“วนิษา เรซ” 360° ตามติดชีวิตหนูดี

ทีมงาน POSITIONING สบโอกาสดีออก “Day Trip” โดยใช้เวลาช่วงสั้นๆ ตามติดชีวิตหนูดี ผู้ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อและสังคมมากพอๆ กับบรรดา Nominee ของทักษิณและผบ.ทบ. ในฐานะที่เธอได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น “อัจฉริยะที่ดังชั่วข้ามคืน” กลายเป็นคนดังระดับดาราที่มีคิวแน่นยาวเหยียดถึงปลายปี

Day 1 : ชมโรงเรียน+ถ่ายรายการช่อง 11 +ให้สัมภาษณ์ Marie Claire, รายการคืนพิเศษ คนพิเศษ

วันนี้เด็กๆ ”โรงเรียนวนิษา” มีกิจกรรมลงแปลง ”ปลูกผัก” ร่วมกัน ตามธีมการเรียนรู้ของภาคการศึกษานี้ที่ว่าด้วย ”การขอบคุณสรรพสิ่ง” โดยมีทีมงานจากช่อง 11 คอยตามเก็บภาพการทำกิจกรรมของหนูดีและเด็กๆ

จากการพูดคุยข้างแปลงผักกับเด็กๆ นอกจากความครีเอตในการเลือกอุปกรณ์ อาทิ การใช้ไขควงขุดดิน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัด คือ เด็กโรงเรียนวนิษามีความเป็น ”ผู้ใหญ่” และมี ”ภาวะผู้นำ” สูง กรณีศึกษามีให้เห็นจริงเมื่อเด็กหญิงเดินมาหา “คุณครูหนูดี” ด้วยเลือดที่ไหลเป็นทาง ก่อนแจงสาเหตุโดยไม่ร้องไห้แม้แต่น้อย “เด็กที่นี่สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีและเร็วมาก เพราะเขาได้รับการยอมรับในอารมณ์ทุกอย่าง จนรู้สึกว่าไม่ต้องสู้เพื่อการแสดงออกซึ่งอารมณ์” วนิษาอธิบายให้เราฟังในเชิงจิตวิทยา

Vanessa Race from Positioning Magazine on Vimeo.

วาระ “การขอบคุณสรรพสิ่ง” เปิดโอกาสให้เด็กวนิษารู้จักการ ”เอาใจใส่” ตนเองและสิ่งรอบตัว “การปลูกผักในวันนี้ คือการขอบคุณโลกของเด็กๆ ค่ะ” ที่มาแห่งแนวคิดคือ เดิมทีเด็กๆ ไม่กินผัก ทว่าเมื่อต้องทำอาหารทานเอง แม้มีผักพวกเขาก็ไม่เกี่ยง “หนูดีเลยแนะนำพ่อแม่ว่าถ้าอยากให้เด็กกินผัก ลองให้พวกเขาทำกับข้าวเองที่บ้าน ซึ่งก็ได้ผล”

ขณะเดียวกัน นอกจากการสอบตามการประเมินผลของกระทรวงศึกษาฯ เด็กโรงเรียนวนิษา ยังมีการสอบปลายภาคแบบ ”ปฏิบัติ” ด้วย โดยโจทย์ก็คือ ”ธีมการเรียนรู้” ซึ่งเป็น ”วาระแห่งโรงเรียน” ในภาคการศึกษานั้นๆ

เด็กๆ ต้องเอาองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาแสดงให้ ”ผู้ปกครอง” ดู เนื่องจากวนิษามีแนวคิดว่า ในโรงเรียน คนที่ ”สำคัญ” ที่สุดคือ “เด็ก” ไม่ใช่ ”ครู” ทว่า การที่หลายโรงเรียนประเมินผลด้วยข้อสอบที่เด็กต้องพยายามตอบให้ตรงใจครู ย่อมไม่ได้คุณลักษณะของเด็กที่ ”คิดเองเป็น” การให้โจทย์เป็นธีมกว้างๆ ในแต่ละเทอม จึงเป็นการฝึกให้เด็กคิด ด้วยลักษณะการโยน ”คำถามปลายเปิด” เพื่อให้พวกเขาค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

บ้านไม้ขนาดย่อมในพื้นที่หลังโรงเรียน เป็นผลพวงจากธีม ”เศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยเด็กๆ สงสัยว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการไม่ติดต่อกับโลกภายนอกหรืออย่างไร จึงนำมาสู่การสร้างหมู่บ้านเพื่อหาคำตอบ เด็กๆ สืบค้นอินเทอร์เน็ตและสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ซึ่ง ”ให้เกียรติ” เขาและเต็มใจให้ความรู้ เป็นการกระตุ้นให้เด็กๆ อยากแสวงหาและเรียนรู้ต่อไป “มันทำให้เราได้คุณลักษณะของเด็กที่แปลก แต่มีคุณค่าอย่างมาก” วนิษากล่าวด้วยเสียงหัวเราะ ”เด็กๆ มีความสุขมาก เลิกเรียนปุ๊บเข้าหมู่บ้าน พวกเขาสร้างบ้านเอง วัดขนาดไม้เอง ขุดบ่อเลี้ยงปลาแต่มีกบมาอยู่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ ทอผ้า ปั้นดิน ฯลฯ” หนูดีในบทบาทคุณครูเล่าต่อ “ตลกมาก เด็กอยากทำคลอดแพะ ไม่ยอมเรียน ครูบอกไม่ได้ ไม่งั้นขอคิดชั่วโมงละ 20 บาทปรากฏว่าเด็กหยิบเงินออกมา 40 บาท บอกว่าขอซื้อ 2 ชม.”

แทนที่จะเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความเครียด “วันสอบปลายภาค” ของโรงเรียนจึงกลายเป็น ”วันแห่งความสุข” ของผู้ปกครอง ครู และนักเรียน “ผู้ปกครอง” ถูกเชิญมา ”ให้คะแนน” เด็กๆ เพื่อให้ ”ผลการสอบ” เป็นไปในลักษณะของ “Feedback” เพื่อให้เด็กนำไปใช้ปรับปรุงการเรียนรู้มิใช่เป็น ”บทลงโทษ” ดังเช่น เทอมที่ใช้ธีม ”สุขภาพดีด้วยวิถีไทย” เด็กๆ ได้เรียนรู้การนวดแผนไทย การใช้สมุนไพรบำบัดโรค ฯลฯ จนโรงเรียนวนิษากลายสภาพเป็น ”สปา” ขนาดใหญ่ในวันสอบปลายภาค

“ความต่าง” ในการ ”ตัดเกรด” ของโรงเรียนวนิษา คือ ”กระบวนการซึ่งการได้มา” อีกทั้งไม่มีการนำเกรดมาจัดลำดับ ที่นี่จึงไม่มี ”ที่หนึ่งหรือที่โหล่” ด้วยนโยบายของวนิษาที่ไม่แนะนำให้เด็กแข่งกับใครนอกจาก ”ตัวเอง”

สำหรับการเรียนการสอน นอกจากคอนเซ็ปต์ ”Freedom & Beyond” ของมารดาเมื่อแรกก่อตั้งโรงเรียน และงานวิจัยชิ้นใหม่ๆ ที่นำมาสอดแทรกในหลักสูตรอยู่เสมอ วนิษาได้นำ ”วิถีแห่งสติ” ซึ่งเป็นแนวทางแห่งเซน มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการ “เรียนรู้ชีวิต” ของเด็ก อาทิ การให้เด็กนอนผ่อนคลาย ใช้ ”สติ” สำรวจร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากความศรัทธาและเห็นจริงซึ่งประโยชน์ในวิถีปฏิบัติของท่าน ”ติช นัท ฮันห์” หลังจากวนิษาได้อ่านหนังสือแห่งความงดงามเล่มเล็กๆ ที่ชื่อ ”เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข” ซึ่งเธอพกติดตัวเสมือนเป็น ”คัมภีร์ชีวิต” ตลอด 7 ปีที่อาศัยอยู่ในอเมริกา

กับการคัดเลือก ”บุคลากรครู” วนิษาใช้หลักการเช่นเดียวกับตอนที่เธอสมัครเข้าเรียน Harvard ซึ่งก็คือความพร้อมใน ”การให้” หรือเติมเต็ม ”ความสุข” ให้กับโรงเรียน คุณครูโรงเรียนนี้ต้องมีความ ”เรียบง่าย” และ ”ถ่อมตัว” ในการใช้ชีวิตพอสมควร ประกอบกับมีทัศนคติที่ดี และ ”ความสดใส” ขณะเดียวกัน ”เกรดเฉลี่ย” ของครูไม่ได้บอกความสามารถของสมอง หากแต่สะท้อนความตั้งใจ และความสามารถในการ ”ปรับ” วิธีการเรียน ให้เข้าวิธีการประเมินผลที่หลากหลายของอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย

ก่อนออกเดินทางไปให้สัมภาษณ์นิตยสาร Marie Claire หนูดีชี้แจงข้อสงสัยของทีมงานที่ว่าเหตุใดคุณครูและเด็กในโรงเรียนนี้จึงใช้สรรพนามนำหน้าชื่อเพื่อนๆ ว่า ”คุณ” เธอว่าเป็นกรอบปฏิบัติ (ที่นุ่ม) เพื่อแสดงการ ”ให้เกียรติ” เด็ก ซึ่งมีนัยไปถึงการให้เกียรติกับ ”พื้นที่ ความคิด และตัวตน” ของเด็ก ทำไมเราจะเรียกเด็กตัวเล็กๆ ซึ่งมีคุณค่าและอยู่ในวัยเรียนรู้เพื่อจะทำประโยชน์ให้โลกว่า คุณ ไม่ได้ ?

Day 2 : บรรยายความรู้ + ออกงานสังคม Yafriro Night

เช้าตรู่ของวันเสาร์ “วิทวัส” 1ใน 4 “เลขาจตุสดมภ์” ของวนิษา เรซ บึ่งรถมายังงานสัมมนาที่สนามเสือป่า หนูดีในชุดผ้าไหมสีส้มได้รับเชิญมาบรรยายในหัวข้อ ”นวัตกรรมการศึกษาแบบ Hospitality” ให้แก่ ”คณาจารย์และผู้บริหารการศึกษา” ที่มาจากทั่วประเทศกว่า 400 คน

ครั้งนี้ หนูดีเพิ่งรับรู้ชะตากรรมก่อนขึ้นเวทีว่า เธอต้อง ”เดี่ยวไมโครโฟน” เป็นเวลานานร่วมชั่วโมง อันที่จริงเธออาจ play safe โดยหยิบงานวิจัย หรือความรู้ที่ถนัดขึ้นมาพูดได้จนครบกำหนดเวลา ทว่า สิ่งที่เธอทำมีความ ”เสี่ยง” และ ”ท้าทาย” กว่านั้น วนิษาเลือกแก้สถานการณ์ด้วยการให้เวลากับการถาม-ตอบ ”อะไรก็ได้”มากกว่าครึ่ง จนอดทึ่งไม่ได้กับระบบการบริหาร ”ความรู้คงคลัง” ในสมองระดับ Mainframe ของเธอ วนิษามีคำตอบให้ทุกคำถาม โดยดึงข้อมูล ”งานวิจัย” ซึ่งผนวกเอา ”ความรู้และประสบการณ์จริง” ได้ทันทีเสมือนไม่ต้องใช้เวลาคิด แม้จะเป็นคำถามปลายเปิดที่ ”กว้างมาก”

ทั้งนี้เพราะวนิษาได้รับการฝึกฝนมาเพื่อเป็น ”ผู้บรรยายเพื่อให้ความรู้” โดยเฉพาะการนำความรู้ทางด้าน ”วิทยาศาสตร์สมอง” และ ”จิตวิทยา” มาสื่อสาร ผ่านทั้งรูปแบบ ”การพูด” และ ”การเขียน”

โดยด้านงานเขียน เธอเป็น ”คอลัมนิสต์” ให้กับหนังสือพิมพ์ ”โพสต์ทูเดย์” และนิตยสาร ”บันทึกคุณแม่” นอกเหนือจากหนังสือเล่มของตัวเองในชื่อ ”อัจฉริยะสร้างได้”

บริษัทของวนิษาใช้ชื่อเดียวกันกับหนังสือที่เธอแต่ง… “บริษัทอัจฉริยะสร้างได้” ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียนมหาศาลในแง่ของ ”ต้นทุนทางปัญญา” เพื่อรองรับ ”งานบรรยายและงานสัมมนา” ของเธอ หลายคนแซวว่าเป็น ”บริษัทอัจฉริยะสร้าง (เงิน) ได้” แต่หารู้ไม่ว่า แท้จริงแล้วนโยบายของบริษัทนี้ไม่ได้อาศัยแบบแผนของ ”ทุนนิยม” อย่างที่คิด เธอกำหนด ”ขอบเขตรายได้” ต่อปีของบริษัทไว้ ”ไม่ให้เกิน” เลข 7 หลัก ทั้งที่ความเป็นจริงธุรกิจของบริษัทสามารถไต่ระดับได้ถึงหลักร้อยล้านเลยทีเดียว

ทั้งที่การจดทะเบียนนิติบุคคลมักมาควบคู่กับคำว่า ”นักธุรกิจ” แต่ไม่ใช่สำหรับวนิษา เดิมเมื่อเธอเรียนจบกลับมา วนิษามีความตั้งใจที่จะเป็น ”อาจารย์มหาวิทยาลัย” แต่ด้วยพบว่าความรู้ของเธอมีความต้องการใน ”วงกว้าง” ข้อจำกัดบางประการจึงนำไปสู่การจัดตั้งองค์กร “จริงๆ มันคือที่ที่ทำให้คนสามารถติดต่อกับหนูดีได้อย่างเป็นระบบเท่านั้นเองค่ะ”

หนูดีมีเงื่อนไขในการรับงานที่ชัดเจน เรื่องเดียวที่เธอขอไม่ขอเกี่ยวข้องในกรณีใดๆ คือ ”การเมือง” นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่างานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ”ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์สมอง” เธอรับบรรยายทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ ตั้งแต่ สถาบันนิวเคลียร์แห่งชาติ, บริษัทห้างร้าน, โรงเรียน หรือแม้แต่ระดับบุคคลอย่างผู้ช่วยของคุณหญิงคุณหมอพรทิพย์ “…ยิ่งงานไหนได้พูดเกี่ยวกับเรื่องงานวิจัย จะชอบมาก ”หนูดีเล่าด้วยรอยยิ้ม ก่อนเล่าถึง ”คำถามครีเอต” ของเด็กๆ ราชินีบน“…ทำไมเวลาเรียนถึงง่วงนอน?, ทำไมเวลาเรียนแล้วอยากคุยกับเพื่อน?, …?” ก่อนจบด้วยคำถามใสๆ ”ทำไมคนเราต้องถามคะ?”

ช่วงหัวค่ำวันนี้ วนิษา เรซ ได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงนาฬิกาหรู “Yafriro” ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ด้วยเหตุที่ว่า เธอเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกจาก Yafriro ให้ได้รับรางวัล “Exceptional Woman” ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลปีในปีก่อนๆ มีหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น ดารานางแบบคริสตี้ ซุง, หมอจากHarvard, หรือแม้แต่ Chef ตะหลิวทองจากฝรั่งเศส

Day 3: โรงละครมะขามป้อม

ผลพวงจากฤทธิ์ไวรัสในลำคอของหนูดี ทำให้มูลนิธิมะขามป้อมตัดสินใจยกเลิกรอบการแสดง ”พระมหาชนก” ละครการกุศลที่หนูดีมีบทบาทในการเป็น ”ผู้บรรยายบทภาษาอังกฤษ” ไว้ชั่วคราว

กลุ่มละครมะขามป้อมมี ”สัญญาใจ” กับหนูดีมาตั้งแต่ก่อนเธอเดินทางไปศึกษาปริญญาโท จากแผ่นโปสเตอร์รับอาสาสมัครใหม่ที่เธอเห็นโดยบังเอิญ นำไปสู่การอบรมการละครและลงสนามจริงที่ภาคใต้ ”เขียนสคริปต์ เย็บเสื้อผ้ากันเองค่ะ ได้ใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน” การแสดงละครเวทีของมะขามป้อมคือ อีกสิ่งที่เธอชอบ เพราะการได้ใช้อัจฉริยภาพครบทุกด้าน แม้เมื่อเกิดความผิดพลาดในการแสดง สมองของเธอก็ยังได้รับ ”สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร” จากทุกคนที่นั่น กระทั่งเป็นนโยบายหนึ่งที่เธอนำไปใช้ปลูกฝังไม่ให้เด็กโรงเรียนวนิษากลัวความผิดพลาด

“มูลนิธิมหาสมุทรแห่งปัญญา” ซึ่งวนิษายืมชื่อมาจากท่อนสุดท้ายในบทภาวนาของท่านติช นัท ฮันห์ เกิดจากแนวร่วมกับ ”หนูหวาน” ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งต่างไม่มั่นใจใน ”ปลายทาง” ของเงินบริจาคของตน กิจกรรมในมูลนิธิของหนูดี มีการวางแผนเป็นไตรมาส อาทิ การพาเด็กไปสร้างวัด ปั้นพระพุทธรูป รับอุปการะเด็กชาวเขา ฯลฯ “การตั้งมูลนิธิมีความสุขมาก แต่ยากกว่าการตั้งบริษัท เพราะต้องใช้เงินประกันถึง 300,000 บาท”

นอกจากการบริจาคเงิน 10% ของรายได้คืนให้สังคม วนิษายังบริจาค ”เวลา” 20-25% ของบริษัทให้กับการกุศล คือการบรรยายโดยไม่รับค่าตอบแทนสำหรับองค์กร ซึ่งไม่มี ”ข้อกังขา” เรื่องการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์

Day4: รายการร้านชำยามเช้า + Ogilvy นัดเลี้ยงข้าวเที่ยง + ส่งต้นฉบับโพสต์ทูเดย์

ทีมงาน Positioning มีนัดยามเช้า (กว่าปกติ) กับหนูดีเช่นเคย เนื่องจากวันนี้เธอต้องมาเป็นแขกรับเชิญในรายการ ”ร้านชำยามเช้า” รายการสดทาง TITV

ถ่ายรายการเสร็จ เธออวดปกใหม่ของหนังสือ ”อัจฉริยะสร้างได้” ให้ทีมงาน Positioning ดู “อีก 2 เล่มกำลังจะตามมาค่ะ ‘เทคนิคการเรียนเก่ง’ กับ ’การดูแลสมองส่วนอารมณ์’ ซึ่งจะลงลึกในรายละเอียดกว่าเล่มแรกที่พูดถึงสมองในภาพรวม”

มื้อเที่ยงวันนี้ หนูดีฝากท้องไว้กับทีมงานจากบริษัทโฆษณา ”Ogivy” ซึ่งนัดเธอทานข้าวเพื่อเป็นการขอบคุณในฐานะที่เธอรับเป็น ”พรีเซ็นเตอร์” ให้กับ Advertorial ของเครื่องสำอาง “Estee Lauder”

“หนูดีจะไม่รับค่ะ ถ้าสินค้านั้นไม่เกี่ยวกับองค์ความรู้ที่หนูดีอยากจะสื่อ” วนิษาให้เหตุผลที่เธอรับเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์ “Idealist” ของ Estee Lauder ว่า ด้วยคอนเซปต์ “Idealist…Ideal Life” ของสินค้าที่เปิดโอกาสให้เธอ ”สื่อสาร” เรื่อง ”การวางแผนการใช้ชีวิต” แก่ผู้อ่าน ซึ่งเป็น ”คนรุ่นใหม่” ซึ่งวนิษามองว่าการเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เธอมีโอกาสให้ความรู้ต่อสังคมในช่องทางสื่อสารที่มากขึ้น

ก่อนลาจากเพื่อให้เปิดโอกาสให้หนูดีได้ตกตะกอนความคิด ก่อนส่งต่อต้นฉบับให้โพสต์ทูเดย์ในวันนี้ เธอทิ้งท้ายถึง ”บทเรียนแรก” ของเด็กอัจฉริยะใน Harvard อย่างเธอให้เราฟัง… ”Humble…ความถ่อมตัว”…ศัพท์ซึ่งอยู่เกินความคาดหมายของคนไทยที่ได้รับรู้วัฒนธรรมตะวันตก…

แต่ละองศาในการใช้ชีวิตของ ”หนูดี” กลายเป็นสารสร้าง ”อาการเสพติด” ให้แก่ทีมงาน Positioning เมื่อสิ้นสุดการติดตาม “อัจฉริยภาพ” ในความหมายที่แท้จริงคือสิ่งใด …คำตอบสำหรับบรรทัดนี้มีเพียงว่า อัจฉริยภาพที่สัมผัสได้จาก ”วนิษา เรซ” คือสิ่งทำให้เรา ”อิ่ม ยิ้ม และเป็นสุข”

Profile

Name: วนิษา เรซ
Age: 30 ปี
Education: ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ครอบครัวศึกษา, University of Maryland at College Park, USA ปริญญาโท (เกียรตินิยม) วิทยาการสมอง, Harvard University, USA
Career :
ประธานกรรมการ บริษัทอัจฉริยะสร้างได้
ผู้อำนวยการโรงเรียนวนิษา
คอลัมนิสต์ หนังสือบันทึกคุณแม่ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
จัดรายการวิทยุ “ชั่วโมงเศรษฐกิจ” ทางสถานีวิทยุจุฬา (101.5FM) ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 9.30-10.00 น. และ “ข้อคิดชีวิตนี้” ทาง อสมท.(100.5) ทุกเสาร์ที่ 3 ของเดือน เวลา 22.00-24.00 น.