แม้ปัญหาก๊อบปี้เพลงยังไม่สิ้นสุด อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นำทีมผู้บริหารระดับแกนนำ ทั้ง 5 คน อาทิ บุษบา ดาวเรือง, สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา, เกรียงไกร กาญจนะโภคิน เปิดแถลงข่าวถึงผลประกอบการปีนี้ด้วยอารมณ์ที่เบิกบานเป็นพิเศษ
ความมั่นใจของอากู๋ครั้งนี้ มาจากผลประกอบการเติบโตน่าพอใจ จนถึงกับตั้งเป้ารายได้ปี 2551 จะเติบโตทะลุ 8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบปี 2550 มีรายได้ 7.4 พันล้านบาท โดยเพลงยังคงเป็นธุรกิจหลัก ที่จะทำรายได้ 4 พันบาท
ใช่แต่จะเป็นอาวุธหลัก แต่อากู๋มองว่าธุรกิจเพลงกลับยิ่งกระจ่างชัดมากขึ้น สาเหตุไม่ใช่อื่นไกล แต่มาจากเทคโนโลยีที่พัฒนาให้ง่ายและเข้าถึงคนได้มากขึ้น นอกจากนี้ เพลงยังได้กลายเป็นอาวุธการตลาดสำคัญที่หลายธุรกิจนำไปใช้ทำ CRM กับลูกค้า เช่น การเงิน และสื่อสาร
แต่ก่อนจะมาถึงวันนี้ อากู๋ยอมรับว่า 2 ปีที่ผ่านมา “เป็นช่วงหนักที่สุดในชีวิตของเขา” เพราะกำไรเหลือเพียงปีละ 200 ล้านบาท ปัญหาเพราะการปรับตัวไม่ทันกับการมาของเทคโนโลยี และปัญหาเทปผีซีดีเถื่อน เมื่อพฤติกรรมการของผู้ซื้อเปลี่ยน ไม่ซื้อซีดีแต่หันไปโหลดเพลง
2 ปีมานี้ อากู๋จึงต้องกลับมาทำงานหนัก จากเดิมที่คิดว่าจะเริ่มรีไทร์ ลงมือปรับโครงสร้างองค์กร ลดไขมัน ศึกษาธุรกิจ ให้ความสำคัญกับการวิจัย เพื่อเรียนรู้ลูกค้าอย่างจริงจัง ด้วยการซื้อบริษัททรีอาร์ดี ที่ทำธุรกิจด้าน CRM จนมั่นใจว่าได้โมเดลการหารายได้ใหม่
โมเดลธุรกิจใหม่ที่ว่านี้คือ การเปลี่ยนจากการขายซีดีและวีซีดี มาสู่ ธุรกิจ Total Music Business ครอบคลุม “ฟัง ร้อง และดู” เช่น เก็บรายได้จากการฟังเพลง ที่เปิดในสถานีวิทยุ ผับ โรงแรม ร้านอาหาร รายได้จากคอนเสิร์ต และจากคาราโอเกะ รวมถึงรายได้จากต่างประเทศ และบริหารศิลปิน เรียกว่าทุกหนทางที่ทำได้
เทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ การรายได้จากธุรกิจดิจิตอลมิวสิก ที่กำลังเปลี่ยนไปสู่โมเดลที่เรียกว่า Subsidize Marketing เทรนด์นี้ได้มาจากการบริษัท หรือองค์กร ที่ต้องการใช้เพลงเป็นอาวุธในการทำตลาด CRM ที่ต้องการสร้าง Content ที่เป็นเอ็กคลูซีฟให้กับลูกค้าโดยเฉพาะ ในรูปแบบของ Subsidize
เทรนด์นี้ต่างประเทศเริ่มทำกัน โทรศัพท์มือถือ ซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากค่ายเพลง เพื่อนำไปให้บริการแก่ลูกค้าโดยเฉพาะ เพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง
หรือกรณีของเอไอเอส เลือกใช้ “นิโคล” ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์มือถือจีเอสเอ็ม นอกจากโฆษณาแล้ว ต่อยอดทั้งเอ็กคลูซีฟ คอนเทนต์ เสียงเพลงเรียกเข้า ทัวร์คอนเสิร์ต เดินสายเปิดตัวออกแคมเปญ วิธีนี้แกรมมี่จะมีรายได้ในรูปแบบองค์กร หรือที่เรียกว่า b to b ซึ่งมีรายได้ ความต่อเนื่อง และเสี่ยงน้อยกว่ารายได้จากผู้ซื้อทั่วไป และการใช้เพลงเป็นอาวุธ ก็กำลังเป็นที่นิยมในธุรกิจอื่นๆ เช่น ธนาคาร ประกันภัย
แถลงข่าวครั้งนี้ อากู๋ยังวาดฝันถึงแผนธุรกิจใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะนำแกรมมี่เข้าสู่ธุรกิจ นิวมีเดีย และบรอดคาสติ้ง เริ่มจากเว็บไซต์ gmember.com ที่ปรับโฉมใหม่ จะเปิดให้บริการเดือนเมษายนนี้ บนเส้นทางของนิวมีเดีย โดยตั้งเป้าเป็น Entertainment Portal ส่วนบรอดคาสติ้งนั้น เวลานี้ดูอยู่ทั้งทีวีดาวเทียม และฟรีทีวี รอแค่ความชัดเจนทางกฎหมาย
แสงสว่างปลายอุโมงค์ของแกรมมี่ครั้งนี้จะได้ผลแค่ไหน ต้องรอดูต่อไป แต่ที่แน่ๆ “We shall return” น่าจะเป็นประโยคในใจที่อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม คงอยากพูดมากที่สุดในเวลานี้
Did you know?
โนเกียเปิดตัวบริการด้านดนตรี “Come with Music” ในยุโรบให้สิทธิลูกค้าโหลดเพลงไม่จำกัด นาน 1 ปี และสามารถเก็บเพลงไว้ได้แม้จะหมดอายุการเป็นสมาชิกไปแล้ว ค่ายที่ขายสิทธิแบบนี้ให้โนเกียไปแล้วคือ Universal Music และ Sony ซึ่งค่ายเพลงจะได้รับรายได้จากการขายสิทธินี้ให้โนเกีย บวกกับส่วนแบ่งรายได้ต่อเพลง ที่ต้องแบ่งกับค่ายโอปะเรเตอร์มือถือด้วย