ไม่บ่อยนักที่ “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ” จะบริหารงานโดยเอกชน แถมเป็นเอกชนข้ามชาติด้วย อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ “อังกอร์” เมืองเสียบเรียบ ที่ตั้งของนครวัด ที่รัฐบาลกัมพูชาได้มอบหมายให้ตระกูลวิไลลักษณ์ เจ้าของกลุ่มบริษัทสามารถของไทย เป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้างและบริหาร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในเมืองที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
Angkor National Musem หรือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ จึงเป็นความจริงล่าสุดจากความฝันของ “เจริญรัฐ” และพี่น้องตระกูล “วิไลลักษณ์” ในประเทศกัมพูชา ภายใต้บริษัทวิไลลักษณ์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง ที่เข้าไปรับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในการก่อสร้าง และบริหารพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่จังหวัดเสียมเรียบ เป็นเวลา 30 ปี หลังจากนั้นจึงส่งมอบให้รัฐบาลกัมพูชา
เป็นการผสานความชอบส่วนตัวของ “เจริญรัฐ วิไลลักษณ์” ที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และการสะสมพระ กับความเป็นไปได้ในด้านผลตอบแทนทางธุรกิจ และเพื่อประเทศกัมพูชาอย่างลงตัว
“เจริญรัฐ” มองว่า ประวัติศาสตร์มีคุณค่าต่อคนรุ่นหลัง ส่วนการเข้ามาที่นี่แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรามองว่าที่นี่ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ การสร้างสำหรับที่นี่ก็เป็นประโยชน์สำหรับประเทศนี้ เพราะนอกจากสร้างให้เป็นแหล่งรวมโบราณวัตถุที่มีค่าของที่นี่แล้ว การนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ผู้ชมเพลิดเพลินมากขึ้น
“เจริญรัฐ” เล่าว่า เสียมเรียบ มีนครวัด-นครธม สุดยอดของสิ่งมหัศจรรย์ของโลก มีนักท่องเที่ยวปีหนึ่งประมาณ 1 ล้านคน จึงมั่นใจว่าพิพิธภัณฑ์ที่ครอบครัววิไลลักษณ์รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาดำเนินการจะเป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว และได้ผลตอบแทนทางธุรกิจในระดับหนึ่ง
เป้าหมายคือต้องการทำพิพิธภัณฑ์ให้มีมาตรฐานระดับสากล เป็น World Class 1Museun โดยคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาชมพิพิธภัณฑ์ปีละประมาณ 20-30% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคนที่มาเที่ยวเสียมเรียบ และภายใน 3-5 ปีจะคุ้มทุน จากวงเงินลงทุนประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เงินกู้จากธนาคารกรุงไทย โดยรายได้ส่วนหนึ่งมาจากบัตรค่าชม ที่กำหนดไว้ประมาณ 10 เหรียญ อีกส่วนหนึ่งมาจาก Cultural Mall ศูนย์จำหน่ายสินค้าที่ระลึก และบริการอาหารแก่นักท่องเที่ยว
ค่ำคืนหลังทัวร์พิพิธภัณฑ์แล้ว “เจริญรัฐ” มีโอกาสต้อนรับแขกคนสำคัญ CHANTHOL SUN รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณะและขนส่ง พร้อมกับยังได้แนะนำให้สื่อมวลชนได้รู้จัก พูดคุยอย่างเป็นกันเองอีกรอบ
“เจริญรัฐ” ย้อนหลังให้ฟังถึงการบุกเบิกเข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชาเมื่อ 15 ปีแล้วว่า “ยังยิงกันอยู่เลย แต่ที่ตอนนั้นตัดสินใจมา เพราะเห็นโอกาส อยู่ใกล้เมืองไทย เราคิดว่าเมื่อไปลงทุนที่ไหนก็ต้องคิดว่าเราสามารถแข่งได้ จะไปจีนเหรอ”
ส่วนคอนเนกชั่นที่หลายคนมองว่าครอบครัวนี้สัมพันธ์แน่นหนากับคนในรัฐบาลกัมพูชานั้น “เจริญรัฐ” บอกเพียงว่า “คนรู้จักเหรอ ไม่ได้มีมาก่อน แต่มาลงทุนแล้วก็มาหาเอาที่นี่”
ไหนๆ ก็มีโอกาสให้ทั้ง “เจริญรัฐ” และรัฐมนตรีของกัมพูชาอยู่ด้วยกันแล้ว ทั้งคู่ต่างชื่นชมซึ่งกันและกัน โดย “เจริญรัฐ” บอกว่า ท่าน CHANTHOL SUN เป็นคนเก่ง ผ่านประสบการณ์การทำงานมากมาย และที่สำคัญคือปฏิเสธของกำนัลเสมอ ส่วนรัฐมนตรีเองก็บอกว่า “เจริญรัฐ” เป็นคนตรง และครอบครัวนี้ก็น่ารักกันทุกคน
ภารกิจของ “เจริญรัฐ” ในฐานะกัปตัน วันนี้จึงดูเหมือนว่ากำลังไปได้สวยและลุล่วงด้วยดี เติมเต็มความหวังที่ให้ “กัมพูชา” คือบ้านที่สองทางธุรกิจของกลุ่มสามารถฯ รวมทั้ง “ครอบครัววิไลลักษณ์” ทุกคน
แม้กระทั่งบิ๊กโปรเจกต์ล่าสุดอย่าง “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์” ที่ไม่เพียงนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสคุณค่าทางประวัติของอาณาจักรขอมโบราณเท่านั้น แต่ของแถมที่ปฏิเสธไม่ได้คือการได้สัมผัสความรู้สึกนึกคิดของคนไทยกลุ่มนี้ในนามครอบครัว “วิไลลักษณ์” ที่ถ่ายทอดผ่านทุกตารางเมตรบนพื้นที่ “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์”