เขาสร้างสถิติใหม่ในการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่ร้อนแรงที่สุดต่อจาก Google และเป้าหมายต่อไปของ Jack Ma ผู้ก่อตั้งและ CEO Alibaba.com คือการก้าวสู่บริษัทระดับโลกแห่งแรกของจีน
เดือนพฤศจิกายน 2550 Alibaba.com เว็บพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) อันดับหนึ่งของจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมือง Hangzhou เสนอขายหุ้น IPO มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์หรือ 17% ของหุ้นทั้งหมดที่ตลาดหุ้นฮ่องกง และสร้างปรากฏการณ์เป็นหุ้น IPO ที่ร้อนแรงที่สุด นับตั้งแต่ที่ Google เคยสร้างปรากฏการณ์เดียวกันมาแล้ว เมื่อตัดสินใจเป็นบริษัทมหาชนในปี 2004
บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ซึ่งรวมถึง Yahoo!, Cisco และ AIG ได้เป็นนักลงทุนหลักของ Alibaba ซึ่งก่อตั้งโดย Jack Ma ในขณะที่ความต้องการซื้อหุ้น IPO ของ Alibaba ของนักลงทุนรายย่อย มีสัดส่วนมากกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายถึง 257 ต่อ 1
ในวันแรกๆ ของการซื้อขาย ราคาหุ้น Alibaba พุ่งขึ้นเป็น 5.13 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากราคาเปิด ดันมูลค่าตลาดของบริษัทพุ่งทะลุ 2 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์ กระนั้นก็ตาม การที่ทางการจีนควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด และการที่มีพนักงานเพียง 4,400 คน บวกกับยอดขายปีที่แล้วเพียง 182 ล้านดอลลาร์ Alibaba ก็ยังคงเป็นเพียงกุ้งตัวเล็กๆ ในมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของจีน
แม้ Alibaba.com จะอ้างว่า มีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกับเว็บมากถึง 25 ล้านคน แต่หนังสือชี้ชวนของบริษัทก็เตือนว่า Alibaba เก็บค่าบริการจากลูกค้าเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น และเว็บนี้ต้องพึ่งลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ที่มีจำนวนเพียง 22,000 คน ซึ่งจ่ายเงินซื้อบริการที่เรียกว่า “Gold Suppliers” โดยรายได้จากลูกค้ากลุ่มเล็กๆ นี้มีสัดส่วนถึง 71% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการซื้อขายหุ้น Alibaba ดันรายได้ของบริษัทในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีก 83 ล้านดอลลาร์ หรือ 5 เท่าของ Google ในตลาดจีนซึ่งมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 160 ล้านคน และยังเติบโตอีก 23% ทุกปี Alibaba.com นับเป็นผู้นำตลาดพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B e-commerce) ด้วยการครองส่วนแบ่งในตลาดนี้ถึง 69% นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การจับตลาด B2B e-commerce ในจีน เป็นการจับตลาดได้ถูกจุดมากที่สุด ในประเทศที่มีระบบการเมืองเผด็จการ และมีเศรษฐกิจที่นำโดยการส่งออก
ที่สำคัญกว่านั้นคือ Alibaba ประสบความสำเร็จด้วยโมเดลธุรกิจที่รับใช้ภาคธุรกิจที่สำคัญของเศรษฐกิจจีน แต่กลับตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ นั่นคือ บริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน Ma อธบายว่า โครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ของจีนซึ่งเพิ่งอยู่ในระยะตั้งไข่ ทำให้การค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-commerce เป็นธุรกิจที่น่าทำมากกว่าการทำเครื่องมือค้นหา (Search) เว็บชุมชนออนไลน์ (Social Networking) หรือเว็บบันเทิง
ในสหรัฐ e-commerce อาจเป็นเพียงตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เพราะบริษัทส่วนใหญ่ต่างมีพนักงานด้าน IT ของตัวเอง มีเว็บไซต์ของตัวเอง และรู้วิธีที่จะจัดการกับการรับจ่ายเงิน จึงต้องการเว็บอย่าง Google เพื่อให้ช่วยจัดระเบียบสิ่งต่างๆ และช่วยให้ลูกค้าสามารถหาสิ่งที่ต้องการได้
แต่ในจีน ซึ่งในจำนวนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมด 42 ล้านรายนั้น มีน้อยกว่า 1 ล้านรายที่มีความสามารถทางด้านอินเทอร์เน็ต นี่จึงเป็นโอกาสอันมโหฬารของ Alibaba เสนอบริการที่เติมเต็มความต้องการด้านอินเทอร์เน็ตให้แก่บริษัทเล็กๆ ของจีนส่วนใหญ่ ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพ และ Ma ยังมีความฝันที่สูงไปกว่าเพียงการทำเว็บ e-commerce เขาเชื่อว่าเขามีโอกาสที่จะเป็นผู้สร้างระบบที่มีศักยภาพ ที่จะกลายเป็นสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตให้แก่จีนทั้งประเทศ
งาน Alifest เป็นงานพบกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน ซึ่งเป็นลูกค้าของ Alibaba จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่สำนักงานใหญ่ใน Hangzhou ของ Alibaba บริษัทเล็กๆ ของจีนต่างชื่นชม Alibaba ที่เป็นสื่อกลางให้ตนสามารถหาลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีความสามารถด้านไอที ถ้าหากไม่มีเว็บ Alibaba
เมือง Hangzhou เมืองหลวงของมณฑล Zhejiang ดูเหมือนจะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่เหมาะสมกับ Alibaba มากที่สุด Zhejiang นับเป็นศูนย์กลางผู้ประกอบการของจีน เป็นมณฑลที่ขับเคลื่อนไปได้ด้วยการเติบโตของบริษัทเอกชนของจีน ไม่ใช่ด้วยการลงทุนจากภาครัฐ หรือเพราะมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์ และบริษัทเอกชนในมณฑลนี้ยังเป็นบริษัทจีนพันธุ์แท้ ที่ไม่ใช่เกิดจากการลงทุนของต่างชาติ
ส่วนเว็บ Alibaba เปรียบเสมือนห้างค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และขายสินค้าทุกชนิดตั้งแต่ถุงเท้า ดอกไม้พลาสติก หลอด อุปกรณ์กีฬา ไปจนถึงของประดับวันคริสต์มาส Ma บอกว่า Alibaba เป็นผู้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน ซึ่งจะเป็นอนาคตและคลื่นลูกหน้าในการเติบโตของจีนในอนาคต
Ma ซึ่งมีอายุ 43 ปีได้รับยกย่องให้เป็น ปู่ของอินเทอร์เน็ตจีน ไม่เคยรู้จัก World Wide Web มาก่อนปี 1994 เขาเคยเป็นสมาชิกกองกำลังพิทักษ์แดง (Red Guard) ก่อนจะเปลี่ยนมายึดอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ และฝึกฝนภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญจากการเป็นไกด์นำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติใน Hangzhou เขายังเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครู และในปี 1995 เขาก่อตั้ง China Pages ทำเนียบนามออนไลน์ ซึ่งนับเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตแห่งแรกของจีน
อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าวซึ่งร่วมหุ้นกับรัฐวิสาหกิจของจีน ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา Ma ก่อตั้ง Alibaba ที่อพาร์ตเมนต์ของเขาใน Hangzhou ในปี 1999 ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร
การใช้อินเทอร์เน็ตจับคู่บริษัท supplier ของจีนกับบริษัทผู้ซื้อจากต่างชาติ คือโมเดลธุรกิจของ Alibaba ระบบของเว็บ Alibaba ช่วยทำให้บริษัทรายเล็กๆ ของจีนมี “หน้าร้าน” ออนไลน์พร้อมใช้ สำหรับเสนอรายการสินค้าและบริการของบริษัท ซึ่งมีการจัดเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบถึงกว่า 5,000 ชนิด ผู้ซื้อเพียงแค่พิมพ์คำว่า “China” และ “Beer” ลงไปในเครื่องมือค้นหาของ Alibaba.com เท่านั้น ก็จะพบรายการสินค้าที่เกี่ยวกับเบียร์ของจีนมากกว่า 6,000 รายการ และไม่เพียงสามารถค้นพบข้อมูลของเบียร์ Tsingtai ชื่อดังของจีนเท่านั้น แต่ยังจะพบสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเหยือกเบียร์ ถังหมักเบียร์ ไปจนกระทั่งเครื่องขายเบียร์หยอดเหรียญ
การลงทะเบียน เสนอรายการสินค้า และการใช้คุณสมบัติพื้นฐานอื่นๆ ของเว็บ Alibaba ผู้ใช้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ Alibaba มีกำไรจากผู้ใช้เพียงประมาณ 1% ของผู้ใช้ทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งจ่ายค่าสมาชิกเพื่อที่จะได้ตำแหน่งดีๆ สำหรับ “หน้าร้าน” ของตนบนเว็บ หรือตำแหน่งดีๆ ที่จะปรากฏในผลการค้นหาของผู้ซื้อ และบริการพิเศษอื่นๆ
Alibaba เริ่มทะยอยเปิดเว็บต่างๆ ตามมา ตั้งแต่เว็บซื้อสินค้าออนไลน์ Taobao.com เว็บชำระเงินออนไลน์ Alipay.com เว็บโฆษณาย่อย Koubei.com และล่าสุดคือเว็บสำหรับสำนักพิมพ์และนักโฆษณาออนไลน์ที่มีชื่อว่า Alimama.com นอกจากนี้ Alibaba ยังบริหาร Yahoo China เว็บค้นหารายใหญ่อันดับ 3 ของจีน หลังจาก Yahoo! ทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ซื้อหุ้น 39% ของ Alibaba ซึ่งทำให้ Ma คุยได้ว่า Alibaba ในขณะนี้ก็เปรียบเหมือนกับเว็บ Google, eBay, Amazon และ Craigslist รวมกันในเว็บเดียว
เว็บช็อปปิงออนไลน์ Taobao.com ยังสามารถโค่นเว็บประมูลออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง eBay ของสหรัฐฯ ซึ่งรุกเข้าสู่จีนตั้งแต่ปี 2003 ลงได้อย่างราบคาบ ทั้งๆ ที่ eBay มีทั้งสายป่านที่ยาวกว่าและเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่า แถมยังทุ่มเงินซื้อ EachNet เว็บประมูลออนไลน์ชั้นนำของจีน แต่กลับต้องกลับกลายเป็นยักษ์ที่ถูกล้ม เมื่อเจอกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดกว่าของ Taobao ซึ่งต่อกรด้วยการออกแบบเว็บที่ฉลาดกว่า ซึ่งเข้าถึงความรู้สึกของลูกค้าชาติเดียวกันได้ดีกว่า แถมยังมีการสนับสนุนลูกค้าที่เลิศกว่า และความเต็มใจที่จะให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ขณะนี้ Taobao ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 83% ในขณะที่ eBay China มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 7% เท่านั้น จนเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว eBay ตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่ใน eBay China ให้แก่ Tom Online ของมหาเศรษฐกิจชื่อดังชาวฮ่องกง Li Ka-shing
แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง Alibaba กับ Yahoo! กลับเป็นภาพตัดกับ eBay ข้อตกลงกับ Yahoo! ทำให้ Ma มีสิทธิ์เข้าควบคุม Yahoo China อย่างเต็มที่ ในช่วงที่ Ma กำลังมองหาเครื่องมือค้นหาเพื่อมาเติมเต็มบริการในเว็บ e-commerce Alibaba ของเขาอยู่พอดี โดยที่เขาไม่ต้องเริ่มต้นสร้างเครื่องมือค้นหาใหม่จากศูนย์
ขณะที่การจับมือกับ Ma ก็ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ Yahoo เช่นกัน เพราะ Yahoo เอง ก็พบปัญหาในการนำโมเดลธุรกิจระดับโลกของตน มาใช้กับตลาดจีนเช่นเดียวกับ eBay เพราะนอกจากจะเจอคู่แข่งทั้งที่เป็นคู่ชกรุ่นใหญ่เหมือนกันอย่าง Google แล้ว Yahoo! ยังต้องเจอเว็บคู่แข่งสัญชาติจีนที่มาแรงอย่าง Baidu.com การตัดสินใจลงทุนใน Alibaba ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ยังดูเหมือนจะกลายเป็นการตัดสินใจลงทุนที่ชาญฉลาดที่สุดตลอดกาลของ Yahoo! อีกด้วย เมื่อหุ้น IPO ของ Alibaba มีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ Alibaba ยังไม่สามารถทำให้แก่ Yahoo! ได้ คือตำแหน่งของ Yahoo China ในตลาดจีน ซ้ำ Yahoo China ยังตกลงจากเว็บค้นหาอันดับ 2 เป็นอันดับ 3 ด้วย และยังถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆ จากเว็บท่า (Portal) สัญชาติจีนอย่าง NetEase.com และ Sina.com
แต่ Ma ประกาศว่า กลยุทธ์ของ Yahoo China จะเน้นการค้นหาลูกค้า High-end ที่สนใจทำการค้า ลงทุน และจัดการการเงินส่วนบุคคลผ่านอินเทอร์เน็ต ดูเหมือนว่า Ma จะยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับอนาคตของ Yahoo China เช่นเดียวกับที่เขาก็ดูเหมือนจะยังไม่มีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน สำหรับเงินทุนมหาศาลที่ Alibaba ระดมทุนได้จากการขายหุ้น IPO เมื่อปลายปีที่แล้ว
Ma ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกล่าวว่า ความสำเร็จของ Alibaba คือการที่ยังคงรักษาการเป็นบริษัทเอกชน โดยไม่กลายเป็นมหาชน ก่อนที่เขาจะตัดสินใจขายหุ้น IPO ของ Alibaba มาบัดนี้กลับประกาศว่า Alibaba จำเป็นต้องระดมเงินทุนจากภายนอก เพื่อขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจของ Alibaba ให้ได้เต็มที่ โดย Ma อ้างว่า นี่คือโอกาสทองที่อาจจะไม่พบเจอไปอีกถึง 20 ปี ดังนั้นเขาจึงต้องฉวยไว้ นั่นคือโอกาสที่ Alibaba จะไม่เพียงเป็นที่รู้จักในจีน แต่จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และจะช่วยให้ประเทศจีนก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
Alibaba ระบุว่า มีแผนจะใช้เงิน 60% ของเงินทุนที่ระดมได้จากการขายหุ้น IPO ไปกับการระดมซื้อกิจการ และอีก 20% ใช้ในการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจที่มีอยู่ ในช่วงปีที่ผ่านมา Alibaba ยังเสริมทัพผู้บริหาร โดยว่าจ้าง David Wei อดีตผู้บริหาร B&Q สาขาจีน ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับบ้านจากอังกฤษ มาเป็น CEO ของ Alibaba และ Andrew Tsuei อดีตหัวหน้าฝ่ายจัดซื้อทั่วโลกของ Wal-Mart มาเป็นกรรมการบริษัท
ในขณะที่ Wei CEO คนใหม่ของเปิดเผยว่า Alibaba กำลังเล็งตลาดต่างประเทศ รวมถึงอินเดีย เกาหลีใต้และไต้หวัน และเปิดตัวเว็บภาษาญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ Ma บอกว่า ในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ คงจะยังเน้นตลาดจีนไปก่อน แต่ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาจะทำให้ Alibaba กลายเป็นบริษัทระดับโลกอย่างแท้จริงแห่งแรกของจีนให้ได้ในอนาคต**
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 10 ธันวาคม 2550
มีแต่โตกับโต
Alibaba.comและ Taobao.com เติบโต 3 เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
25 ล้านราย $3.6 พันล้าน
ALIBABA.COM TAOBAO.COM
ผู้ใช้ที่ลงทะเบียนทั่วโลก ปริมาณการซื้อขาย
6 ล้านราย $1.1 พันล้าน
บริษัทในเครือ Alibaba
Alibaba.com เว็บขายสินค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจอันดับหนึ่งของจีน ด้วยยอดผู้ใช้ลงทะเบียนมากกว่า 25 ล้านคน มี “หน้าร้าน” ออนไลน์ 2.4 ล้านแห่งบนเว็บนี้ และรายการสินค้าและบริการ 5,000 รายการ
Taobao.com เปิดตัวในปี 2003 เป็นเว็บช้อปออนไลน์สำหรับผู้บริโภค สามารถโค่น eBay และเป็นผู้นำตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนด้วยส่วนแบ่งตลาด 83%
Alipay.comเว็บชำระเงินออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน ด้วยยอดผู้ใช้ลงทะเบียน 43 ล้านราย ช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน
Yahoo China เว็บท่าอันดับ 3 ของจีน โดย Yahoo! ตกลงลงทุนเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ แลกกับหุ้น 39% ใน Alibaba
Alisoft.com พัฒนา จัดการและจัดส่งซอฟต์แวร์การบริหารธุรกิจด้วยระบบเว็บ ให้แก่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน
Koubei.com เว็บโฆษณาย่อยที่ผู้ใช้สามารถพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับงาน อพาร์ตเมนต์ให้เช่าและร้านอาหาร**