แบรนด์ฮอลแลนด์ สามัคคีคือพลัง

หลายคนอดประหลาดใจไม่ได้ เมื่อเห็นสินค้าและแบรนด์ที่คุ้นตามาแสนนานในงาน Holland Village ว่าที่จริงแล้วนำเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์) หรือนี่

เพราะในสายตาของผู้บริโภคชาวไทยจดจำภาพลักษณ์ฮอลแลนด์ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี แต่กลับเชื่อมโยงตราสินค้ากับแหล่งที่มาน้อยมาก แม้ว่าจะมีสินค้าอุปโภค-บริโภคจากประเทศนี้วางจำหน่ายมากมายในท้องตลาด ทำให้พลังของแบรนด์ในฐานะที่เป็นจุดขายของประเทศไม่เข้มแข็งเพียงพอ หากเทียบกับสินค้าจากประเทศยุโรปอื่นๆ อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี ทั้งๆ ที่มีประวัติศาสตร์การค้ากับประเทศไทยยาวนานพอกัน

ในยุคที่ความได้เปรียบทางการแข่งขันต้องอาศัยกลยุทธ์การตลาดเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ “วัฒนธรรม” เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้า ทำให้แบรนด์ต่างชาติต้องปรับตัวด้วยการชูตราสินค้าเคียงคู่ไปกับโปรโมตภาพลักษณ์ของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจหากมีการจับมือร่วมกันอย่างแข็งขันมากขึ้นระหว่างบริษัทกลุ่มสินค้าแดนกังหัน เพื่อเสริมสร้างความเป็นแบรนด์ฮอลแลนด์อย่างเข้มแข็ง

สะท้อนให้เห็นจาก “Holland Village” ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The World of Happiness” นอกจากจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าระหว่างไทยกับฮอลแลนด์ภายใต้บรรยากาศหมู่บ้านฮอลแลนด์ปี 1873 ที่แสดงกิจกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมไปถึงบ้านของชาวดัตช์ กังหันฮอลแลนด์สูง 9.6 เมตร เคล้าคลอไปกับดนตรีพื้นเมือง ยังมีการออกร้านกว่า 20 ร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าวัฒนธรรมนำเข้า และแนะนำสินค้าที่มาจากฮอลแลนด์ที่เข้าชื่อเป็นสปอนเซอร์

สปอนเซอร์ที่ปรากฏชื่ออยู่นั้น มีทั้งรายใหญ่อย่าง Heineken และ ING Life ตามมาด้วยรายย่อยที่มาแสดงตัวในฐานะตัวแทนแบรนด์ดัตช์ ได้แก่ Foremost, Phillips, Wall, Marco, The Full Effect Co. Ltd, Thai Tank Terminal, Moccona, KLM, KLH, K.H, S.P.F. ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่เพิ่งจับมือกันเปิดบูธ “Holland Pavilion” ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ไปไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ในงาน F.T.I. Fair ของสภาอุตสาหกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ไทยที่สนใจจะขยายการค้าการลงทุนไปสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์

จากกลุ่มลูกค้าของศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์อยู่ในระดับ B+ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ นับว่าสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของบริษัทพันธมิตรสัญชาติดัตช์ที่ต้องการ “ขาย” วัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการสร้างแบรนด์ เช่น Heineken จัดให้มีมิวเซียมแสดงประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่ในการผลิตเบียร์และขายสินค้าไปด้วย รวมไปถึงร้าน Foremost, Moccona และ Phillips เป็นต้น ส่วนบริษัทอื่น เช่น ING Life หรือ Thai Tank Terminal ที่ไม่ได้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ก็ติดป้ายโชว์ว่าเป็นสปอนเซอร์ของบูธกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆ

ดูจากรายชื่อแบรนด์ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าแทรกซึมอยู่กับพวกเรามานานแล้ว ยิ่งมารวมกลุ่มก็ยิ่งเรียกร้องความสนใจจากสาธารณชนได้อย่างเปี่ยมพละกำลัง จึงเป็นความพยายามสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยการขายวัฒนธรรม และสร้าง Brand Awareness แบบ “แพ็กเกจรวม” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

Did you know?

ชาวเนเธอร์แลนด์เริ่มเข้ามาทำการค้าในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเราเรียกพวกเขาว่า “ชาวฮอลันดา”