แพ็คเกจ… ต้องถูกใจ ใช่เลย

นอกจากจะมีรายการระดับโลกมาให้ชม มีเทคโนโลยีตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ยังต้องมี “แพ็คเกจรายการ” ที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย เหล่านี้ล้วนแล้วเป็นองค์ประกอบที่ทรูวิชั่นส์ให้ความสำคัญและยึดหลักมาตลอด ในการนำเสนอ “คอนเทนท์” รูปแบบใหม่ๆ อันเป็น “ตัวเชื่อม” สินค้าและบริการของกลุ่มบริษัททรูให้ “รวมกันเป็นหนึ่ง” (Convergence)

ทรูวิชั่นส์รวบรวมคอนเทนท์ยอดนิยมเป็นแพ็คเกจมาตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อยูบีซี มี “Gold แพ็คเกจ” ซึ่งสงวน สรวยจิรวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ผู้ที่มาร่วมอยู่ภายใต้องค์กรนี้ตั้งแต่สมัยยูบีซี-ทรู จนเข้าสู่ยุครีแบรนด์เป็นทรูวิชั่นส์อย่างเป็นทางการต้นปี 2550 บอกว่า “ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคมองว่า Gold เป็นแพ็คเกจที่คุ้มค่าที่สุด” เพราะประกอบด้วยรายการข่าวสาร กีฬา และบันเทิงจากต่างประเทศครบทุกประเภท เช่น CNN, BBC, ESPN, Star Sports, TrueSport, HBO, Cinemax เป็นต้น

ต้นปี 2548 บริษัทก็มีการ Re-package เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น จากที่มี Gold เดิม ได้เพิ่ม Platinum เป็นแพ็คเกจสูงสุด และ Silver เป็นแพ็คเกจรองจาก Gold รวมเป็น 3 แพ็คเกจหลัก โดยแต่ละแพ็คเกจมีกลุ่มเป้าหมายต่างกันไป Gold เป็นแพ็คเกจสำหรับผู้ต้องการความบันเทิงที่หลากหลาย และเปิดโลกทันกับเหตุการณ์ มี 71 ช่อง ในราคาค่าสมาชิกประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน ส่วนแพ็คเกจ Platinum สำหรับผู้ต้องการดูรายการทุกประเภท เพิ่มเป็น 82 ช่อง ค่าสมาชิก 2,000 บาทต่อเดือน และแพ็คเกจ Silver 61 ช่อง 750 บาทต่อเดือน

แต่ด้วยนโยบายของทรูกรุ๊ป ที่ต้องการขยายการนำความรู้ข่าวสารและความบันเทิงไปยังครัวเรือนอย่างน้อย 50 % ทั่วประเทศภายในปี 2552 การมีเพียง 3 แพ็คเกจย่อมไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของทรูวิชั่นส์ที่พบว่า ปัจจุบันมีคนไทยใช้บริการเคเบิ้ลทีวีเพียงแค่ 12 % เมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนที่มีมากถึง 18.6 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ ทรูวิชั่นส์จึงพยายามจัดแพ็คเกจเพื่อให้ผู้ใช้ที่ยังไม่เคยมีโอกาสใช้บริการเคเบิ้ลทีวีมีโอกาสเข้าถึงบริการด้วยเแพ็คเกจที่มีราคาเริ่มต้นราคาถูก

ต้นปี 2549 ทรูวิชั่นส์เริ่มจัดแพ็คเกจเพื่อเจาะตลาดแมสตามนโยบายของทรู ด้วยการนำเสนอแพ็คเกจ Bronze หรือ True Knowledge Package ราคา 340 บาท ซึ่งเป็นราคาที่จ่ายเพียงครึ่งเดียวของแพ็คเกจถูกสุดที่ทรูวิชั่นส์เคยมีเป็นครั้งแรก

แพ็คเกจ Bronze มีรายการให้เลือกชม 51 ช่อง ซึ่งได้มีรายการเด่นๆ คือ รายการสารคดี 24 ชั่วโมงเพื่อคนไทย อย่าง Explore 1, Explore 2, Explore 3 ช่องรายการสารคดีพากย์ไทย 24 ชั่วโมง ที่จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวสาระและความรู้เชิงสารคดีคุณภาพระดับโลก ในแง่มุมต่างๆ ทั้งสารคดีชีวิตสัตว์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อาชญากรรม รวมทั้งการท่องเที่ยวและสุขภาพ จากผู้ผลิตชั้นนำของโลก เช่น BBC, Southern Star, Beyond, Alliance Atlantis, Fremantle เป็นต้น

ความหลากหลายของสารคดีที่นำมาเสนอเพื่อให้แพ็คเกจนี้เป็นรายการที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเลือกหาชมรายการที่ถูกใจ และเป็นความตั้งใจที่ทรูวิชั่นส์ต้องการใช้เป็นแพ็คเกจกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความ “อยากลอง” และเริ่มต้นใช้บริการจากแพ็คเกจราคาไม่แพง

อย่างไรก็ตาม แพ็คเกจของทรูวิชั่นส์ที่สร้างปรากฏการณ์ตอบรับจากผู้บริโภคได้ดีที่สุด กลับเป็นแพ็คเกจ True Life Free View ที่ออกมาช่วงปลายปี 2549 ซึ่งเป็นทั้งแพ็คเกจที่เป็นการคอนเวอร์เจนซ์กับทรูคอร์ปเป็นครั้งแรก ด้วยการผสมบริการระหว่างบริษัทในเครือ ให้ผู้ใช้มือถือทรูมูฟที่ใช้มือถือเดือนละ 300 บาท สามารถชมทรูวิชั่นส์ได้ 38 ช่อง ผลทำให้มียอดสมาชิกเพิ่มจากแพ็คเกจนี้กว่า 4 แสนราย ภายใน 2 ปี

“ปกติคนใช้มือถือกันเดือนละประมาณ 200-300 บาทต่อเดือนอยู่แล้ว สมัครแพ็คเกจนี้แล้วเหมือนได้ชมทรูวิชั่นส์ฟรี แต่ได้ชม TV ชัดขึ้น มีโทรทัศน์ทางไกล 15 ช่อง และช่องรายการบันเทิงและสาระเพิ่มมาให้รวมแล้ว 38 ช่อง” สงวนพูดถึงเหตุผลหลักที่ทำให้แพ็คเกจทรูมูฟฟรีวิวได้รับการตอบรับ ซึ่งเขาบอกด้วยว่า เมื่อลูกค้ามีโอกาสได้ทดลองและติดใจบริการ ก็มีแนวโน้มจะอัพเกรดเป็นแพ็คเกจเพื่อดูรายการที่หลากหลายมากขึ้น

หากคิดในแง่มูลค่าแพ็คเกจ True Life Free View อาจไม่ได้สร้างกำไรให้ทรูวิชั่นส์มากนักเมื่อเทียบกับแพ็คเกจ Gold แต่นี่เป็นโอกาสทางการตลาดในการ “ต่อยอด” รายได้จากลูกค้าระดับ Mass ที่มีอัตราการเติบโตสูง

ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างทางเลือกให้กับลูกค้าปัจจุบันที่มีความต้องการซับซ้อนมากขึ้น ทรูวิชั่นส์ทำการศึกษาวิจัยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งพบว่าลูกค้ามีความต้องการเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้การพัฒนาแพ็คเกจรายการต้องเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันด้วย จึงเป็นที่มาของแพ็คเกจล่าสุด ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไม่ไปกี่เดือนมานี้ คือ “แพ็คเกจตามสั่ง” ซึ่งเป็นบริการ 3 ทางเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเฉพาะกลุ่ม ได้แก่

1. HBO Package ประกอบด้วย 3 ช่องรายการ ได้แก่ HBO Signature (17) – ช่องที่รวบรวมภาพยนตร์และซีรี่ย์ดังที่ผลิตเพื่อฉายเฉพาะภายในช่อง HBO เท่านั้น HBO Family (18) – ช่องรายการภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัยในครอบครัว และ HBO Hits (19) – ช่องภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสสเตอร์ พร้อมรายการเบื้องหลัง อัพเดทอันดับหนังยอดนิยมประจำสัปดาห์และกอซซิปร้อนๆ ส่งตรงจากฮอลลีวูด

2. Discovery Package สำหรับกลุ่มผู้ชื่นชอบรายการประเภทสารคดี ประกอบด้วย 4 ช่องรายการ ได้แก่ Discovery Science (46) Discovery Real Time (48) Discovery Travel & Living (49) และ Discovery Home & Health (51)

3. Disney Package ช่องรายการการเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว รวมภาพยนตร์แอนิเมชั่นระดับโลก ประกอบด้วย 2 ช่องรายการ Disney Channel (54) – ช่องการ์ตูน ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และซีรี่ย์สำหรับเด็กและครอบครัว จากค่ายวอลท์ ดิสนีย์ และ Playhouse Disney Channel (55) – ช่องรายการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อส่งเสริมประสบการณ์และพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ

การจัดแพ็คเกจของทรูวิชั่นส์ ได้ผ่านการกลั่นกรองข้อมูลวิจัยความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดี และในช่วงสั้นๆ นี้ สงวนบอกทิ้งท้ายไว้ว่า จะได้เห็น “แพ็คเกจ” ส่วนผสมใหม่ๆ หรือแยกขายเฉพาะเลือกซื้อเพื่อรับชมเป็นรายการ เช่น Pay per View เป็นต้น รวมถึงเป็นการเปิดช่องใหม่ๆ หรือสร้างรายการใหม่ๆ ที่เข้ามาเพิ่มสีสัน โดยเฉพาะรายการท้องถิ่น เพื่อขยายตลาดระดับ Mass ตามนโยบายที่ได้วางไว้อย่างต่อเนื่องต่อไป