BMW ขึ้นแคตวอล์ก

แฟชั่นเสื้อผ้าเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาพของยุคสมัยได้อย่างชัดเจน นี่คือประเด็นที่โดนใจ BMW ไทย ซึ่งตัดสินใจเลือกกิจกรรมแฟชั่นมาเป็นตัวช่วยตอกย้ำภาพของแบรนด์รถหรูที่มีประวัติมายาวนาน

ปัจจุบัน BMW เป็นรถหรูที่ต้องเจอการแข่งขันของกลุ่มรถหรูรุ่นใหม่ ที่เข้ามาเบียดยอดขายไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะ Lexus ของค่ายโตโยต้า ที่เข้ามาชนกันตรงๆ หลายรุ่น

เมื่อเปรียบเทียบข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างรถรุ่นต่อรุ่น รวมถึงความหรูหราของแบรนด์จากการรับรู้ของผู้บริโภคทั้ง 2 แบรนด์ มีเพียงคุณลักษณะเดียวที่แยกกันได้ชัดเจนก็คือ BMW เป็นแบรนด์ยนตรกรรมที่ถือกำเนิดเป็นรถหรูมานานกว่า 100 ปี ขณะที่ Lexus เป็นรถหรูที่เกิดมาไม่กี่สิบปีเท่านั้น

“เราต้องการแสดง Brand Heritage ของ BMW ตอกย้ำความเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับหรูมาแต่ดั้งเดิมกับกลุ่มลูกค้า มอเตอร์โชว์ครั้งที่ 29 นี้ ก็เลยคิดไอเดียว่าเราจะใช้แฟชั่นเข้ามาเป็นจุดสร้างความสนใจ และ Remind Brand ในจุดนี้” อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยแนวคิด

คอนเซ็ปต์ของแฟชั่นโชว์ที่จะจัดเดินบริเวณบูธ BMW ในงานมอเตอร์โชว์ จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Heritage Meet Performance ซึ่งร่วมกับบริษัทมุงดู ได้คัดสรรดีไซเนอร์จากนักศึกษาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาเป็นผู้ออกแบบ

แฟชั่นแต่ละเซตจะเน้นถ่ายทอดจิตวิญญาณของแบรนด์และสื่อให้เห็นความโดดเด่นด้านดีไซน์ที่สะท้อนสุนทรียภาพด้านยนตรกรรม และ Heritage หรือความเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ที่สืบทอดและมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอิทธิพลจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเข้ากับไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของคนทั่วโลก

รถรุ่นที่ได้รับเลือกมาเป็นตัวแทนครั้งนี้ได้แก่ BMW 502 และM3 Coupe คันแรกเปิดตัวเมื่อปี 1952 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นรถที่พลิกโฉมหน้าจากรถเล็กมาเป็นรถที่ออกแบบให้มีห้องโดยสารขนาดใหญ่และเป็นสัญญาณการเปิดตัวทำตลาดรถหรูของยุคสมัยไหน ขณะที่คันหลังเป็นตัวแทนของยนตรกรรมรุ่นใหม่ ในฐานะสุดยอดในตระกูลรถสปอร์ตของ BMW จึงเป็น 2 รุ่นที่ลงตัวที่จะเป็นตัวแทนสะท้อนภาพของ Heritage Brand ของ BMW ได้ตรงตามคอนเซ็ปต์ในครั้งนี้

เหตุและผลของดีไซน์แห่งยุค…
ยุค 30s
สภาพของยุค ยุคเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาตกต่ำ ยุคศิลปะแบบอาร์ตเดคโคแบบใหม่ผสมทรงเรขาคณิต
รูปแบบแฟชั่นดีไซน์ เกิดฟอร์มแปลกใหม่ ลักษณะอ่อนช้อยและแข็งในตัว เสื้อผู้หญิงเน้นไหล่กว้าง เอวรัดคอด กระโปรงทรงยาวครึ่งแข้ง เนื้อผ้าเรียบ สีออกหม่นและทึม เป็นทางการแบบชุดธุรกิจ

ยุค 50s
สภาพของยุค ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดชนชั้นกลางมากขึ้น ผู้หญิงมีบทบาทในสังคม จึงแต่งตัวมากขึ้น
รูปแบบแฟชั่นดีไซน์ เสื้อสีพาสเทลสดใส ชมพู เหลือง ฟ้า ลายจุด เน้นแนวสนุกสนาน มีชีวิตชีวา เสื้อตัวสั้นกระโปรงบานลายสีสด ลายดอก

ยุค 70s
สภาพของยุค ยุคดิสโก้ ผู้คนยุคนี้ชอบเข้าคลับเต้นรับ
รูปแบบแฟชั่นดีไซน์ สื่อความสนุกสนาน เน้นสีสัน ลายพรินต์ เนื้อผ้ามันวาวล้อแสงไฟ ซึ่งนำมาปรับใช้กับชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ขาบานเอวสูง ฮอตแพนต์ มินิสเกิร์ตก็นิยมในยุคนี้

Did you know?
บีเอ็มดับเบิลยู อินเดีย เป็นที่แรกที่ใช้ไอเดียแฟชั่นในการเปิดตัวรถยนต์เมื่อตอนเปิดตัวบีเอ็มดับเบิลยูครั้งแรกในอินเดีย ส่วนไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่ยืมไอเดียนี้จากอินเดียมาใช้งาน