รักทนรักนานแบบซิมทรู

“ทรู” ลงทุนแปลงโฉม 2 ผู้บริหาร “สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์” และ “พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์” ให้ออกมาในลุค”พี่เป้า-สายัณห์ สัญญา” ท่ามกลางบรรยากาศงานวัด ชิงช้า-ม้าหมุนในผับดังย่านรัชดา ทั้งนี้เพื่อประกาศเปิดตัว “ซิมไชโย” ซิมใหม่ล่าสุดจากทรู หวังเจาะกลุ่มตลาด Mass ใน ”ต่างจังหวัด”

เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังมีความต้องการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่อีกมาก ต่างจากช่องว่างที่ค่อนข้างอิ่มตัวของคนเมือง โดยมีการสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด (ราว 10 ล้านคน) ต้องการ ”โปรโมชั่น” ที่สามารถเติมเงินครั้งเดียวแล้วอยู่ได้ ”นานที่สุด” จึงเป็นที่มาของซิมระบบ Pre-paid ที่ชื่อ ”ไชโย”

เดิมทีเดียว ทรูเคยมีโปรโมชั่น ”นานจริงๆ” เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับพี่น้องในตลาดต่างจังหวัด ทว่า “ซิมไชโย” ในระบบ Pre-paid ดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกของทรูที่สร้างซิมขึ้นมา เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในตลาดนี้โดยเฉพาะ

นอกจากพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่ไม่เน้นการรับสาย และไม่ชอบการโทรออกแล้ว ตลาดกลุ่มนี้ยังมีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว ด้วยความนิยมชมชอบในแนวเพลง ”ลูกทุ่ง” เป็นพิเศษ จากการสำรวจหน้าแผงขายเทปที่สามารถทำยอดขายเป็นที่หนึ่ง จนนำมาสู่การวางแผนการตลาดของ ”ซิมไชโย” ด้วยการใช้กลยุทธ์ ”มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง” อย่างเต็มรูปแบบ

ทรูหยิบวัตถุดิบในมืออย่าง ”อ๊อฟ-ศุภณัฐ” ศิลปินในสังกัด ขึ้นมาทำโปรเจกต์เพลงร่วมกับนักร้องรับเชิญซึ่งเคยมีผลงานเพลงลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่าง “เบ๊นซ์-พรชิตา, อาภาพร นครสวรรค์, ลูกนก-สุภาพร และลูกน้ำ-พาเมล่า เบาว์เด้นท์” เพื่อ ”กรุยทาง” สู่ฐานลูกค้าใหม่ในต่างจังหวัดที่ไม่รู้จัก “อ๊อฟ” หรือ ”AF”

แต่ละเพลงในอัลบั้ม ”รักทน รักนาน” ของอ๊อฟ ถูกดีไซน์มา ”โดยเฉพาะ” เพื่อตอกย้ำจุดขายของ ”ไชโย” ในแต่ละด้าน โดยสื่อความหมายผ่านชื่อเพลงและเนื้อหา เช่น รักทน รักนาน (สื่อถึงซิมที่เติมเงินเพียงครั้งเดียวแล้วได้จำนวนวันใช้งานที่ยาวนาน), รักพี่ต้องมีซิม (เนื้อเพลงพูดถึงโปรโมชั่นที่ดี), ไม่อั้น (ผู้ใช้โหลดไม่อั้น) ฯลฯ

ในขณะเดียวกัน ทรูยังได้อาศัยความต่อเนื่องของการเป็น “Main sponsor” ให้รายการลูกทุ่ง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ตลาดของคนในต่างจังหวัดได้รู้จักทรูมากขึ้น

ไม่เพียงคอนเทนต์เพลง “ไชโย” ยังมี ”ฟรีคอนเทนต์” Non-voice ต่างๆ เพื่อเสิร์ฟแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย ”บริการเสริมเฉพาะ” อาทิ เพลงลูกทุ่งกว่า 500 เพลง, ดูดวง, วิเคราะห์เลขเด็ด, ตรวจผลสลาก ฯลฯ ผ่านการอำนวยความสะดวกด้วยระบบ IVR ซึ่งคิดค่าบริการนาทีละ 5 บาท ด้วยเหตุที่ว่า ตลาดกลุ่มนี้อาจมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยียังไม่มากเท่ากลุ่มคนเมือง ที่สามารถดาวน์โหลดด้วยตนเองผ่าน GRRS ได้

ท้ายที่สุด สิ่งที่ทรูได้จากการออกซิมตัวใหม่นี้ ไม่เพียง ”ฐานลูกค้า” ที่เพิ่มขึ้น หากแต่“โมเดลทางธุรกิจ” ของทรูเองก็เริ่ม ”เปลี่ยน” ไปสู่การโฟกัสที่ค่าบริการจาก ”Traffic” (ตัวพ่วงไปสู่ Content อื่นๆ อาทิ IVR ,GPRS) เป็นหลัก จากเดิมที่รายได้กระจุกตัวอยู่ที่ค่าใช้บริการจากการโทรและค่า Content เท่านั้น

นอกจากนี้ ผลพลอยได้อีกอย่างจากการใช้มิวสิกมาร์เก็ตติ้งค์คือ ทรูเกิด ”ช่องทางใหม่” ในการกระจายสินค้า จากเดิมที่จำกัดอยู่เฉพาะร้านจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ แต่ปัจจุบันการขายอัลบั้มเพลงทำให้เกิดการจัดจำหน่ายซิมการ์ดที่ ”แผงเทป” อีกด้วย

Did u know?
-ลูกค้ากลุ่มใหญ่สุดของทรู คือผู้ใช้โทรศัพท์เฉลี่ย “500 นาที/คน/เดือน”
-เมืองไทยเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีอัตราค่าโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยต่อนาที ”ถูกที่สุดในโลก”

ผลิตภัณฑ์ : ซิมไชโย (True)
ราคา : 99 บาทแถมซีดีเพลง / 79 บาทหากเป็นลูกค้าทรู
ค่าบริการ : นาทีละ 2 บาททุกเครือข่าย
เงื่อนไข : โทรออก 1 ครั้งทุกๆ 90 วัน

ผลิตภัณฑ์ : ซิมสวัสดี (AIS)
ราคา : 50 บาท
ค่าบริการ : นาทีละ 2 บาททุกเครือข่าย
เงื่อนไข : เติมเงิน 300 บาท อยู่ได้นาน 30 วัน