ร.ร.กวดวิชา-ลมหายใจสยามฯ

เด็กนักเรียนในชุดเครื่องแบบทั้งแขนยาว แขนสั้น กางเกงขาสั้น จากรั้วคอนแวนต์ และโรงเรียนของรัฐ เดินกันเป็นกลุ่มๆ พูดคุยหยอกล้อ เฮฮาสนุกสนาน ภาพเหล่านี้คือภาพที่คุ้นตาในย่านสยามสแควร์ และถือเป็นลมหายใจที่หล่อเลี้ยงให้ทำเลทองแห่งนี้คึกคัก มีชีวิตชีวา ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

แสนคนติวเข้มพาช้อปคึก

สภาพของนักเรียนที่ต้องแข่งขันเข้าเรียนโรงเรียนดัง และมหาวิทยาลัยชั้นนำ กลายเป็นปัจจัยผลักดันทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมากมาที่สยามสแควร์เพื่อนั่งเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ที่มีอยู่กว่า 30 โรงเรียน หลายคนเรียนเพียง 1 รอบ 1 วิชา แต่หลายคนเรียนหลายวิชาจนต้องใช้เวลาอยู่ที่สยามสแควร์ทั้งวัน

“อนุสรณ์ ศิวะกุล” ประธานบริหารกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาในเครือวรรณสรณ์ และบริษัท วรรณสรณ์ธุรกิจ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีว่า โรงเรียนเคมี อาจารย์อุ๊ บอกว่า เฉพาะโรงเรียนเคมี อ.อุ๊ ในวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งนักเรียนจะมาติวตอนเย็น เปิดสอนได้รอบเดียวเช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นรับนักเรียนได้รอบละ 700-750 คน หากรวมโรงเรียนในสยามสแควร์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมประมาณ 30 โรงเรียนในขณะนี้เฉลี่ยวันธรรมดามีนักเรียนมาติวประมาณ 10,000-20,000 คน หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดวันละ 4 รอบ นักเรียนก็เพิ่มขึ้น 4 เท่า

นับได้โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละเกือบ 1 แสนคนที่หมุนเวียนมากวดวิชา ซึ่งจำนวนนี้มีไม่มากนักที่รีบเรียนแล้วรีบกลับบ้าน เพราะกว่า 80% ที่เลิกเรียนแล้วต้องขอเดินเล่นในสยาม ช้อปปิ้ง กินขนมก่อนกลับ

“จากความหลากหลายของโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนสอนพิเศษ ทั้งร้องเล่น เต้นรำ ที่มาตั้งอยู่ในสยามสแควร์ ทำให้เด็กจำนวนมากมารวมกันอยู่ที่นี่ ก็ต้องถือว่าโรงเรียนกวดวิชาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สยามสแควร์คึกคัก”

นี่คือบทสรุปที่ผู้ประกอบการร้านค้าในสยามสแควร์เห็นตรงกัน

ขณะเดียวกัน ด้วยสถานที่ตั้งของสยามสแควร์ ที่สะดวกสบายในการเข้าถึง และมีรถไฟฟ้ามาถึง ก็ยิ่งทำให้โรงเรียนกวดวิชามีมากขึ้นและหลากหลายประเภท ตั้งแต่การสอนวิชาพื้นฐาน สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ไปจนถึงวิชาที่ต้องติวเข้มอย่างหนัก อย่างเคมี ฟิสิกส์

“อนุสรณ์” บอกด้วยว่าโรงเรียนกวดวิชาไม่เพียงสร้างความคึกคักให้สยามสแควร์ แต่สยามสแควร์ก็เอื้อให้เกิดติวเตอร์ หรือโรงเรียนกวดวิชาใหม่ๆ ด้วย เพราะเด็กนักเรียนบางส่วนมักมาเดินหาโรงเรียนและตัดสินใจสมัครทันที ดังนั้น เมื่อโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เดียวกันทุกโรงเรียนจึงมีโอกาสเหมือนๆ กัน

ขณะเดียวกัน แนวโน้มของเด็กที่มากวดวิชามีอายุลดลง ซึ่ง “อนุสรณ์” บอกว่า สามารถแบ่งได้เป็น Teen คือกลุ่มมัธยมต้น และมัธยมปลายที่เตรียมสอบเข้า ม.4 และมหาวิทยาลัย และกลุ่ม Pre-teen คือเด็กที่เตรียมสอบเข้า ม.1 ซึ่งเด็กที่มาติวอายุน้อย จะต้องมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติ พี่น้อง มาส่งด้วย

“สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงเด็กมากขึ้น แต่ก็มีผู้ปกครองมากขึ้นด้วย คือร้านค้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับผู้ปกครองที่มารอรับเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นร้านทำผม ร้านวดเท้า ร้านอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ด้วย”

พลังของโรงเรียนกวดวิชาที่สร้างให้ร้านค้าต่างๆ ในสยามสแควร์คึกคัก ยังเห็นได้จากร้านอาหารบางแห่ง มักต้องมาถามเจ้าหน้าที่โรงเรียนว่าจะหยุดสอนช่วงไหนบ้าง เพราะจะได้เตรียมอาหารให้เพียงพอกับลูกค้า

วิกฤตต้มยำกุ้งดึงติวเตอร์ยึดสยามฯ

ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนที่กลุ่มโรงเรียนกวดวิชาเริ่มเข้ามาสร้างความคึกคักให้กับสยามสแควร์ ซึ่ง “อนุสรณ์” บอกว่า สยามสแควร์ก็มีความคึกคักในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะสถานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ปี 2540 ซึ่งเศรษฐกิจไทยกำลังซบเซาอย่างหนัก

ขณะเดียวกัน บริเวณหน้าสยามสแควร์ก็รกรุงรังด้วยสิ่งก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ร้านค้าต่างๆ ในสยามสแควร์จึงปิดตัว เพราะธุรกิจไปไม่รอด เมื่อห้องแถวในพื้นที่ทำเลทองว่างลง ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็พร้อมลดค่าเช่าให้ผู้สนใจมาเปิดร้านค้า โดยเฉพาะในซอยที่เงียบเหงา ไม่ค่อยมีคนเดิน อย่างซอย 5-6-7 กลุ่มโรงเรียนกวดวิชาที่เดิมมักอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้า ชุมชน และใกล้โรงเรียนดังๆ จึงเริ่มเข้ามามากขึ้น

แม้ “เคมี อ.อุ๊” มีสาขาแรกที่สะพานควาย และมีนักเรียนจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ก็ตัดสินใจมาเปิดที่สยามสแควร์ในช่วงประมาณปี 2541 เพราะเห็นถึงความเหมาะสมเรื่องทำเล และระบบของโรงเรียนกวดวิชา หากอยู่ใกล้กัน จะเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กนักเรียนในการเลือกเรียนและสับหลีกเวลาลงเรียนได้ ที่สยามสแควร์ช่วงนั้นก็มีโรงเรียนบางแห่งอยู่แล้ว เช่น แอพพลาย ฟิสิกส์ ของ อ.ช่วง ทมทิตชงค์

ขึ้นค่าเช่า กวดวิชาหนีซบ อ.อุ๊

แผนการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์เริ่มเปลี่ยนรูปแบบ โดยจุฬาฯ เตรียมแผนเปลี่ยนแปลงหลายจุดในสยามสแควร์จากห้องแถว เป็นคอมเพล็กซ์บ้าง อาคารจอดรถบ้าง ซึ่งแม้แผนบางส่วนยังไม่แน่นอน แต่จุฬาฯ ก็ยังคงเดินหน้าขึ้นค่าเช่า และต่อสัญญาเพียงสั้นๆ ให้กับร้านค้า และโรงเรียนกวดวิชา ต่างจากการต่อสัญญาในอดีต ที่มักต่อคราวละ 10 ปี

มีกรณีของโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งที่เคยทำสัญญา 7 ปี ค่าเซ้งคูหาละประมาณ 3-4 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าอีกเดือนละประมาณ 2 หมื่นบาท หลังจากหมดสัญญาจุฬาฯ ให้ต่อสัญญาอีก 2-3 ปี ค่าเซ้งประมาณ 3-4 ล้านบาท แต่มีการต่อรองจนได้ลดราคามาระดับหนึ่ง ขณะที่มีโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งที่จุฬาฯ ให้ต่อสัญญา 5 ปี แต่ให้จ่ายเงินก้อนแรกในช่วงปีแรกสูงมาก เพราะเกรงว่าหากโรงเรียนกวดวิชาออกจากพื้นที่สยามสแควร์ไปหมดจะทำให้พื้นที่แห่งนี้เงียบเหงา

จากความไม่แน่นอน และการขึ้นค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว “อนุสรณ์” ซึ่งเป็นสามีของ อ.อุไรวรรณ หรือ อ.อุ๊ ตัดสินใจประมูลซื้อที่ดินจากกรมบังคับคดี หัวมุมแยกศรีอยุธยา ใกล้สถานีรถไฟฟ้าพญาไท ขนาดประมาณ 935 ตารางวา มูลค่าประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์การเรียนการสอนนอกระบบ ณ อาคารวรรณสรณ์ ย่านสี่แยกพญาไท สูง 18 ชั้น มูลค่าก่อสร้าง 300 ล้านบาท

จากลักษณะการบริหารพื้นที่ของจุฬาฯ ที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชามีอนาคตที่ไม่แน่นอน บางโรงเรียนอยู่มานานถึง 17 ปี จ่ายค่าเซ้งให้จุฬาฯ ไปแล้ว 30-40 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนในการอยู่ในพื้นที่ “อนุสรณ์” จึงคุยกันในกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาว่า หากมีอาคารเป็นศูนย์ของโรงเรียนกวดวิชาโดยเฉพาะ จะสนใจมาอยู่ร่วมกันหรือไม่ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี และขณะนี้มีเกือบ 20 โรงเรียน และร้านค้าปลีกบางแห่งจากสยามฯ จะมาร่วมอยู่ในอาคารแห่งนี้ด้วย

แม้ค่าเช่าที่อาคารวรรณสรณ์ จะไม่ต่างจากสยามสแควร์มากนัก แต่สิ่งที่ “อนุสรณ์” ตอกย้ำ คือความแน่นอนในอนาคตของโรงเรียนกวดวิชา เพราะไม่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแผนการพัฒนาพื้นที่ตลอดเวลา และการขึ้นค่าเช่าอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งปัญหาไฟดับ เหมือนอย่างที่เกิดที่สยามสแควร์บ่อยครั้ง ซึ่งในทางธุรกิจแล้ว อาคารนี้ ไม่ได้หวังผลกำไร เพราะแผนธุรกิจของอาคารแห่งนี้ ได้ผลตอบแทนเพียง 6-7% และกว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลาถึง 12-15 ปี มีกำหนดเปิดทำการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ซึ่ง “อนุสรณ์” คาดว่าจะมีเด็กมาที่ศูนย์แห่งนี้วันละประมาณ 13,000 -14,000 คนในวันธรรมดา และเสาร์-อาทิตย์กว่า 40,000 คน

บทสรุปของกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาที่กำลังย้ายฐานไปยังแยกพญาไท กำลังเป็นสิ่งท้าทายให้กับสยามสแควร์ ว่าจะแก้เกมอย่างไร เพราะหากเด็กๆ นับหมื่นคนต่อวันหายไปจากที่แห่งนี้ “สยามสแควร์” อาจค่อยๆ หมดเสน่ห์ให้น่าค้นหาอีกต่อไป