เปิดใจ “อากู๋” ในวันที่แกรมมี่กลับมา “กำไร” เตรียมดัน 2 ช่องทีวีดิจิทัล ONE-GMM 25 เข้าตลาดปี 63

ก่อนเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลในปี 2557 “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ธุรกิจคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเพลงมากว่า 36 ปี ต้องฝ่าฟันกับพายุ Disruption ในอุตสาหกรรมเพลง ต่อด้วยการแข่งขันฟาดฟันในธุรกิจเพย์ทีวีมาก่อน 

การเป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เป็นการเดินตามเส้นทางฝันของ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ที่ต้องการเป็นเจ้าของสถานีฟรีทีวี เพื่อต่อจิ๊กซอว์อาณาจักร “คอนเทนต์และแพลตฟอร์ม” ให้สมบูรณ์แบบ

แต่จังหวะการเกิดทีวีดิจิทัลในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคครั้งใหญ่ และจำนวนทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่วันนี้อุตสาหกรรมต่างยอมรับแล้วว่า “มากเกินไป”

ในที่สุดต้องมี คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ออกมาแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล นับตั้งแต่ปี 2560 สนับสนุนค่าโครงข่ายมัสต์แคร์รี่ ปี 2561 พักชำระจ่ายค่าใบอนุญาต 3 ปี และช่วยค่าเช่าโครงข่าย MUX 50% และยาแรง ปี 2562 เปิดทาง “คืนช่อง” พร้อมรับเงินชดเชย ส่วนรายที่อยู่ต่อ “ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6” รวมทั้งค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ถึงปี 2572 อันเป็นผลจากการนำคลื่นความถี่ 700 MHz ของฝั่งทีวี ไปประมูลเพื่อให้บริการ 5G ในฝั่งโทรคมนาคม

“แกรมมี่” กลับมากำไรรอบ 7 ปี

ก่อนใช้ยาแรงเปิดทางให้ “ทีวีดิจิทัล” คืนใบอนุญาต 5 ปี ของทีวีดิจิทัลของผู้ประกอบการ “หลายราย” ต่างอยู่ในอาการ “เลือดไหล” เมื่อเส้นทางทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามคาด รายได้ 5 ปีแรกส่วนใหญ่ “ขาดทุน”

“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง ONE 31 และ GMM 25 ที่เผชิญกับสถานการณ์เทคโนโลยีดิสรัปชั่น การแข่งขันลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและเพย์ทีวีมาก่อน แสดงผล “ขาดทุน” มาตั้งแต่ปี 2555

ในช่วงการลงทุนทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ตั้งแต่ปี 2557 ตัวเลขขาดทุนจึงอยู่ในหลักพันล้าน ปี 2558 แกรมมี่เริ่มตัดทิ้งธุรกิจที่ไม่ใช่ Core Business ตั้งแต่เพย์ทีวี ขายหุ้นซีเอ็ด ขายธุรกิจนิตยสาร ขายหุ้นอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ

พร้อมดึงกลุ่มทุนระดับ “บิ๊ก” เข้ามาร่วมลงทุนทีวีดิจิทัล เดือน ธ.ค. 2559 ดึงบริษัท ประนันท์ภรณ์ จํากัด ของตระกูล “ปราสาททองโอสถ” เข้ามาร่วมลงทุนช่อง ONE 31 ด้วยเม็ดเงิน 1,905 ล้านบาท ถือหุ้น 50% และเดือน ส.ค. 2560 ดึงบริษัท อเดลฟอส จำกัด ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ เข้ามาเพิ่มทุนในช่อง GMM 25 ด้วยเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท ถือหุ้น 50%

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ถือหุ้นในบริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด (ช่อง ONE 31) 31.27% และถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM 25) 50%

การแก้ไขปัญหาธุรกิจทีวีดิจิทัลตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มาถึงวันนี้ เริ่มเห็นสัญญาณบวก รายได้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับมา “กำไร” ในปี 2561 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และไตรมาสแรกปี 2562 ยังโชว์ตัวเลข “บวก” ต่อเนื่อง

ย้อนดูผลประกอบการ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่”

  • ปี 2555 รายได้ 11,756 ล้านบาท ขาดทุน 248 ล้านบาท
  • ปี 2556 รายได้ 11,003 ล้านบาท ขาดทุน 1,221 ล้านบาท
  • ปี 2557 รายได้ 9,264 ล้านบาท ขาดทุน 2,345 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 9,708 ล้านบาท ขาดทุน 1,145 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 7,446 ล้านบาท ขาดทุน 520 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 8,869 ล้านบาท ขาดทุน 384 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 6,984 ล้านบาท กำไร 15.43 ล้านบาท
  • ปี 2562 ไตรมาสแรก รายได้ 1,814 ล้านบาท กำไร 59 ล้านบาท

“อากู๋” เปิดใจ 5 ปีทีวีดิจิทัล

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

การผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของทีวีดิจิทัล 5 ปีแรก กระทั่งมาถึงจุดที่มีมาตรา 44 เปิดทางให้ทีวีดิจิทัล “คืนช่อง” และการกลับมาทำกำไรอีกครั้งของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อัพเดตเรื่องราวเหล่านี้กับ Positioning  

โดยบอกว่าได้เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมขับเคลื่อนหารือกับ กสทช. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแทบจะทุกครั้ง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ซึ่งก็ต้องย้อนถึงสาเหตุ เริ่มต้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคแอนะล็อกไปยุคทีวีดิจิทัล มีปัญหามากมายในด้านการปฏิบัติงานช่วงเปลี่ยนผ่าน

นับตั้งแต่ การเรียงช่อง การประชาสัมพันธ์ การแจกกล่องรับสัญญาณระบบดิจิทัล ที่ถือเป็น “หัวใจของการสร้างแพลตฟอร์ม” เดิมกำหนดราคากล่องไว้ที่ 1,200 บาท สามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียมได้ แต่ในที่สุดได้ปรับราคาเหลือกล่องละ 690 บาท รับชมได้เฉพาะช่องทีวีดิจทัล จากคุณภาพกล่องที่รับชมได้ไม่ชัดและต้องติดตั้งเสาสัญญาณในบางพื้นที่ และบางครัวเรือนไม่นำคูปองไปแลกกล่องมาติดตั้ง เพราะมีกล่องทีวีดาวเทียมอยู่แล้ว ทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถสร้าง “แพลตฟอร์มรับชมช่องทีวีดิจิทัล” ได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประมูลให้ต้องล้มหาย เกิดผลเสียมากมายเท่าที่คนทำงานมาตลอดชีวิตในอุตสาหกรรมสื่อจะสูญเสียได้ในช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัล มี 2 ช่อง (ไทยทีวีและโลก้า) ต้องปิดตัวลงตั้งแต่ปีแรก ส่วนที่เหลืออยู่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้หารือกับ กสทช. เพื่อแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องบอกว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล มาในจังหวะที่เกิด Technology Disruption ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อไทยและพฤติกรรมผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของการเสนอขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะกระบวนการฟ้องร้องต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ปัญหา

“รัฐบาลเองก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและชะตากรรมที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเจอ แต่ก็มีกฎหมายและรายละเอียดจำนวนมาก การแก้ปัญหาจึงต้องออกมาเป็นคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ทันเหตุการณ์ เพราะหากยังล่าช้าออกไป อาจมีผู้ประกอบการที่ล้มหายตายจากไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อและประชาชน รัฐบาลจึงตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือ”

ONE 31 – GMM 25 ค่าใช้จ่ายลด 3,000 ล้าน

ปัจจุบันทีวีดิจิทัลจ่ายเงินค่าใบอนุญาตไปแล้ว 70% คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่ยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 และค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่อีก 10 ปี ให้กับทีวีดิจิทัล “ทุกราย” รวมมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท ถือเป็นสิ่งที่ทีวีดิจิทัล “พอใจ” และ กสทช. สามารถทำได้ในด้านกฎหมาย เพราะเป็นการคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ของทีวี เพื่อนำกลับไปประมูล 5G ที่จะได้มูลค่าสูงกว่า การแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล หากยิ่งยืดเยื้อ “เลือดคงไหลหมดตัว”  

หลังใช้ยาแรงด้วยการเปิดทาง “คืนใบอนุญาต” มี 7 ช่องที่ขอพอแค่นี้ ส่วนอีก 15 ช่อง ขอไปต่อ รวมทั้ง 2 ช่องของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อากู๋ มองว่าผู้ประกอบการที่ไปต่อ “ทุกราย” มีภาระลดลงทั้งค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 รวมทั้งค่าโครงข่าย MUX ทีวีดิจิทัลช่อง ONE 31 และ GMM 25 ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 3,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาที่เหลืออยู่อีก 10 ปี

เมื่อช่องวันและจีเอ็มเอ็ม 25 ไม่มีภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย MUX ที่ต้องจ่าย ก็ถือว่าเราตัวเบา สามารถลงทุนแข่งขันคอนเทนต์ได้เต็มที่

 

มั่นใจ “แกรมมี่” กำไรต่อเนื่อง

หลังจากมีมาตรา 44 มาช่วยลดภาระต้นทุน “ทีวีดิจิทัล” ก็ต้องบอกว่าเป็นทิศทางที่สดใสของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” หลังจากนี้ เพราะธุรกิจส่งสัญญาณ “บวก” มาตั้งแต่ปี 2561 ที่ผลประกอบการเริ่มกลับมากำไรอีกครั้งในรอบ 7 ปี แม้ยังมีภาวะ “ขาดทุน” ของทีวีดิจิทัลอยู่ก็ตาม และปีนี้ก็จะเห็นกำไรต่อเนื่อง

“ปีก่อนยังไม่มีมาตรา 44 ยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่เหลือ แกรมมี่ก็พาบริษัทกลับมากำไรได้แล้ว ปีนี้ มีมาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ที่ส่งผลดีต่อทีวีดิจิทัลทุกราย และ 2 ช่องของแกรมมี่ด้วย ปีนี้มั่นใจทำกำไรได้ต่อเนื่อง”

สถานการณ์ทีวีดิจิทัลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่ต้องดึงกลุ่มทุนเข้ามาร่วมถือหุ้น ถือเป็นการหาพาร์ตเนอร์ที่ดีมาเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เพราะการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ “ไม่จำเป็นต้องเดินคนเดียว” หลังจากนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จะมีพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ต้องบอกว่า 5 ปีของทีวีดิจิทัล รวมทั้งทีวีดาวเทียมและเพย์ทีวี เป็นบทเรียนที่ได้สั่งสอนพวกเราและกลุ่มเจน 2 ทั้งลูกๆ (ฟ้าใหม่ ระฟ้า อิงฟ้า และฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม) รวมทั้งผู้บริหารรุ่นใหม่ ภาวิต จิตรกร, บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ, สถาพร พานิชรักษาพงศ์ และท่านอื่นๆ ได้เรียนรู้การทำธุรกิจและการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

เราได้บทเรียนอย่างครบถ้วนและโชคดีที่เราผ่านมาได้ หลังจากนี้การทำงานจะระมัดระวังและไม่กลับไปสู่ปัญหาแบบเดิม เวลาเราเจอกับวิกฤติและปัญหาแล้วสามารถผ่านพ้นมาได้ ก็ทำให้เราแข็งแรงและมั่นคงขึ้น

ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เข้าตลาด ปี 63

ตั้งแต่ปี 2561 ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กลับมา “ทำกำไร” ทีวีดิจิทัล “ช่องวัน” ก็มีผลประกอบการ “เป็นบวก” ช่องวันกำไรแล้ว ตั้งแต่ปี 2561 และปีนี้ก็ทำกำไร และปีหน้าก็ยังทำกำไรแน่นอน เพราะมาตรา 44 ช่วยลดต้นทุนได้ 200 ล้านต่อปี ส่วนช่อง GMM 25 ก็ขาดทุนไม่มากแล้ว และไปต่อได้ ไม่มีปัญหาอะไร ต้นทุนลดไปได้ 100 ล้านบาทต่อปีเช่นกัน

ส่วนช่อง GMM 25 กำลังเตรียมโครงสร้างใหม่ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทั้งค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 และค่าเช่าโครงข่ายแล้ว คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือน มิ.ย. นี้

“ธุรกิจทีวีดิจิทัล หลังมีมาตรา 44 เราก็สบายเลย หลังจากนี้ไม่ต้องห่วงกำไรแน่นอน ทั้งช่องวัน 31 และ GMM 25 วางเป้าหมายปี 2563 จะนำ 2 ช่องเข้า IPO”

“ทีวี” ยังเป็นโอกาส

แม้การเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง แต่ “อากู๋” ยังมองทีวีเป็น “โอกาส” เพราะพื้นฐานของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คือ Content Provider โดยทีวีเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมีดิจิทัล แพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Viu, Facebook, YouTube คอนเทนต์ของแกรมมี่ไปได้ทุก Window จึงไม่ได้มองแค่ธุรกิจทีวีเท่านั้น แต่เป็น Content Provider ที่ไปได้ทุกช่องทาง

“แกรมมี่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทีวี และทีวียังคงเป็นสื่อหลักไปอีกหลายปี และเรามองทุกแพลตฟอร์มที่นำพาคอนเทนต์ของแกรมมี่ไปสู่ผู้คนได้ ก็จะส่งออกไปเผยแพร่ทุกช่องทาง”

ดังนั้น Content Provider ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทีวีด้วย ในเชิงธุรกิจน่าจะสดใส ยิ่งแพลตฟอร์มเยอะขึ้น ยิ่งทำให้คอนเทนต์ไปได้หลาย Window โดยเฉพาะในต่างประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Netflix และยังทำงานร่วมกับ Netflix ในการผลิต Netflix Original เห็นได้ว่าแกรมมี่ไม่ได้ทำคอนเทนต์เพื่อทีวีอย่างเดียว

ธุรกิจเพลง “ไม่เคยขาดทุน”

ในยุคที่เทคโนโลยีถาโถมธุรกิจเพลงให้ต้องล้มหาย แผ่นซีดีเพลงกลายเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จัก แต่ “อากู๋” บอกว่า ธุรกิจเพลงของแกรมมี่ ที่ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าเพลง (Physical Product) ดิจิทัล มิวสิก, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, โชว์บิซ, การบริหารศิลปิน และธุรกิจอื่นๆ ยังเป็นธุรกิจหลักของแกรมมี่

และธุรกิจเพลง “ไม่เคยขาดทุน” ตลอด 36 ปีของแกรมมี่ ธุรกิจเพลงทำกำไรมาตลอด และกำไรจากธุรกิจเพลง ยังมาสนับสนุนธุรกิจทีวีดิจิทัล ที่อยู่ในภาวะเลือดไหลในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันได้จากผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2562 ธุรกิจเพลง คิดเป็นสัดส่วน 54% เติบโต 16.9% จากปีก่อน

การบริหารธุรกิจเพลงให้เติบโตได้ มาจากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพลงทั้งหมด และมีแพลตฟอร์มสำหรับเพลงครบถ้วนที่สุด และสามารถบริหารจัดการหารายได้ในทุกแพลตฟอร์มกับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ธุรกิจเพลงจึงไปต่อไปทั้ง Physical และ Digital Platform

ในธุรกิจเพลง แกรมมี่เป็นเจ้าของ Infrastructure ของอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทย จึงบริหารได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเปิดให้บริการดูแลลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกรายที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มของแกรมมี่ ทั้ง Physical, Digital Platform, โชว์บิซ อีเวนต์

นับจากยุคก่อตั้งแกรมมี่ ที่เริ่มจากธุรกิจเพลง ต่อมาเป็นยุคที่มีแนวร่วมจากพาร์ตเนอร์ หลังจากนี้ก็จะเห็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ เพิ่มเติม และอาจมีการร่วมทุนอีก เพราะธุรกิจวันนี้ใหญ่กว่ายุคก่อตั้งมากมาย นอกจากเพลง ทีวีดิจิทัล ยังมี โฮมช้อปปิ้ง ภาพยนตร์ วิทยุ โชว์บิซ  

“เราเป็น Entertainment Business ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลิตและจัดจำหน่ายเอง มีแฟลตฟอร์มเอง และทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ทุกรายที่จะนำคอนเทนต์ของแกรมมี่ไปอยู่ในทุกช่องทาง”