ย้อนรอยปัญหา “วัดเรตติ้งทีวี”

ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานเมื่อปี 2544 ว่า ธุรกิจการวิจัยตลาดมีผู้ประกอบการจำนวน 70 ราย มีรายได้รวมประมาณ 1,692.66 ล้านบาท โดยบริษัทที่มีรายได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ บริษัท เอซีนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เทยเลอร์ เนลซัล ซอฟเฟรส จำกัด และบริษัท ซินโนเวต จำกัด

ปี 2544 นั้นเป็นปีที่เกิดกรณีวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการทำงานและความน่าเชื่อถือของนีลเส็นอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่กระบวนการสรรหาผู้จัดสำรวจเรตติ้งโทรทัศน์รายใหม่ แต่ก่อนหน้านั้นระลอกคลื่นก็สั่นคลอนบัลลังก์ของนีลเส็นอยู่เรื่อยๆ ทั้งการนำทีมของอินนิชิเอทีฟและการประณามจากไอทีวี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ชื่อบริษัทใหม่) ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นบริษัทวิจัยที่ทรงอิทธิพลและมีรายได้สูงสุดอยู่เช่นเคย จากมูลค่าธุรกิจการวิจัยตลาดในประเทศไทยในปัจจุบันที่เฉียด 3,000 ล้านบาท

ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อกี่ครั้ง แต่ก็ยังเป็น “นีลเส็น” ที่มีส่วนกำหนดและชี้ชะตาธุรกิจสื่อที่มีเม็ดเงินโฆษณาปีละหลายหมื่นล้านบาทได้อยู่ดี

ปัญหาของการวัดเรตติ้งโทรทัศน์ในไทยพอจะประมวลสรุปให้เข้าใจได้ดังนี้ คือ

สัญญาณของเครื่องรับโทรทัศน์ด้อยคุณภาพ จากหลายสาเหตุ อาทิ ความแรงของสัญญาณจากสถานีต้นทางไม่เท่ากัน โทรทัศน์มีสภาพเก่าเก็บเกินใช้งาน การใช้เสาอากาศที่ติดกับเครื่องรับโทรทัศน์ (เสาหนวดกุ้ง) และสภาพอากาศซึ่งไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ

นอกจากนี้ยังรวมถึงการถ่ายทอดสดรายการเดียวกันหลายๆ ช่อง หรือรายการโทรทัศน์ร่วมกันเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ทำให้ไม่สามารถวัดได้ว่าผู้ชมกำลังชมอยู่ที่สถานีไหน และกลุ่มตัวอย่างไม่ให้ความร่วมมือในการติดตั้งเครื่องมือ หรือกลุ่มตัวอย่างไม่ได้ถูกคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนของทุกชนชั้นในสังคมไทยได้ รวมถึงระบบประมวลผลต่างๆ ที่ควรมีการชี้แจงให้ทราบและเข้าใจถูกต้องตรงกัน ซึ่งจุดนี้ถือเป็นปัญหาที่นีลเส็นจะต้องแก้ไขและปรับปรุง

ไม้เบื่อไม้เมา

ด้าน ประวิทย์ มาลีนนท์ ในฐานะ ต้องเผชิญปัญหากับผลสำรวจเรตติ้งของนีลเส็นมาโดยตลอด เขาเคยเอ่ยถึงเรื่องเรตติ้งรายการของช่อง 3 เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้วว่า “หลายฝ่ายมองว่าเรตติ้งของช่อง 3 ไม่ดีนัก แม้จะปรับผังใหม่เชื่อว่าก็ยังมีปัญหาเรื่องเรตติ้งอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาคู่กับสถานีโทรทัศน์มานานแล้ว เพราะบริษัทสำรวจเรตติ้งกลางก็ยังเป็นเอซี นีลเส็นอยู่ ในขณะที่ช่อง 3 ได้ทำสำรวจเรตติ้งเอง ถือว่าเรตติ้งอยู่ในระดับที่พอใจ แต่ต้องยอมรับว่าบริษัทโฆษณาต้องใช้เกณฑ์จากเรตติ้งของบริษัทวิจัยกลางเป็นตัวตัดสินใจซื้อโฆษณา ซึ่งส่งผลให้ปีนี้รายได้โฆษณาของช่อง 3 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ที่ผ่านมาการสำรวจเรตติ้งของบริษัทวิจัยในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของทุกสถานีที่ไม่เกิน 50 ซึ่งหมายถึงว่า จำนวนทุกครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ไม่ถึง 50% ที่ดูโทรทัศน์ในแต่ละช่องในช่วงเวลาดังกล่าว มองว่าไม่น่าเป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งรายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่มีเรตติ้งเพียง 3 หรือ 3% ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ดูถึงเรื่องเล่าเช้านี้เพียง 3% รายการฟุตบอลโลก ไม่เคยมีเรตติ้งเกิน 8% แพ้ละครตลอดเลย ก็ไม่น่าเป็นไปได้ หรือกรณีของรายการถึงลูกถึงคนช่องโมเดิร์นไนน์ ทีวี เป็นรายการที่ได้รับความนิยมมาก แต่กลับมีเรตติ้งเพียง 1 เท่านั้น นี่คือปัญหาของการสำรวจเรตติ้งของเมืองไทย” (จากผู้จัดการออนไลน์, ธันวาคม 2547)

แม้จะผ่านมานานแต่ปัญหานี้ยังคงอยู่และส่งผลกระทบต่อทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์อย่างชนิดที่เรียกว่าแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ช่วงหลังๆ แม้ช่อง 3 จะมีเรตติ้งบางช่วงดีกว่าช่อง 7 โดยเฉพาะช่วงข่าวเช้า แต่โดยภาพรวมแล้วช่อง 3 ก็ยังเป็นสถานีเบอร์ 2 ภายใต้รายงานผลสำรวจวิจัยเรตติ้งโทรทัศน์ด้วยฝีมือของนีลเส็นอยู่เช่นเคยและเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน

Did you know?

เรตติ้ง = จำนวนครัวเรือน (ประชากร) ที่เปิดดูรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง x 100 จำนวนครัวเรือน (ประชากร) ที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ทั้งหมด

เวลาที่พูดว่ารายการหนึ่งมี Rating สูง จึงหมายความว่ารายการนั้นได้รับความนิยมสูง คือมีเปอร์เซ็นต์คนดูรายการ (ซึ่งอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์) โทรทัศน์สูงหรือมีจำนวนมากนั่นเอง