ศึกชิง Young Entrepreneur

บรรยายที่ดูคึกคักไม่น้อยกับงานเสวนา ความคาดหวังหลังเลือกตั้ง ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ จัดขึ้นโดยได้นำผู้จบหลักสูตรรุ่นที่ 2 ของโครงการ SCB Young Entrepreneur จำนวน 50 คนมาเปิดเวทีแสดงทัศนะให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว

นับว่ามีนัยอย่างน่าสนใจในการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพราะเป็นการตั้งใจประชาสัมพันธ์โครงการ และโชว์ศักยภาพของกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ Young Entrepreneur ที่ไทยพาณิชย์คัดเลือกมาจากฐานลูกค้าสินเชื่อ SME ขนาดกลางของไทยพาณิชย์ เป็นทายาทรุ่นลูกที่เข้ามาดูแลกิจการแทนรุ่นพ่อแม่

มีประเมินกันว่า ธุรกิจหรือกิจการระดับ SME ที่ 50 คนดำเนินอยู่มีมูลค่ารวมกันถึงแสนล้านบาท แม้ส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจกันอยู่ตามหัวเมืองต่างจังหวัด แต่ศักยภาพของธุรกิจที่เหล่าคนรุ่นใหม่ดูแล มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมของประเทศอย่างมาก เช่น ธุรกิจผลิตถุงเพื่อส่งออกรายใหญ่ที่สุดในเอเชียของ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเทรียล มีมูลค่าการผลิตต่อปีถึง 30,000 ล้านบาท

ดังนั้น สาระงานเสวนาที่จัดขึ้นดูจะไม่น่าสนใจเท่ากับการปรากฏตัวของเหล่า 50 Young Entrepreneur ที่งานนี้ไทยพาณิชย์ประกาศชัดว่า จะเป็นโครงการต่อเนื่องในระยะยาวที่จะเป็นแผนงานทางกลยุทธ์ที่จะขยายฐานไปสู่กลุ่มประกอบการรุ่นใหม่

เห็นโครงการของไทยพาณิชย์ครั้งนี้ ย่อมอดนึกถึงโครงการอบรม SME ของกสิกรไทยไม่ได้ ที่ใช้ชื่อว่า K SME CARE ซึ่งมีลักษณะโครงการอบรมคล้ายๆ กัน แม้รายละเอียดโครงการจะแตกต่างกันบ้าง โดยไทยพาณิชย์เน้นคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการอบรมจากกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเก่า หรือลูกค้าประจำของธนาคาร เน้น Class ไม่เกิน 50 คน ขณะที่กสิกรไทยเปิดกว้างคัดเลือกผู้เข้าอบรมทั้งลูกค้าประจำและไม่ใช่ลูกค้าประจำ เน้น Class ใหญ่มากถึง 500 คน

ทว่าเป้าหมายสำคัญของไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย หวังผลลึกๆ ที่คล้ายกันคือ โครงการนี้จะเป็น สะพานเชื่อมขยายฐานหาลูกค้ากลุ่มใหม่และต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิม โดยเฉพาะกลุ่ม Young Entrepreneur ที่ได้เข้ามาดูแลกิจการแทนพ่อแม่ จะเป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่แบงก์ต้องพยายามหาทางให้คนกลุ่มนี้เกิดความผูกพันกับแบงก์และอยากเป็นลูกค้าแบงก์ตลอดไป

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวอย่างน่าสนใจว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีของแบงก์คือฐานรายได้ที่ดีสุด มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่ออื่นๆ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต ที่อยู่อาศัย ดังนั้น แบงก์ไทยจึงต้องทำตลาดอย่างหนักเพื่อให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

นี่เป็นเพียงสงครามรบย่อยๆ ของการดึงลูกค้าสินเชื่อ SME ระหว่างสองแบงก์ โดยเกจิชี้ว่า ศึกระหว่างไทยพาณิชย์กับกสิกรไทย เป็นการช่วงชิงพื้นที่อันดับที่ 3 ของตลาดสินเชื่อ SME ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างสูสี โดยมีเบอร์หนึ่งอย่างแบงก์กรุงเทพ และเบอร์สอง ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ครองตลาด

Did you know?

ธุรกิจเอสเอ็มอีมีมูลค่าถึง 2.9 ล้านล้านบาท หรือ 39.5% ของ GDP ในประเทศ มีอัตราการเติบโต 4.5-4.7% ต่อปี และ 65% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยู่ในธุรกิจประเภทบริการและค้าปลีก

เปรียบเทียบสองโครงการอบรม SME

ไทยพาณิชย์
ชื่อโครงการ SCB Young Entrepreneur
เนื้อหา เน้นฝึกทักษะด้านการบริหารจัดการแก่ทายาทเจ้าของธุรกิจขนาดกลาง
สถาบันการศึกษาที่ร่วมมือ วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กลุ่มเป้าหมาย อายุ 25-32 ปี เป็นทายาทเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อหรือมีเงินฝากกับธนาคาร
เป้าหมายโครงการ ต่อยอดธุรกิจทางด้านสินเชื่อ SME จากรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก สร้างความผูกพันของแบรนด์ในระยะยาว

กสิกรไทย
ชื่อโครงการ K SME CARE
เนื้อหา เน้นความรู้ด้านบริหารจัดการ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมาใช้ในทางธุรกิจ
สถาบันการศึกษาที่ร่วมมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศที่มียอดขาย 10- 400 ล้านบาท เป็นเจ้าของธุรกิจหรือทายาทดำเนินกิจการมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เป็นลูกค้าธนาคารหรือไม่เป็นลูกค้าธนาคารก็ได้
เป้าหมายโครงการ ใช้การอบรมเข้าถึงลูกค้า SME ที่เป็นทั้งลูกค้าธนาคารและไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น