พลังแพ็กเกจจิ้ง

แพ็กเกจทั่วๆ ไป อาจสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ด้านการปกป้องผลิตภัณฑ์ หรือตกแต่งให้สวยชวนซื้อ แต่สำหรับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างเต็ดตร้า แพ็ค (Tetra Pak) มีเรื่องให้คำนึงถึงมากกว่านั้น

เนื่องจากสิ่งที่อยู่ข้างในคือ “อาหาร” ต้องการบรรจุภัณฑ์ทนทานคุณภาพสูง เพื่อคงความสดและรสชาติเดิมจนกว่าจะหมดอายุ ขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์เรื่องการจัดเรียงเก็บสินค้า และที่ขาดไม่ได้ คือ ความสวยงามดึงดูดใจผู้บริโภค ทำให้เตดตร้า แพ็คต้องปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้มีรูปทรงพลิกแพลงกว่าเป็นแค่กล่องกระดาษสี่เหลี่ยมที่เห็นกันชินตา

ต้นกำเนิดแพ็กเกจจิ้งของเตตร้า แพ็ค ที่บริษัทแม่ในประเทศสวีเดนในปี 1951 “Tetra Classic” พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เก็บสินค้าประเภทนม ภายใต้รูปทรงเรียบง่ายแบบ 3 เหลี่ยม ต่อมาได้เพิ่มความ “สดใหม่” ของสินค้าด้วยแพ็กเกจจิ้งระบบปลอดเชื้อ (Aseptic) จากนั้น “Tetra Brix” แพ็กเกจจิ้งรูปทรง 4 เหลี่ยม “ก้อนอิฐ” ออกสู่ตลาดในปี 1963 และกลายเป็นแพ็กเกจจิ้งมาตรฐานการจัดจำหน่ายและขนส่งทั่วโลก ก่อนปรับเปลี่ยนขนาดตามการบริโภค และขยายไปสู่แพ็กเกจจิ้งอาหารประเภทอื่นๆ

ปัจจุบัน เตตร้า แพ็ค วิจัยและพัฒนาแพ็กเกจจิ้งใหม่ๆ สร้าง “ทางเลือก” ออกสู่ตลาดรวมทั้งสิ้น 9 แบบ เช่น รุ่น Rex ที่ปรับเปลี่ยนมาจากรุ่น Brix ส่วนบนยกสูงและมีฝาปิด, รุ่น Fino ทรงหมอน หรือรุ่น Wedge ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ทำให้ราคาประหยัดลง เป็นต้น พร้อมกับผลิตหลอดน้ำดื่ม 4 แบบ เช่น โค้งงอ ยืดความยาวได้

ส่วนในไทย เตดตร้า แพ็ค เปิดตลาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 เป็นบรรจุภัณฑ์ให้แก่องค์กรส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) หรือ “นมวัวแดง” ตามมาด้วยลูกค้าอาหารและเครื่องอื่นๆ ถ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ต เราก็มักจะพบกับลูกค้าของเตดตร้า แพ็ค เช่น ยูนิฟ มาลี เทสโก้ โลตัส ไปจนถึงรายย่อยอย่างผู้ผลิตนมท้องถิ่น

แอนเดอร์ส์ เพอร์นควีสท์ (Anders Pernqvist) ผู้จัดการฝ่ายบริหารตลาดและผลิตภัณฑ์ของเตดตร้า แพ็ค (ไทย) ยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยเบื่อง่าย และชอบลองของใหม่อยู่เสมอ การออกแบบสีสันลวดลายบนกล่องเฉพาะตัวของแบรนด์ ไม่พอสำหรับการตลาดยุคนี้ ทำให้บริษัทต้องวางแผนร่วมกับลูกค้าเพื่อสร้างความ “โดดเด่น” ในรูปทรงหรือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ออกแบบรุ่น Brix ขนาดพิเศษ ให้แก่ไวตามิ้ลค์ทูโกให้ใหญ่กว่ากล่องอื่นๆ เพิ่มความรู้สึก “เข้ม บึกบึน” ให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชาย

หรือการใช้ Tetra Prisma กล่องรูปแปดเหลี่ยมของแบรนด์น้ำผลไม้มาลี เพื่อสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นที่ยังคงใช้กล่องสี่เหลี่ยมรุ่น Brix รวมไปถึงการออกแบบหลอดให้แบรนด์น้ำส้ม มีรูฉีดน้ำฟุ้งกระจายให้ความรู้สึก “จี๊ด” เอาใจวัยรุ่น เป็นต้น

ขณะที่ในต่างประเทศมี “ลูกเล่น” มากกว่า เช่นในตรุกี เปลี่ยนสีและรูปร่างของแผ่นพลาสติกรองฝาเฉพาะช่วงส่งเสริมการขาย กลายเป็นฉลากชิงโชคเตะตาผู้บริโภค นี่เป็น “พลังแห่งการออกแบบ” ในรายละเอียดเพื่อความแตกต่าง ขอเพียงลูกค้า “ใจถึง” และร่วมวางแผนกับเต็ดตร้า แพ็ค

เพื่อสร้าง “ทางเลือก” ใหม่ๆ Tetra Gemina ก็พร้อมทำตลาดเมืองไทยในปีนี้ หลังจากใช้เวลาวิจัยพัฒนาถึง 3 ปี ในสวีเดนและอิตาลี เป็นกล่องยูเอชที แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกับกล่องพาสเจอร์ไรส์ จุดเด่นของการดีไซน์ ให้ส่วนบนเหมือนหลังคาบ้านหน้าจั่ว ที่นอกจากดูพรีเมียม ยังให้ความรู้สึกสด แปลกใหม่ สะดุดตา มีพื้นที่ข้างกล่องให้โชว์แบรนด์ได้เต็มที่

เทรนด์ “กล่องกระดาษ” มาแรง

สำหรับ “Tetra Recart” ที่เตรตต้า แพ็คใช้เวลาพัฒนานานถึง 10 ปี มีความเด่นในเรื่องนวัตกรรมของการเป็นกล่องกระดาษทนความชื้นและความร้อนเพื่อเข้าระบบปลอดเชื้อ มีคุณสมบัติทัดเทียมกระป๋องอะลูมิเนียมทุกด้าน

นอกจากนี้ยังประหยัดพื้นที่จัดวางสินค้าถึง 30 – 40 % เพราะรูปทรง 4 เหลี่ยมไม่มีความโค้งเว้า ช่วยเพิ่มการมองเห็นดีไซน์สลากสินค้า มีน้ำหนักเบากว่า เปิดง่ายด้วยระบบฉีก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะจัดการขยะได้ง่าย

แม้ข้อดีจะมีมาก กอรปกับแนวโน้มสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาแรง แต่ต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้แบรนด์ในเมืองไทยที่ยังเคยชินกับระบบกระป๋อง ไม่อยากเสียทั้ง “เงิน” และ “เวลา” ในการเปลี่ยนระบบบรรจุหีบห่อ แพ็กเกจจิ้งรุ่นนี้ จึงมีเพียง Siam Del Monte ผู้ผลิตผักและผลไม้ชิ้นส่งออกรายเดียวที่ใช้ แม้จะออกสู่ตลาดโลกมาตั้งแต่ปี 2002

เทรนด์ “อาหารกระป๋อง” กำลังแทนที่ด้วย “อาหารกล่องกระดาษ” แม้จะมาแน่ แต่คงต้องใช้เวลา

ากแพ็กเกจจิ้งสู่สินค้าสิ่งแวดล้อม

ข้อกำจัดที่ต้องประกันความ “สด” ให้อาหาร ทำให้แพ็กเกจจิ้งของเตตตร้า แพ็คใช้ได้เพียงครั้งเดียว นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ในปี 2549 รีไซเคิลกันถึง 2.1 พันล้านกล่องทั่วโลก

ทางออกของเตตตร้า แพ็ค ในการลดขยะบรรจุภัณฑ์ คือการรีไซเคิลแพ็กเกจกิ้งไปเป็นสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถังขยะ ตะกร้าแผ่นกระดานทำเฟอร์นิเจอร์ หรือเป็นวัตถุดิบให้แบรนด์ดีไซน์ Osisu แม้แต่พระสมเด็จวัดระฆัง

นอกจากนี้ เตตตร้า แพ็คไม่สนับสนุนให้ตัดไม้ทำลายป่า วัตดุดิบที่ใช้ในการผลิตกล่องเครื่องดื่มต้องมาจากสวนป่าปลูก หรือสวนป่าเชิงพาณิชย์ที่มีใบรับรองการปลูกป่าโดยตรง และระบุที่มาอย่างชัดเจนอีกด้วย