มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กับ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี จับมือเป็นพันธมิตร ครั้งแรกเมื่อปี 2548 เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตรถกระบะขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เมืองไทย นับแต่นั้นมารถกระบะฟอร์ดและมาสด้าจึงเหมือนพี่น้องที่คลานออกมาจากสายพานเดียวกัน
ฟอร์ดและมาสด้า แม้จะ มีความคล้ายคลึงในด้านรูปลักษณ์และแทบจะเป็นฝาแฝดกันในด้านของเครื่องยนต์ แต่ในการรับรู้ของผู้ใช้ ทั้งสองแบรนด์กลับมีภาพลักษณ์ไปคนละทาง ตามการสร้าง DNA ให้กับแบรนด์ที่แตกต่างกัน
ฟอร์ดวางโพสิชันนิ่งของแบรนด์ให้อยู่ในฝั่งของความแข็งแกร่ง ขณะที่มาสด้าเน้นดีไซน์โค้งมนสไตล์สปอร์ตซีดาน
มาสด้า เน้นความเป็นสปอร์ต
แบรนด์ดีเอ็นเอของมาสด้า ตั้งใจฉีกตัวเองให้เป็นรถกระบะที่ขับขี่สนุกสนานแบบรถสปอร์ตทั้งภายในห้องโดยสารและรูปลักษณ์ภายนอกของตัวรถ
ซาโตรุ อากานะ หัวหน้าด้านการออกแบบรถปิกอัพมาสด้า บีที-50 บริษัท มาสด้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ให้ข้อมูลว่า การออกแบบบีที-50โฉมใหม่ จะให้รายละเอียดตั้งแต่เส้นสายบนรถ ทั้งเรื่องความสวยงามและการใช้สอย โดยมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกที่ต่างจากรุ่นเดิมชัดเจน ได้แก่ เส้นแนวระดับ (Contour) และดีไซน์การออกแบบกระจังหน้าและกันชนใหม่ให้เป็นชิ้นเดียวกัน ด้านล่างกระจังหน้าดีไซน์ให้ดูแข็งแกร่งเพื่อเน้นพลังความบึกบึนและทำให้รถดูกว้าง
“สิ่งที่เราพยายามทำก็คือถ่ายทอดประสบการณ์ของการผลิตรถสปอร์ตที่มาสด้าถนัดมาใส่ไว้ในบีที-50 ให้มากที่สุด” ทาคูมิ อาคาชิ ผู้จัดการโครงการพัฒนารถปิกอัพมาสด้า บีที-50 ใหม่ จากญี่ปุ่นบอก
อาคาชิ บอกว่า ก่อนจะดีไซน์รถรุ่นนี้เขาให้ทำการเก็บข้อมูลทั้งจากลูกค้าและพนักงานขาย โดยเฉพาะกับผู้ขับขี่ในตลาดไทยซึ่งเป็นตลาดสำคัญของมาสด้า และเชื่อว่าบีที-50 ใหม่น่าจะเป็นที่พอใจของตลาดไม่น้อยกว่าที่รุ่นเดิมทำได้สำเร็จมาแล้วด้วยกำลังการผลิตถึง 60,000 คันในปีแรกที่เปิดตัว
“80% ของลูกค้าที่ได้ลองขับบีที-50 มักจะตัดสินใจซื้อ การให้ทดลองขับจึงเป็นเทคนิคการขายที่รถทุกยี่ห้อควรทำ ส่วนเหตุผล ก็เพราะดีไซน์เด่น และเป็นรถกระบะที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน” ข้อมูลการตลาดจาก สุรีย์พร ละอองทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เพราะฉะนั้นปีนี้มาสด้าวางแผนจัดกิจกรรมให้ผู้ซื้อได้ทดลองขับมากขึ้น เพื่อเร่งอัตราการตัดสินใจซื้อ ทั้งผ่านรีเทลช็อป โชว์รูมเอ็กซ์พีเรียนซ์ และกิจกรรมโรดโชว์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงตัวลูกค้าได้โดยตรง
Ford เน้นความแข็งแกร่ง
“ก่อนทำรถกระบะ ฟอร์ดทำเซอร์เวย์กับลูกค้าถามว่าซื้อไหม มีคนหนึ่งพูดว่าซื้อครับ เขาบอกเพราะเคยใช้รถแทร็กเตอร์ฟอร์ด ถ้ามีกระบะเขาเชื่อว่าจะต้องเป็นรถที่ทนทานไม่แพ้กัน นิยามครั้งแรกของกระบะฟอร์ดจึงมีชื่อว่า เกิดมาแกร่ง”
สาโรจน์ เกียรติเฟื่องฟู รองประธานอาวุโส ฟอร์ด ประเทศไทย เล่าที่มาก่อนที่ฟอร์ดจะเปิดตัวแนวคิดฟอร์ด 100% ที่จะใช้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยเชื่อว่าการจดจำในเรื่องความแกร่ง รวมถึงคุณสมบัติอื่นๆ เช่นด้านความปลอดภัยที่ฟอร์ดเป็นรถกระบะรายแรกที่ติดถุงลมนิรภัยในรถกระบะ การเกาะถนน ความแรงของเครื่องยนต์แบบ 12 วาล์วเทอร์โบ ทำให้คนนึกถึงฟอร์ดในแง่สมรรถนะ และคุณสมบัติอื่นๆ ซึ่งถูกสร้างมาอย่างเป็นขั้นตอน
แม้ฟอร์ดจะเก๋าเกมรถกระบะในอเมริกัน แต่กับตลาดไทย ฟอร์ด ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ด้วยการทดสอบตลาดก่อนขายจริง เช่นในฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นใหม่ ไวลด์แทรคที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด ซึ่งขายดีในยุโรป ก่อนเปิดขายที่ไทยอย่างเป็นทางการในปีนี้ ไวลด์แทรคเคยทำเป็นลิมิทเต็ดอิดิชั่นมาเทสต์กับตลาดพรีเมียมไปแล้วเมื่อปีก่อน จนกลายเป็นที่เฝ้ารอของกลุ่มลูกค้าฟอร์ดว่าเมื่อไรไวลด์แทรคใหม่จะมาแบบเต็มตัว
เมื่อจะทำตลาดจริงจึงควรจะมีอะไรที่เหนือความคาดหมาย และฟอร์ดก็ตั้งเป้าสูงกว่าเดิม เรนเจอร์ ไวด์แทรคใหม่ จึงถูกส่งลงตลาดถึง 4 รุ่น เพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ในราคาถูกลง
“สำหรับลูกค้าฟอร์ดเลือกแบรนด์เป็นอันดับแรก ซึ่งคนซื้อรถกระบะไทยส่วนใหญ่ก็เลือกแบรนด์และการใช้งานเป็นหลัก” เคย์ ฮาร์ท รองประธานฝ่ายการตลาดของฟอร์ดให้ข้อมูล
เธอจะเล่าถึงบุคลิกของคนขับฟอร์ดว่า โดยทั่วไปบุคลิกของคนขับฟอร์ดเรนเจอร์ จะใช้เพื่อการทำงาน เป็นคนที่มีความมั่นใจในสิ่งที่ทำ ดังนั้นแนวทางการตลาดของฟอร์ดก็จะตอกย้ำและทำให้มั่นใจว่าลูกค้าจะเอ็นเกจกับแบรนด์ได้มากขึ้น ฟอร์ดจึงเน้นสร้างแบรนด์ผ่านทุกๆ สื่อทั้งบิลบอร์ด ทีวี แมกกาซีน และปีนี้ยังเพิ่มการทำตลาดผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง
ยิ่งใหญ่ยิ่งดี
ไม่ใช่แค่ฟอร์ดและมาสด้า ที่ทีมตลาดพยายามสร้างดีเอ็นเอให้เป็นคนละสายพันธุ์ แต่แนวทางการพัฒนารถกระบะของไทย ไม่ว่าแบรนด์ไหน ก็มีทิศทางที่ไม่หนีกันในภาพรวม โดเฉพาะเครื่องยนต์ที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงาน ซึ่งทุกรายล้วนเลือกใช้เครื่องยนต์คอมมอนเรลเป็นพื้นฐาน โครงสร้างตัวถังรถและแชสซีส์จะอินเทรนด์ ยิ่งใหญ่ยิ่งดี เพราะว่ากันว่าการเพิ่มความจุก็เท่ากับเพิ่มมูลค่าให้กับการใช้งาน เหมือนกับการคำนวณราคารถตู้แวนซึ่งยิ่งมีจำนวนที่นั่งมากเท่าไรราคารถก็จะถูกบวกขึ้นตามไปเช่นกัน เพราะราคารถมักถูกคำนวณกลับจากต้นทุนรวมถึงมูลค่าจากการนำไปใช้งาน รถใหญ่ๆ เลือกขับถนนเมืองไทยทั้งรถตู้และรถกระบะที่โครงสร้างใหญ่ขึ้นเสมอเมื่อมีรุ่นใหม่เกิดขึ้น
Ford และ Mazda จัดเป็นรถในเซ็กเมนต์เดียวกันแต่ต่างสไตล์
สมรรถนะและเทคโนโลยี
ฟอร์ด มาสด้า
แข็งแกร่งเหมือนกระบะ โค้งมนเหมือนรถสปอร์ต
ใช้งานเหมือนกระบะทั่วไป ใช้งานเหมือนกระบะทั่วไป
เปรียบเทียบกระบะ 2 สไตล์
ฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรคใหม่
สไตล์ รถกระบะพันธุ์แกร่ง
เครื่องยนต์ ดูราทอร์ค คอมมอนเรล เทอร์โบ ดีเซล 2 ขนาด คือ 4 สูบ 3.0 ลิตร และ 4 สูบ 2.5 ลิตร
ราคา 693,000 – 917,000 บาท
สี 3 สี ได้แก่ คูลไวท์ แบล็กไมก้า และไฮไลท์ซิลเวอร์
จุดขาย เน้นจุดขายความเป็นกระบะ 100% ยกระดับความหรูหราด้วยความเป็นสปอร์ต
เป้าหมายยอดขาย 14,000 คัน ในปี 2008
มาสด้า บีที-50
สไตล์ รถกระบะให้อารมณ์ขับขี่และดีไซน์แบบรถสปอร์ต
เครื่องยนต์ คอมมอนเรล WEC 3000 CC 156 แรงม้า เครื่องยนต์ WLC 2500 CC 143 แรงม้า
ราคา 489,900-884,900 บาท
สี 5 สีใหม่ ได้แก่ โทนสีฟ้า 2 สี Lagoon Blue และ Winning Blue โทนสีน้ำตาลทอง Desert Bronze และสีเขียวเข้ม Highland Green Mica และสีแดงสปอร์ต Copper red รวมสีเดิมที่มีอยู่เป็น 11 สี
จุดขาย รถคอมมอนเรลตัวแรกของมาสด้าหลังจากที่ทุกค่ายมีหมดแล้วเพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนโฉมใหม่ครั้งแรกของบีที-50 เพิ่มบุคลิกความเป็นสปอร์ตร่วมสมัยมากขึ้น ทั้งดีไซน์ตัวรถและสีที่มีให้เลือกมากกว่าทุกรุ่น
ยอดขายบีที-50
ปี 2007 11,000 คัน
ปี 2008 12,700 คัน
*ยอดกระบะและเก๋งรวมกันของมาสด้า มีส่วนแบ่งตลาดปี 2007 และ 2008 ประมาณ 3.1% และ 3.3% ของตลาด