Big Change ทีวี

เม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% เป็นมูลค่ามากพอที่สามารถนำมาก่อสร้างรถไฟฟ้าได้เกือบ 2 สาย นี่คือเงินก้อนใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจทีวีตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น สื่อทีวีคืออาวุธสำคัญในการสู้รบในยุคที่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมต้องการสร้างขุมกำลัง เพื่อชิงอำนาจ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฟรีทีวี ก่อนหน้านี้คือการแจ้งเกิดของ “สถานีไอทีวี” เมื่อ 1 กรกฎาคม 2539 ด้วยหลักการเป็นทีวีเสรี อิสระจากการเมืองหลังยุคพฤษภาทมิฬ ทำให้ฟรีทีวีไทยมีทั้งหมด 6 ช่องมาชิงเม็ดเงินโฆษณา

ช่วงนั้นไอทีวีมีจุดขายจาการนำเสนอข่าวได้อย่างน่าสนใจ เอเยนซี่และโฆษณาให้ความสนใจ แต่อยู่ได้ไม่นานเพราะความขัดแย้ง และธุรกิจการเมืองเข้าครอบงำ มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น “ชิน คอร์ปอเรชั่น” ที่มีคนของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้นใหญ่ จนหน้าจอ “ไอทีวี” ต้องดับลงเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 7 มีนาคม 2550 เพราะผิดสัญญาเรื่องผังรายการ และการจ่ายผลตอบแทนให้ รัฐบาลหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงมีมติยึดสัมปทานคืน และเป็นที่มาของการเกิด “ทีวีสาธารณะ” ภายใต้ชื่อ “ไทยพีบีเอส”

ในปี 2551 ฟรีทีวีไทยเหลือเพียง 5 ช่องที่พร้อมแย่งเม็ดเงิน 5 หมื่นกว่าล้าน

เม็ดเงินโฆษณาที่เคยอยู่ช่องไอทีวีประมาณ 9,000 ล้านบาทในปี 2007 กำลังกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่

ขณะที่ช่อง 7 สื่อที่มีมาร์เก็ตแชร์เม็ดเงินโฆษณาไป สูงสุดปีละประมาณ 14,000 ล้านบาท กำลังอ่อนแรง เพราะความเปลี่ยนแปลงภายใน เป็นโอกาสให้กับช่อง 3 จึงปรับตัวมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อดึงโฆษณาให้มากที่สุด ด้วยการเพิ่มรายการตอบสนองผู้ชมทุกเซ็กเมนต์ ทั้งข่าว และบันเทิง เพื่อเปลี่ยน Positioning ตัวเอง จากทีวีเพื่อคนเมือง กลายเป็นทีวีเพื่อ Mass

สำหรับช่อง 7 กำลังถูกจับตามองอย่างหนัก กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “สุรางค์ เปรมปรีดิ์” เจ้าแม่วิก 7 สี

สำหรับช่อง 11 ที่รีแบรนดิ้งเป็นสถานีโทรทัศน์ NBT ตามแผนของรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” ที่ “จักรภพ เพ็ญแข” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ยังคงต้องการงบประมาณจากรัฐมาดำเนินการ และยังคงขอมีรายได้จากโฆษณาภาพลักษณ์เท่านั้น ซึ่งเม็ดเงินแต่ละปีที่ได้อยู่ในหลัก 1,000 ล้านบาทเท่านั้น เป้าหมายจึงชัดเจน คือการจัดหาเวทีให้ทีมข่าว “ไอทีวี” ยุคกลุ่มทุนชินคอร์ป มีช่องได้ออนแอร์เท่านั้น

ฟรีทีวี กำลังต้องเผชิญกับคู่แข่งใหม่ อย่าง เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และทีวีอินเทอร์เน็ต หลังจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 มีนาคม 2551 ที่ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นในการจัดตั้งคณะกรรมการที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้มีผู้ประกอบการอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น และที่สำคัญคือผู้ประกอบการระบบโทรทัศน์บอกรับสมาชิกหรือเคเบิลทีวี ปัจจุบันได้ปลดล็อกให้เคเบิลทีวีหาโฆษณาได้ทั้งวันไม่เกินชั่วโมงละ 5-6 นาที

กฎหมายนี้ทำให้ทั้งเอเยนซี่ ทรูวิชั่นส์ ในฐานะผู้ประกอบการายใหญ่ และเคเบิลท้องถิ่นขยับตัวเพื่อหาโฆษณา ด้วยจุดขายที่ยืดหยุ่นมากกว่า สปอนเซอร์ ที่สามารถซื้อโฆษณาแบบเหมาทั้งช่อง และการเข้าถึงคนดูได้เฉพาะเจาะจงแต่มีราคาที่ถูกกว่า ชนิดที่ซื้อฟรีทีวีได้นาทีเดียว แต่ซื้อเคเบิลทีวีได้ทั้งช่อง

เคเบิลทีวีท้องถิ่นโดยสมาคมเคเบิลทีวี รวมตัวกันเพื่อจัดเรตติ้งและกำหนดช่องทั่วประเทศให้เหมือนกัน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำของผู้ชม และง่ายต่อการตัดสินใจลงโฆษณาของสปอนเซอร์

โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม กลายเป็น “สื่อ” อันโอชะของคนที่อยากเป็นเจ้าของสื่อ ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรายการที่มีเนื้อหาในมือ อย่าง มีเดีย ออฟ มีเดียส์ แกรมมี่ หรือแม้แต่สหพัฒน์ ที่กระโดดเข้าสู่สมรภูมินี้อย่างเต็มตัว

หรือจะเลือกเส้นทางใหม่ กับอินเทอร์เน็ตทีวี ที่ เจ้าแม่เจเอสแอล “จำนรรค์ ศิริตัน” เลือกเส้นทางให้กับตัวเอง กับการเป็นเจ้าของแบรนด์ Many TV

นี่คือระยะเวลาของการเร่งเครื่องของคนในวงการโทรทัศน์ เพราะโอกาสทองของทีวีแต่ละช่องกำลังชัดขึ้น ซึ่งหากใครไม่ปรับตัว เพียงวินาทีรีโมตคอนโทรลในมือผู้ชม ก็พร้อมทำงานทันที

Positioning ฟรีทีวี

*ไทยพีบีเอส แปรสภาพมาจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และไอทีวีที่ถูกรัฐยึดคืนสัมปทานเพราะผิดสัญญาการดำเนินการ และการจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ