“คิวยาวไว้ก่อน”

Irashaimase! คำกล่าวต้อนรับแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น พร้อมกับกลิ่นหอมของเครื่องเทศซึ่งคลุกเคล้ากับสเต๊กไก่ลอยมาปะทะจมูกเป็นระยะ ภาพของผู้คนที่เข้าคิวคับคั่งในร้านเล็กๆ บนชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ ในวันเปิดตัวอาจเป็นเสมือนภาพจริงที่ CRG ต้องการให้เกิดขึ้นในทุกวัน

เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) แฟรนไชส์ร้านอาหารรูปแบบ Fast Casual Restaurant จากประเทศญี่ปุ่น บริหารงานโดย Suntory F&B International คือ ร้านอาหารลำดับที่ 6 ของเซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG และนับเป็นครั้งแรกของ CRG ที่นำเชนร้านอาหารที่ไม่ใช่ Global Brand มาทำตลาด

ธีระเดช จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า Fast Casual Restaurant เป็นเทรนด์นิยมที่มาแรงในประเทศญี่ปุ่น มีสไตล์เดียวกับมอส เบอร์เกอร์ ที่เปิดตัวก่อนหน้า เป็นการผสมระหว่าง Fast Food และ Casual Restaurant แต่เปปเปอร์ ลันช์ มีลูกเล่นมากขึ้นด้วยคอนเซ็ปต์ DIY

เปปเปอร์ ลันช์ เลือกใช้สีส้มและแดงเป็นสีสัญลักษณ์หลัก อันเป็นสียั่วเย้าน้ำลายและทำให้เกิดการกระตุ้นให้อยากอาหารมากขึ้น ขณะที่การตกแต่งร้านด้วยโต๊ะและเก้าอี้ไม้ก็ให้ความรู้สึกเป็น Fast Food ด้วยกิมมิกแบบปรุงเองทำให้ลูกค้ารู้สึกเอ็นจอยกับการเติมแต่งรสด้วยซอสหวาน ซอสเค็ม พร้อมกับคลุกเคล้ากับกระทะร้อนที่คงความร้อนที่อุณหภูมิกว่า 80 องศา ได้นานประมาณ 20 นาที ขั้นตอนการสั่งอาหารเกิดขึ้นที่บริเวณเคาน์เตอร์ จากนั้นชำระเงินและรับหมายเลข ลูกค้าเดินไปนั่งรอที่โต๊ะ เมื่ออาหารปรุงเสร็จพนักงานจะยกมาเสิร์ฟให้

จากนั้นมาถึงขั้นตอนในการ DIY เช่น หากเราสั่งสลัดไก่ พนักงานจะแนะนำให้เขย่าถ้วยก่อนรับประทานเพื่อคลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากัน หรือหากเป็นข้าวผัดแซลมอนก็ต้องคลุกเคล้าทั้งแซลมอน ข้าวโพดและข้าวให้เข้ากัน

ด้วยรูปแบบการสั่งอาหารดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “คิวยาว” บางครั้งเลื้อยทะลุออกมานอกร้าน ซึ่งทั้งมอส เบอร์เกอร์ และกินดาโก ก็เกิดปรากฎการณ์รูปแบบเดียวกันนี้ จนตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “ร้านไหนคิวยาว ร้านนั้นอร่อย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Consumer Perception ได้เป็นอย่างดี

ในอนาคตอาจมีการเปิดบริการเปปเปอร์ ลันช์ในรูปแบบ Express เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น โดยปัจจุบันเปปเปอร์ ลันช์มีสาขาส่วนใหญ่ในแถบเอเชีย โดยมีกว่า 200 สาขาในญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศอื่นๆ คือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

Did you know?

โลโก้ของเปปเปอร์ ลันช์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของกระทะร้อน ทั้งนี้เป็นความฝันของ Kunio Icinose ผู้ก่อตั้งซึ่งมองโลกเป็นเสมือนผืนผ้าใบสีขาวที่เขาต้องการวาดระบายด้วยร้านอาหารของเขาเพื่อทำให้ผู้คนมีความสุข

Pepper Lunch
Positioning DIY Steak House แบบญี่ปุ่น สไตล์ Fast Casual Restaurant
Product Analyze มีความหลากหลายของเมนูน้อย มีแค่ 10 เมนูเท่านั้น และมี Price Range ประมาณ 120-390 บาท ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงหากเปรียบเทียบกับอาหารจานเดียวในระดับเดียวกัน ซึ่งสาขาแรกมี 132 ที่นั่ง ใช้งบลงทุน 50 ล้านบาท
Market Analyze คู่แข่งทางตรงที่ชนกันจะจะยังไม่มี เพราะส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบ Casual Restaurant

www.pepperlunch.com