แรงบันดาลใจจากมือถือ

รถต้นแบบของฟอร์ดสี Frosted Grape เปิดโฉมให้เห็นหลังจากตั้งเด่นอยู่กลางงานภายใต้ผ้าคลุมสีชมพูสด เป็นรถต้นแบบที่ประกอบขึ้นจากไฟเบอร์กลาส เพื่อออกตระเวนโชว์ตัวทั่วโลก เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2549 ที่ปักกิ่งมอเตอร์โชว์ ต่อด้วยแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และมีคิวโชว์ตัวในงานมอเตอร์โชว์ของไทยแค่ 3 วันแรก ก่อนจะต้องกลับไปเตรียมโชว์ต่ออีกครั้งที่ปักกิ่ง

ฟอร์ดตระเวนโชว์รถต้นแบบเพื่อดูปฏิกิริยาจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะไอเดียของรถต้นแบบจะถูกนำมาปรับใช้กับผลิตรถยน์รุ่นใหม่ๆ ของฟอร์ดอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญดีไซน์นี้จะถูกปรับมาใช้กับการผลิตรถยนต์ B-car รถยนต์ขนาดเล็กที่ฟอร์ดกำลังจะเตรียมลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านบาท ในไทย เพื่อผลิตขึ้นในปี 2552

รถต้นแบบคันนี้ดีไซน์ขึ้นภายใต้ Verve Concept เป็นดีไซน์แบบจลนศิลป์ (Kenetic Design)

“Verve Concept เป็นรถยนต์เล็กที่พัฒนาขึ้นสำหรับคนยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และมีบทบาทในการกำหนดเทรนด์ใหม่ๆ พวกเขาให้ความสำคัญกับความประณีตและความล้ำสมัยของเทคโนโลยี นั่นคือ เหตุผลที่ทำให้ฟอร์ดมั่นในว่ารถยนต์ขนาดเล็กในอนาคต ที่จะพัฒนาจากแนวคิดรถต้นแบบเวิร์ฟ คอนเซ็ปต์ จะถูกสร้างขึ้นจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงพฤติกรรม การใช้ชีวิตความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้”

เชลเซีย เลา หัวหน้าทีมนักออกแบบของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี-เอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา โครงการพัฒนารถยนต์สำหรับจีนและอาเซียน เล่าถึงแนวคิดการออกแบบรถต้นแบบ

จุดเด่นของเวิร์ฟคอนเซ็ปต์ คือการใช้ Kenetic Design หรือ “จลนศิลป์” หรือดีไซน์ที่แสดงถึงความเคลื่อนไหว เพื่อสื่อถึงความปราดเปรียวดูเหมือนมีความเคลื่อนไหวแม้รถจะจอดอยู่กับที่ หรือที่ทีมนักออกแบบให้คำจำกัดความว่า “เปี่ยมพลังพร้อมทะยาน”

ทั้งนี้ ถ้ามองจากภายนอกอาจจะไม่เห็นแนวคิดของรถต้นแบบที่มาจากโทรศัพท์มือถือ เพราะแนวคิดส่วนนี้ จะถูกออกแบบอยู่บริเวณตรงกลางคอนโซลซึ่งดีไซน์ปุ่มควบคุมต่างๆ ให้คล้ายกับแผงปุ่มกดของโทรศัพท์มือถือที่คนรุ่นใหม่ใช้กันแพร่หลาย แต่ปรับให้โค้งเว้ากับแผงหน้าปัด ตามคอนเซ็ปต์ของฟอร์ดคอนเวิร์สซิสเทมที่รวมการพัฒนายนตกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (Human Machine Interface)

เห็นไหมว่าแนวคิดจากสิ่งเล็กๆ ก็สามารถพัฒนาจนทะลุกรอบได้ถึงไหนๆ

เชลเซีย เลา
ตำแหน่ง หัวหน้าทีมออกแบบ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี-เอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา โครงการพัฒนารถยนต์สำหรับตลาดจีนและอาเซียน เริ่มทำงานกับฟอร์ดตั้งแต่ปี 2535
การศึกษา สถาบัน Lee Wai Lee Technical Institute ในฮ่องกง, อาร์ต เซ็นเตอร์ คอลเลจ ออฟ ดีไซน์ พาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
โครงการที่รับผิดชอบ
– การปรับดีไซน์ให้เข้ากับตลาดท้องถิ่นสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก “ฟอร์ด เฟียสต้า”
– ฟอร์ด เอ็กซ์พลอเรอร์ (2549), เอ็กซ์พลอเรอร์ สปอร์ตแทรค คอนเซ็ปต์ (2548)
– ฟอร์ด อีโคสปอร์ต รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็กที่จำหน่ายในตลาดอเมริกาใต้ ซึ่งได้รับรางวัล Brazilian Automotive Press Best Sport Utility ปี 2547
– ฟอร์ด FC5 (2542) รถคอนเซ็ปต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และได้นำออกเผยโฉมครั้งแรกที่งานแฟรงก์เฟิร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล ออโต้โชว์
หลักคิดในการทำงาน
ใส่ใจทุกดีไซน์ด้วยจิตวิญญาณและบุคลิกเฉพาะตัวที่จะสร้างแรงบันดาลใจ สื่อถึงความฝัน และสะท้อนพลังแห่งอารมณ์ โดยอาศัยโครงสร้างหลักจากธรรมชาติในการสร้างทุกองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์