พิษบาทแข็ง

เงินบาทแข็งค่า กำลังกลายเป็น “บทเรียน” ครั้งใหญ่ ที่คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้ อะไร คือต้นตอของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยต้องตกต่ำ ถึงขั้นที่ภาคส่งออกของไทยต้องทยอยปิดโรงงาน คนตกงานนับหมื่นคน พิษสงของค่าเงินบาทยังส่งผลให้ ยอดโฆษณาหดหาย ยอดขายรถยนต์ต่ำ ธุรกิจท่องเที่ยวออกอาการโคม่า เพราะเหตุใด ยาแก้พิษเงินบาทของแบงก์ชาติจึงใช้ไม่ได้ผล และดูเหมือนว่าอาการไข้ของพิษบาทแข็งกลับยิ่งทรุดหนัก ยิ่งมาเจอแรงปัญหา สินเชื่อบ้าน Subprime ของสหรัฐอเมริกา ที่ซัดกระหน่ำไปทั่วโลก ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยต้องมาค้นหาตัวเองเพื่อกำหนด Positioning ใหม่ในการหาที่ยืนบนโลกใบนี้

พนักงานกว่า 6 พันคน ที่เคยตื่นเช้า เข้าโรงงานเพื่อทำงานทุกวัน เป็นอย่างนี้มานานนับ 10 ปีที่โรงงานไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต ย่านสมุทรปราการ แต่สำหรับตั้งแต่เช้าวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 พวกเขาถูกเลิกจ้าง!

ขณะที่เจ้าของโรงงานไทยศิลป์ฯ ออกมาแถลงพร้อมน้ำตาถึงภาระที่รับไม่ไหวกับการรับออเดอร์ผลิตชุดกีฬาให้กับ ”ไนกี้ และอาดิดาส” ทั้งที่ผลิตให้นานนับสิบปี แต่นานเกือบปีแล้วที่สู้ต้นทุนไม่ได้กับคู่แข่ง และปัญหา “ค่าเงินบาทแข็ง” ทำให้ยิ่งขาดทุนหนักยิ่งขึ้น จนปิดกิจการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2550

ชีวิตที่เคว้งคว้าง ไร้งานทำ จนมาถึงการปิดถนนประท้วง และต่อรองกับนายจ้างเพื่อจ่ายค่าชดเชย กลายเป็นประเด็นข่าวที่ย้ำให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจ และ “ค่าเงินบาทแข็ง” ไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกเพิกเฉยอีกต่อไป ไม่ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังของการปิดโรงงานจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม แต่ที่ชัดเจนคือ “บาทแข็งค่า” คือหนึ่งในสาเหตุของปัญหา เพราะในอีกไม่กี่วันต่อมาพนักงาน 4 พันคนของบริษัทยูเนี่ยนฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ก็ต้องอยู่ในชะตากรรมเดียวกับพนักงานไทยศิลป์ฯ

กรณีของยูเนี่ยนฟุตแวร์ ถูกกระตุ้นให้คนสนใจปัญหา ”ค่าเงินบาทแข็ง” มากยิ่งขึ้น เพราะยูเนี่ยนฟุตแวร์ เป็นทั้งผู้ผลิตรองเท้าตามออเดอร์ (OEM) ให้แบรนด์ดัง ๆ ของต่างประเทศ และยังพยายามสร้างแบรนด์รองเท้าของตัวเองคือ “ดี-แมค” ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเครือยักษ์ใหญ่สิ่งทออย่าง “สหยูเนี่ยน”

รวมแล้วกว่า 1 หมื่นชีวิตภายใน 1 เดือนที่เป็นเหยื่อของปัญหา ”เงินบาทแข็งค่า” ในยุคเศรษฐกิจไทยปี 2550

หมื่นชีวิตเหยื่อบาทแข็ง

คนงานไทยศิลป์ฯ และยูเนี่ยนฟุตแวร์ รวมแล้วเกือบ 1 หมื่นชีวิตที่ต้องตกงาน เป็นเหยื่อของปัญหาเงินบาทแข็งค่า นอกเหนือจากพนักงานอีกนับหมื่นคนในโรงงานขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวอย่างเงียบๆ แต่ความลำบากของคนงานนั้นหนักหนาสาหัสมากเกินกว่าความเงียบจะบดบังไว้ได้ เพราะนอกจากตัวพนักงานแล้ว ยังมีครอบครัวที่เดือดร้อนไปพร้อมๆ กันอีกหลายหมื่นคน

ปัญหา ”เงินบาทแข็งค่า” จึงไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ส่งออกสินค้ามีรายได้ลดลงเท่านั้น แต่เมื่อคนงานตกงาน ผลพวงที่ตามมาคือกำลังซื้อของคนไทยหดลงอย่างน่าใจหาย และนี่คือปมใหม่ที่จะก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจลุกลามตามมา

เห็นได้จากเครื่องวัดสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจล่าสุดคือ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่แถลงโดย ”ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนกรกฎาคม 2550 ต่ำสุดในรอบ 66 เดือน มาอยู่ที่ 70.0 เป็นความเชื่อมั่นต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องนาน 39 เดือน

เมื่อความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจลดลง ก็ทำให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 70.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 86.6 จากเดือนมิถุนายน 2550 ความเชื่อมั่นอยู่สูงกว่า และหากเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนกุมภาพันธ์แล้วถือว่าต่ำกว่ามาก

สาเหตุหนึ่งที่ดึงความเชื่อมั่นลดลง คือ ”บาทแข็งค่า” ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ จากเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 34.54 บาท

นอกจากนี้ยังมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่แถลงดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนกรกฎาคมเช่นเดียวกัน ว่าลดลงมาอยู่ที่ 72.7 จากมิถุนายนอยู่ที่ 80.9 เป็นความเชื่อมั่นที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี หรือต่ำกว่า 100 มาต่อเนื่อง 16 เดือน เพราะสาเหตุที่เรื้อรังมานานเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง และถูกกระหน่ำด้วยปัญหาค่าเงินบาท ที่ทำให้ยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายลดลง

สรุปสาเหตุที่ทั้ง 2 ความเชื่อมั่นลดลงชัดเจน คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และการเมืองในประเทศ

สัญญาณร้าย หนี้คนไทยพุ่ง

สิ่งสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจเริ่มรุนแรงและเข้าใกล้ตัวมากขึ้น ต้องอ้างอิงถึงผลสำรวจสภาพหนี้ครัวเรือนของประชาชนล่าสุด โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจเมื่อวันที่ 10-15 สิงหาคม 2550 พบว่าคนไทย 1 บ้าน มีหนี้ 132,262 บาท มากกว่าปี 2549 อยู่ที่ 116,839 บาท โดยหนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่หรือประมาณ 54% บอกว่ากู้มาเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จากปี 2549 ที่มีเพียง 35% ที่บอกว่ากู้มาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือปี 2550 จำนวน 6.4% บอกว่ากู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แต่ปี 2549 กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยถึง 16.8%

หากมองภาพรวมแล้วหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีขณะนี้อยู่ที่ 31.23% ของจีดีพี สูงกว่าปีก่อนอยู่ที่ 29.09% ซึ่งอัตราที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 30% โดยคาดว่าจีดีพีปี 2550 จะเติบโตประมาณ 4% ด้วยมูลค่า 8.34 ล้านล้านบาท

ผลที่เกิดขึ้นใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ยังวัดได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยสิ่งของต่างๆ เช่น ยอดขายรถยนต์ช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2550 มียอดรวมเพียง 3.34 แสนคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 10.8% จากภาวะปกติยอดขายรถเฉลี่ยเติบโตถึง 10%

หรือแม้แต่อุตสาหกรรมโฆษณา ที่บริษัทนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) รายงานว่า เม็ดเงินโฆษณาในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 มีมูลค่า 43,603 ล้านบาท ลดลง 0.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 43,813 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนเพราะความไม่เชื่อมั่นของเจ้าของสินค้าและบริการในการทำตลาด จากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงทำให้ชะลอการใช้จ่ายเพื่อใช้สื่อโฆษณา

นี่คือสภาพปัญหา ”เงินบาทแข็งค่า” ที่เกิดปมตั้งแต่ธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีคนงานนับแสนคนในเกือบ 2 พันโรงงาน และกำลังลุกลามไปยังอุตสาหกรรมส่งออกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารแช่แข็ง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งผลถึงปากท้องของชาวบ้าน ซึ่งทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ต่างส่งสัญญาณเตือนว่า หากไม่เฝ้าระวัง ติดตามสาเหตุอย่างใกล้ชิด เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา อาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ขึ้นมาได้

นอกเหนือจากนี้ยังต้องลุ้นทุกครั้งกับทางการ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อบริหารค่าเงิน การลุ้นกับรัฐบาล ”ขิงแก่” ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะยิ่งเวลาผ่านไป ค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นไร้ผล หรือหากบางเวลาที่อ่อนค่าลง อย่างในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2550 ก็เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจโลก จากการที่นักลงทุนถอนเงินออกจากตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทย เพราะผลกระทบจากปัญหา ”ซับไพร์ม โลน” ในสหรัฐอเมริกา แต่ก็คือเหตุการณ์พาไปชั่วคราว หาได้เป็นเพราะฝีมือการบริหารค่าเงินให้อ่อนลงของทางการแต่อย่างใด

ปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้ จึงถือเป็นการตอกย้ำอีกครั้งให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่อ่อนแอ เพราะทุกครั้งที่เจอแรงลมจากต่างชาติ เศรษฐกิจไทยก็ต้องล้ม ป่วยไข้ทุกครั้งไป ซึ่งอย่างน้อย 3 ครั้งกับวิกฤตค่าเงินบาทในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา หลังเจ็บปวดเยียวยาด้วยยาหลายขนาน ทั้งถูก ผิด แล้ว ประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นและแข็งแรง วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของ ”เงินบาทที่แข็งค่า” มีหลายคนพูดถึงด้านดีที่เกิดขึ้น เช่น อย่างน้อยน้ำมันไม่ขึ้นราคา แม้ว่าจะไม่ค่อยลดลงก็ตาม หรือการไปเรียนต่างประเทศในราคาที่ถูกลง การไปท่องเที่ยวต่างประเทศถูกลง การซื้อของจากต่างประเทศถูกลง หรือการซื้อเครื่องจักรมาลงทุนถูกลง แต่จะมีประโยชน์เพียงใด เมื่อซื้อเครื่องจักรมาผลิตสินค้า แต่ไม่มีคนซื้อ หรือแม้แต่การเกิดธุรกิจใหม่ๆ ของธนาคารก็ได้รับผลดีจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น

แต่ทั้งหมดคือต้องชั่งน้ำหนักอย่างดีว่าใครได้ ใครเสีย เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศมีสมดุล

หา Positioning เพื่อทางรอด

สำหรับผู้ประกอบการแล้ว ค่าเงินบาทที่สร้างปัญหาให้เศรษฐกิจ และธุรกิจมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง น่าจะเพียงพอแล้วกับความเจ็บปวด และสูญเสีย หลายคนบอกว่าถึงเวลาที่ควรเริ่มต้นย้อนกลับมาดูตัวเอง ค้นหา Positioning ที่ลงตัว และปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยมากที่สุด “นวัตกรรม และความสร้างสรรค์” คือบทสรุปที่หลายธุรกิจต้องมีเป็นอาวุธสู้รบกับตลาดโลก เช่นข้อเสนอแนะของ ”บัณฑูร ล่ำซำ” ซีอีโอของธนาคารกสิกรไทย และมีอย่างน้อย 3 กรณีศึกษาในธุรกิจสิ่งทอ ที่สามารถสร้างตัวเองประสบความสำเร็จในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น จิม ทอมป์สัน ฟลายนาว หรือ พาสายา จากความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างจุดต่างของสินค้าในตลาดต่างประเทศ

การเริ่มต้น ณ เวลานี้ในการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจตัวเองอาจไม่ทันการกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่หากยังไม่เริ่มประเทศไทยอาจไม่มีที่ยืนบนแผนที่โลกก็เป็นได้