กระเป๋าเงินมือถือ

กลับมาอีกครั้งกับความพยายามเปิดตัวบริการทางการเงิน “Mobile Banking” หลังจากเงียบหายไปพักหนึ่ง เพราะตลาดไม่คุ้นเคยเรื่องการใช้เงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ครั้งนี้เป็นเวลาแข่งขันขับเคี่ยวกันอย่างสุดๆ ระหว่าง “ทรู มันนี่” ค่ายทรู คอร์ปอเรชั่น กับ “mPAY” ของเอไอเอส

ต้องยอมรับ และให้เครดิตกับค่ายทรู ที่ปล่อยทีวีซีชุด “หม่ำ” จ่ายค่าบริการผ่านมือถือ โดยเสียบแบงก์ไว้หลังเครื่องมือถือ จนสามารถดึงให้คนสนใจบริการนี้มากขึ้น นี่คือช่วงแรกของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ตลาด ที่ “วรุณเทพ วัชราภรณ์” กรรมการผู้จัดการ แอดวานซ์ เอ็มเปย์ หรือ mPAY ยอมรับว่าทีวีซีชุดนี้ช่วยให้ลูกค้ารู้จักบริการมากขึ้น และส่งผลดีต่อ mPAYโดยอัตโนมัติ

ที่ผ่านมา mPAY ทำตลาดโดยผ่านตัวแทน หรือ mAGENT ที่เน้นให้บริการเติมเงินแก่ลูกค้าวันทูคอลมี 4 หมื่นรายทั่วประเทศ จนปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้งานต่อเนื่องแล้ว 6 แสนราย

นับจากนี้จะเน้นลูกค้าโดยตรง หรือ End User ที่คุ้นเคยกับบัตรเครดิต เอทีเอ็ม และใช้บริการ Non-voice หรือบริการนอกเหนือจากโทรคุยเท่านั้น เช่น อินเทอร์เน็ต ซื้อสินค้าออนไลน์ และมองเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย ด้วยการเน้นกิจกรรม Below the line เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้รู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือคือกระเป๋าเงิน และพัฒนาช่องทางให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น รวมถึงเจรจากับคู่ค้าเพื่อให้ส่วนลดบริการต่างๆ คาดสิ้นปีจะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 1 ล้านราย

สำหรับทรูมันนี่ แม้จะมาทีหลังแต่ “อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู มันนี่ บอกว่ามีฐานลูกค้าทรูมันนี่ที่ใช้ผ่านทรูมูฟถึง 2.5 ล้านราย และกลยุทธ์ล่าสุดของทรูมันนี่ คือการเปิดช่องทางชำระเงินผ่านจุดบริการที่เรียกว่า “ทรูมันนี่ เอ็กซ์เพรส” และมีพันธมิตร เช่นร้านซึทาญ่า อีเพย์ และดับเบิลเอ ร่วมเป็นแฟรนไชส์ รวม 5 พันจุดทั่วประเทศ และเพิ่มเป็น 1 หมื่นจุดในสิ้นปี

เมื่อเงินรายได้นับร้อยล้านบาทต่อปีกำลังจะงอกเงยเป็นพันล้านต่อปี จากค่าธรรมเนียมของแต่ละคลิกที่เกิดขึ้น การแข่งขันที่น่าจับตาช่วงนี้ จึงถือเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น

SWOT Analysis
——————————————————————————————————
mPAY ทรูมันนี่
—————————————————————————————————–
Strengths
-ใช้บริการ mPAY ได้จากทั้งในและต่างประเทศ -แผนการ Convergence ธุรกิจ
-ความเป็นผู้นำตลาดทำให้มีคอนเนกชั่นที่ดี เช่น ในเครือ ทำให้มีฐานลูกค้าจำนวนมาก
ธนาคาร และผู้ค้าอื่นๆ -ช่องทางจุดบริการลูกค้าจำนวนมาก
-เป็นรายแรกที่ให้บริการในตลาดนี้ (ปี 2548)
-มีฐานลูกค้าจำนวนมากและมีคุณภาพ
————————————————————————————————————-
Weaknesses
-ตลาดยังต้องการเวลาเรียนรู้ และความคุ้นเคย -ตลาดต้องการวิธีเชื่อมต่อที่ง่าย
————————————————————————————————————
Opportunities
-ภาวะเศรษฐกิจขยายตัว ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลง ช่วยทำให้ลูกค้าต้องการใช้บริการมากขึ้น
-มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นตลาด -จำนวนฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างกันมากขึ้น
———————————————————————————————————-
Threats
-การแข่งขันเรื่องค่าธรรมเนียมกับคู่แข่ง -ช่องทางการชำระค่าสินค้าบริการอื่นเพิ่มขึ้น