ช็อปสร้างแบรนด์

“2 ปีก่อนที่เซี่ยงไฮ้ มีคนชี้ให้ผมดูช็อปของเลอโนโว แล้วบอกว่าคุณดูไว้นะ แบรนด์นี้น่ากลัว”

ภิญโญ สงวนเศรษฐกุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย ส่วนงานผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงอดีตสมัยที่เขายังดูแลด้านการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ไวโอ้ ของบริษัท โซนี่ ไทย จำกัด และไม่คิดมาก่อนว่าวันนี้เขาต้องเป็นคนหาทำเลสำหรับขยายแบรนด์ช็อปให้กับเลอโนโวในไทยอีกด้วย

หัวใจของการสรรหาแบรนด์ช็อปอยู่ที่ทำเล สำคัญว่าใครจะได้ทำเลดีกว่ากัน ถ้าใครเดินห้างพันธุ์ทิพย์แล้วลองสังเกตจะเห็นว่า บันไดเลื่อนขึ้นเลื่อนลงแต่ละชั้นยังต้องสลับทางขึ้นลงกันทุกครึ่งเดือน

กลยุทธ์การหาแบรนด์ช็อปของเลอโนโวกับประสบการณ์เก่าของภิญโญที่โซนี่ก็เช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่แบรนด์อย่างโซนี่ การเปิดแบรนด์ช็อปอาจเน้นไปที่การขยายช่องทางจำหน่ายร่วมกับการเป็นเพิ่มช่องทางให้ลูกค้ามีประสบการณ์กับแบรนด์เพิ่มขึ้น แต่ในความหมายแบรนด์ช็อปของเลอโนโว ซึ่งถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาด มีนัยมากกว่าการขยายร้านค้าปลีก

“ลักษณะของแบรนด์ช็อปหลักๆ เป็นเรื่อง Experience Marketing ให้ลูกค้าได้สัมผัสกับสินค้า เพราะลูกค้าทุกวันนี้ไม่เชื่อแค่ที่เห็นในโฆษณา ต้องได้จับได้ลอง ถ้ามีแบรนด์ช็อปของตัวเองการนำเสนอจึงไม่จำเป็นต้องเน้นด้านราคา แต่สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้จริง”

นอกจากลดปัญหาเรื่องการแข่งขันราคา แบรนด์ช็อปของเลอโนโวในยุคเริ่มต้น ยังมีความหมายครอบคลุมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และการสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ด้วยความพร้อมในการนำเสนอสินค้าครบไลน์

ที่สำคัญแบรนด์ช็อปยิ่งมาก อนาคตยอดขายก็ยิ่งสดใส ภิญโญประเมินคร่าวๆ ว่า แบรนด์ช็อปหนึ่งแห่งสามารถทำยอดขายได้สูงกว่าคอร์เนอร์ถึง 3 เท่า จึงไม่แปลกที่ทุกยี่ห้อจะหันมาเน้นพัฒนาแบรนด์ช็อปกันมากขึ้น

เลอโนโววางแผนไว้ว่า อย่างน้อยภายในปีนี้ น่าจะมีแบรนด์ช็อปเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง และคอร์เนอร์เพิ่งขึ้นจาก 10 แห่งเป็น 20 แห่ง เพราะเชื่อว่าต่อให้การพัฒนาโปรดักส์ดีเพียงใด ถ้าช่องทางจำหน่ายไม่ขยายไปด้วยกันก็ไม่มีประโยชน์

SWOT
จุดอ่อน
-การเป็นแบรนด์ใหม่และเป็นแบรนด์จีน ซึ่งจะใช้วิธีแก้ด้วยการอธิบายผ่านหน้าร้านแบรนด์ช็อปด้วยการให้ข้อมูลต่างๆ เช่น 80% ของโน้ตบุ๊กในปัจจุบันผลิตในจีน
-ความใหม่ในตลาด ซึ่งฝ่ายคอนซูเมอร์ของลีโนโวเพิ่งจะเริ่มเดินเครื่องอย่างจริงจังปลายปี 2550 ทำให้ช่องทางจำหน่ายยังไม่แข็งแรงและครอบคลุมพอ
จุดแข็ง
-เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในจีน และอันดับสามของโลก
-สินค้ามีความแตกต่างจากยี่ห้ออื่นชัดเจน เช่น คีย์บอร์ดกันน้ำ ไฟฉายสำหรับทำงานกลางคืนที่ตัวเครื่อง ฝาครอบที่ปิดสนิทกันฝุ่น ตกกระแทกได้ เป็นต้น
-มีพันธมิตรที่มีความเข้าใจและเชื่อมั่นในแบรนด์

โอกาส
-การใช้กลยุทธ์ Pull PR ดึงลูกค้าเข้าไปหาสินค้าในร้านดีลเลอร์ พร้อมๆ กับกลุยทธ์ Pull Demand คือการเสนอขายสินค้าให้ดีลเลอร์เมื่อมีผู้ต้องการสินค้า ทำให้ดีลเลอร์ไม่ต้องสต็อกสินค้า เพื่อช่วยด้านเงินสดหมุนเวียนและสร้างความพอใจในการขายสินค้ามากขึ้น
-การสร้างแบรนด์ช็อปของตัวเอง จะทำให้เพิ่มช่องทางค้าปลีกที่เป็นทั้งทัชพ้อยต์ซึ่งรับเสียงของผู้บริโภคได้ตรงๆ และเพิ่มความแข็งแกร่งของช่องทางจำหน่ายมากขึ้น

อุปสรรค
-คนส่วนใหญ่รู้จักเลอโนโวน้อยกว่าแบรนด์ไอบีเอ็ม

สัดส่วนยอดขายเลอโนโว
ตลาดกลาง-บน ราคา 3 หมื่นบาทขึ้นไป 30%
ตลาดกลาง-ล่าง 1.99-3.0 หมื่นบาท 70%

Did you know?

Legend คือชื่อแบรนด์เดิมของเลอโนโว มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า “Novo” ในภาษาละติน แปลว่าใหม่