที่เติบโตสวนทางกับสภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจ …นับสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันรุนแรงสูงที่สุดตัวหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
LCD TV โตแบบก้าวกระโดด
ว่ากันว่าปี 2005 เป็นปีของพลาสม่าทีวี ส่วนปี 2006 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2007 เป็นปีของ แอลซีดีทีวี ซึ่งน่าจะเป็นจริง เนื่องจากมีปริมาณความต้องการมากแบบ ”ก้าวกระโดด” ด้วยราคาที่ถูกลงทั้งจากโปรโมชั่นและจำนวนผลิตที่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนการซื้อชิ้นส่วนจาก Supplier สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลง
ปัจจุบัน สัดส่วนผู้ใช้ CRT TV หรือทีวีจอแก้ว ในเมืองไทยยังเป็นตลาดกลุ่มใหญ่อยู่ถึง 90% ดังนั้น จึงมีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับ Flat panel อย่าง LCD และ Plasma TV ที่จะขยายการเติบโตไปได้อีกมาก ในขณะที่บางประเทศในภูมิภาคเช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลียที่มีอัตราส่วนผู้ใช้ CRT TV หลงเหลืออยู่เพียง 10-20%เท่านั้น
แอลซีดีทีวีในวันนี้จึงไม่ได้มีไว้แค่ชมรายการโทรทัศน์ หากแต่ได้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่สำหรับคอนโดมิเนียม ชานชาลารถไฟฟ้า หรือแม้แต่ในห้องน้ำศูนย์การค้ากลางเมือง
Get to know LCD TV
เลือก LCD TV อย่างไร ถึงโดนใจ
“แอลซีดี ทีวี” ที่มีอยู่ในท้องตลาดเวลานี้ มีให้เลือกยี่ห้อ และรุ่น ที่แตกต่างกันไป มาดูกันว่า ถ้าจะเลือกซื้อแอลซีดีทีวีแล้วต้องดู “ฟังก์ชัน” ใดบ้าง
หน่วยประมวลผลภาพ
LCD TV แต่ละแบรนด์ต่างมุ่งความพยายามไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลบจุดด้อยในด้าน ”ภาพ” เป็นหลัก อาทิ คุณภาพของ ”ภาพเคลื่อนไหว” ที่ต้องคมกริบ ไม่พร่ามัว “ความสมบูรณ์ของภาพ” ที่ต้องไม่แตกระหว่างรอยต่อของพิกเซล และ ”สีสัน” ที่ปรากฏต้องใกล้เคียงสีธรรมชาติที่สุด
ต้องดูกันที่หน่วยประมวลผลภาพ หรือ Processor ก่อนเป็นลำดับแรก โดยที่แต่ละแบรนด์จะมีชื่อทางการค้าของหน่วยประมวลผลภาพที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่
ค่าย Samsung ใช้ชิพที่มีชื่อว่า ”DNle” มีคุณสมบัติให้สีสันสดใส ส่วนค่าย Sony ใช้ชิพ “Bravia Engine” ระบุว่า ให้สีสัน ”จัดจ้าน” กว่าปกติ ค่าย Philips “Pixel Plus 2” ซึ่งอ้างว่าเป็นเทคโนโลยีการแสดงผลภาพที่ดี การันตีจากสมาคมภาพและเสียงยุโรป (EISA) ส่วน Panasonic ใช้ “ V-real II” เป็นทั้ง Processor และ Driver ระบุว่า พัฒนามาจาก ”กล้องถ่ายภาพ” ความละเอียดสูง ส่วน LG ใช้ชื่อชิพ “XD Engine”
ขนาดจอภาพ
เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่แต่ละค่ายสร้างทางเลือกให้กับลูกค้าแตกต่างกันไป
คุณสมบัตินี้ Samsung ได้ทั้งในเรื่องของความ ”หลากหลาย” และ ”ขนาดใหญ่” ที่สุด คือมีตั้งแต่ 26, 32, 37, 40, 46 จนถึง 52 นิ้ว รองลงมาคือ โซนี่ และแอลจี โซนี่นั้นมีให้เลือกตั้งแต่ 26, 32, 40 และ 46 นิ้ว ส่วนแอลจี เริ่มตั้งที่ขนาด 32, 37, 42 และ 47 ตามมาด้วย ฟิลิปส์ มีขนาดตั้งแต่ 32, 42 และ 47 พานาโซนิค มีให้เลือก 2 ขนาด คือ 32 และ 36
ความละเอียดของภาพ
ส่วนใหญ่ LCD TV แบรนด์ดังๆ ในท้องตลาดจะมีความละเอียด 2 ระดับ ได้แก่
HD (High Definition) : มีความละเอียดระดับ ”สูง” ที่ 1.1 เมกะพิกเซล และ Full HD (Full High Definition) มีความละเอียดระดับ ”สูงเต็มรูปแบบ” 2.1 เมกะพิกเซล
ถ้าเป็นแอลซีดีทีวี ส่วนใหญ่จะมีความละเอียดระดับ HD ยกเว้นรุ่นจอขนาดใหญ่ จึงจะมี Full HD เช่น Samsung – Art of Perfection / Sony –X series / Philips-Premium Style (เฉพาะรุ่นขนาด 47 นิ้ว) / LG-Full HD 1080p
Effect ภาพ 3 มิติ
การถ่ายทอดสัญญาณภาพในระบบ 3 มิติ ส่งผลให้ภาพมีความคมชัดสมจริง สีสันจัดจ้านกว่าการชม LCD TV ในโหมดปกติอย่างเห็นได้ชัด คุณสมบัตินี้ มีใน Samsung ในตระกูล ”Art of Perfection” และ Philips ตระกูล “Cineos” และ Panasonic LX 700
ช่องเชื่อมต่อสัญญาณดิจิตอล
โดยปกติ LCD TV มีช่องต่อสัญญาณดิจิตอลแบบ “HDMI” เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ดิจิตอลอื่นๆ ผ่านสายเคเบิลได้ อาทิ เครื่องเล่นดีวีดี กล้องวิดีโอดิจิตอล โฮมเธียเตอร์ เป็นต้น แต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์จะมี ”จำนวน” ช่องต่อ HDMI ที่ลดหลั่นกันลงไป โดย Samsung ในรุ่น FULL HD M8 และ Bordeaux Plus ได้เปรียบในด้านจำนวนช่องต่อสัญญาณมากที่สุดถึง “3 ช่อง”
PC Input
เป็นฟังก์ชันของ LCD TV ที่มีช่องต่อเชื่อมกับ ”คอมพิวเตอร์ PC” เพื่อเป็น ”จอมอนิเตอร์”ได้ทันที ประโยชน์คือ สามารถเห็นขนาดภาพที่ใหญ่กว่าการใช้จอคอมพิวเตอร์ นิยมใช้ในการนำเสนอแผนงานหรือฝึกอบรม ด้วยมีความคมชัดของภาพมากกว่าการฉาย
Projector
“Sony Bravia”และ “Samsung” เป็น 2 แบรนด์ที่มีฟังก์ชันนี้ในทุกซีรี่ส์ของผลิตภัณฑ์ที่ทำการตลาด ในขณะที่ Philips เลือกใส่ฟังก์ชันนี้ลงไปเฉพาะซีรี่ส์สำหรับเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ดิจิตอล อาทิ การเล่นเกมออนไลน์ ส่วน Panasonic มอง ”กลับกัน” ช่องเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จึงมีปรากฏในรุ่น Hi-end อย่าง LX 700 เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ
อัตราส่วนความคมเข้ม (Contrast Ratio)
ความสามารถในการแสดง ”ความต่าง” ของเฉดสี แต่ละรุ่นจะมี “อัตราส่วนความคมเข้ม” ที่แตกต่างกันตามราคา ยิ่งมีอัตราส่วนความคมเข้มสูง จะทำให้โทนสีดำมีความเข้มขึ้น และให้สีขาวที่ขาวกว่าเดิม โดยสีเทา จะถูกลดทอนลงตามสัดส่วน “Samsung M8” ในตระกูล Art of Perfection นับเป็น LCD TV ที่มีอัตราส่วนความคมเข้มสูงที่สุด ด้วยอัตรา 15,000:1
ระบบเสียง
SRS TSXT (SRS TruSurround XT) คือ ระบบเสียงรอบทิศทางในตัวแบบ ”3 มิติ” ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท SRS Labs เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นจากความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยน ”ความถี่” ของเสียง กับ ”ความสามารถของหู” ที่จะหาทิศทางของเสียง ช่วยขยายเสียงเซอร์ราวด์ให้กว้างขึ้น ขยายเสียงอะคูสติกให้ชัดเจน
Virtual Dolby Pro Logic II ระบบ ”จำลอง” เสียงรอบทิศทางในตัว โดยบริษัท Dolby พัฒนามาจากระบบจำลองเสียง 2 เสียง (ซ้าย-ขวา) เป็น 5 ช่องทางเสียง
Virtual Dolby Surround ระบบ ”จำลอง” เสียงรอบทิศทางในตัว โดยการสร้างเสียงจากด้านข้าง (ปกติเสียงรอบทิศทาง ”แท้” คือเสียงที่มาจากทางด้านหลัง)
Brand Highlights
นอกจากคุณสมบัติข้างต้นที่ถือเป็นพื้นฐานแล้ว แต่ละแบรนด์ยังพยายาม “เพิ่มคุณสมบัติ” บางด้าน เพื่อสร้างจุดขายใหม่ที่แตกต่างกันไป
Samsung ชูเรื่องของอุปกรณ์เสริม “Auto Wall Mount” สำหรับแขวน LCD TV เข้ากับผนัง ความพิเศษอยู่ที่สามารถปรับหมุนได้อัตโนมัติ โดยใช้รีโมทคอนโทรล ขณะเดียวกัน ตัวเครื่องในตระกูล S8 มีแสงระบบ “Blue Light Effect” ด้วยหลอดไฟ ”สีน้ำเงินคริสตัล” ช่วยให้สบายตาขณะชมโทรทัศน์
Panasonic แสดงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยแผงด้านหน้าของ ”ลำโพง” ที่ใช้ ”เส้นใยจากไม้ไผ่” เป็นวัสดุ
Sony นำรุ่น “S Series” ที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นตัวบุกตลาด ดึงดูดผู้บริโภคด้วย ”สีสันที่หลากหลาย” ของตัวเครื่อง ได้แก่ สีเงิน สีขาว สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ ในขณะที่ตระกูลพรีเมียมอย่าง “X Series” มีดีไซน์หน้าจอแบบ ”กระจกลอย” ทำให้ ”กรอบจอ” สามารถ ”ถอดเปลี่ยน” ได้ 3 สี ได้แก่ ขาว แดง และน้ำเงิน
LG Hard Disk ในตัวขนาด 80GB ของตระกูล “Time Machine TV” ทำให้ผู้ใช้สามารถ ”บันทึก”รายการโทรทัศน์ได้นาน 20-33 ชั่วโมง โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องบันทึกภายนอก
Philips ชูจุดเด่น เทคโนโลยี “Ambi light” ในซีรี่ส์ “Cineos” ที่ให้แสงสว่างจากด้านหลังตัวเครื่อง ผู้ใช้สามารถปรับ ”แสงและสี” ให้เข้ากับผนังของห้องได้ตามความชอบ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วย ”ลดอาการเมื่อยล้าทางตา” จากการจ้องดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน แต่ยัง ”ตอบโจทย์” ในด้านดีไซน์ ด้วยแสงที่เป็นเสมือน Backlight ช่วยขับให้ LCD TV กลายเป็นกรอบภาพวาดชิ้นงามในบ้าน