จากไอทีวี สู่ “ทีวีไทย”

ในที่สุด เส้นทางของสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี ก็มาถึงจุดเปลี่ยนของการแปรเปลี่ยนมาเป็น “ทีวีสาธารณะ” แบบไร้โฆษณา ในชื่อชั่วคราวว่า ไทยพีบีเอส และสุดท้ายที่ชื่อ “ทีวีไทย” ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้

ด้วยความที่ไม่มีโฆษณา ทำให้นักการตลาดพากันมองไทยพีบีเอสในฐานะเป็นแค่เสมือน “บ่อ” ที่เพิ่งถูกปิดถมไปจนทำให้กระแสเม็ดเงินโฆษณาไหลบ่าไปสู่ช่องฟรีทีวีอื่นๆ รวมถึงเคเบิลทีวีด้วย

เดิมคลื่นความถี่ช่องนี้เป็นของไอทีวีที่เกิดขึ้นหลังสมัย “พฤษภาทมิฬ” 2535 เมื่อเกิดวิกฤติที่ทุกสถานีในช่วงเหตุการณ์เสนอข่าวเพียงด้านเดียว หลังเหตุการณ์หลายฝ่ายจึงตื่นตัวที่จะทำ “ทีวีเสรี” ที่ปลอดอิทธิพลการเมือง จนผลลัพธ์ออกมาเป็นไอทีวียุคแรกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ต่อมาด้วยเงื่อนไขทางการเงินที่บีบรัดหลังปี ’40 ช่วงวิกฤตการเงินไทย ไอทีวีก็ได้เปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มทุนใหญ่อย่างชินคอร์ป และเมื่อเกิดรัฐบาลทักษิณขึ้น การเมืองกับธุรกิจก็ได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ความฝันที่ไทยจะมี“ทีวีเสรี” จึงดูห่างไกลออกไปอีกครั้งและไอทีวีก็ถูกปิดฉากลง

จากบทเรียนนี้ สถานีใหม่ไทยพีบีเอสจึงถูกวาง Positioning ให้ปลอดทั้งอิทธิพลจากภาคธุรกิจเพราะปฏิเสธโฆษณาจากภาคธุรกิจอย่างสิ้นเชิง และคาดว่าจะปลอดทั้งอิทธิพลทางการเมืองเพราะจะได้รับเงินอุดหนุนเป็นจำนวนตายตัวแน่นอนจากภาษีประชาชนทุกปี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขาที่ “ทีวีสาธารณะ” อย่างไทยพีบีเอสยืนอยู่ จึงเป็นภาษีประชาชนเริ่มที่ปีละกว่า 2 พันล้านบาทอย่างที่ เทพชัย หย่อง ยืนยันผ่านนิตยสารสารคดีฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านไปหมาดๆ ว่า

“ไม่ใช่ว่าได้เงินจากรัฐบาลแน่ๆ ปีหนึ่ง 1,700-2,000 ล้านบาท ก็ไม่ต้องทำดีมาก มันไม่ได้ ถ้าห่วยก็โดนชาวบ้านด่า เพราะมันใช้ภาษีของราษฎรชัดๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินจากภาษีบาป คือจากภาษีเหล้า-บุหรี่ มันก็คือภาษี”

และเมื่อยืนบนขาตัวเองได้แบบไม่พึ่งโฆษณา รูปแบบรายการที่ออกมาจึงต่างจากช่องอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ไม่มีเกมโชว์ ไม่มีละครชิงรักหักสวาท แม้หลายคนจะมองว่าขาดสีสันไปและไม่ต่างจากช่อง 11 เดิม แต่ผู้บริหาร ไทยพีบีเอส ยืนยันว่าทีวีสาธารณะนั้นไม่ใช่สิ่งน่าเบื่อแต่อย่างใด ดูได้จากในหลายๆ ประเทศเช่น BBC ในอังกฤษ และ PBS ในสหรัฐฯ ที่ยืนหยัดเป็นที่นิยมมายาวนานไม่แพ้สถานีเชิงพาณิชย์ทั้งหลาย

รายการทีวีที่คนจะดูได้ด้วยความชื่นชอบ ชื่นชม ก็ต่อเมื่อมันมีคุณภาพ ดูสนุก มีสีสัน นี่คือหัวใจของรายการทีวีสาธารณะ หลายคนอาจจะมองในเชิงลบว่าเป็นทีวีเอ็นจีโอหรือเปล่า เป็นทีวีที่มีแต่สารคดีหรือเปล่า มีแต่คนมานั่งคุยกันหรือเปล่า ผมบอกว่าไม่ใช่ มันไม่เคยอยู่ในความคิดของผมหรือคนที่มาบริหารขณะนี้ เราคิดว่าจะทำยังไงให้ทีวีช่องนี้เป็นทีวีช่องที่ดีที่สุด”

BBC แม่แบบทีวีสาธารณะ

ทุกครั้งที่มีพูดถึงทีวีสาธารณะ ชื่อของ BBC (British Broadcasting Corporation) จะถูกอ้างอิงแทบทุกครั้งไป ทั้งด้วยความใหญ่โตกับพนักงานเกือบ 3 หมื่นคนกับเงินอุดหนุนปีละ 2.8 แสนล้านบาท (4 พันล้านปอนด์) และทั้งด้วยความเก่าแก่ที่เปิดมา 85 ปีนับแต่ พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) แต่ที่สำคัญคือความเป็นที่ยอมรับไม่ใช่แค่ในอังกฤษแต่เป็นราว 270 ล้านครัวเรือน (สูสีกับ CNN) ทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ภายใต้คำขวัญว่า…

“Free from both political and commercial influence
and answers only to its viewers and listeners”

ชื่อเล่นของสถานีคือ “The Beeb” นั้นติดปากคนอังกฤษทั่วไปมายาวนาน สะท้อนว่าบีบีซีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอังกฤษไปแล้ว และหลายครั้งก็ถูกเรียกว่า “Auntie Beeb” หรือ “ป้าบี๊บ” สะท้อนถึงบุคลิกเป็นผู้ใหญ่หัวอนุรักษ์ที่ยึดมั่นในหลักการผู้พยายามสอนสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ

เสน่ห์ของ BBC นั้นอยู่ที่ข่าวที่ได้รับการยอมรับว่าฉับไว ละเอียด เป็นกลาง และเชื่อถือได้ที่สุดในอังกฤษ จากเบื้องหลังการมีหน่วยข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในแง่บุคลากรและงบประมาณ มีทีมข่าวและคนทำงานกระจายไปในแทบทุกประเทศในโลก

อย่างเช่นล่าสุดในวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 เมื่อสถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งในลอนดอนถูกโจมตี ประชาชนคนทั้งอังกฤษพากันเปิดแต่บีบีซีทั้งทีวีและเว็บไซต์ bbc.co.uk จนระบบเกือบล่ม และสื่อใหญ่ๆในสหรัฐอย่างซีเอ็นเอ็นก็ต้องร่วมมือกับบีบีซีในการทำข่าว ทำให้ทีวีและเว็บข่าวอื่นๆ ในอังกฤษเงียบเหงาตลอดช่วงหลายวันนั้น เพราะเมื่อมีข่าวสำคัญชาวอังกฤษจะคิดถึงแต่ BBC ก่อนอื่น

อีกจุดแข็งของบีบีซีคือสารคดี เช่น Planet Earth หรือ “ปฐพีชีวิต” ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นมิติใหม่แห่งสารคดีธรรมชาติอย่างแท้จริง รายได้ค่าลิขสิทธิ์จากการถูกซื้อไปฉายทั่วโลกเช่นที่ช่อง 9 ในไทยก็เป็นเม็ดเงินเข้า BBC แบบที่ไม่ต้องพึ่งโฆษณาแต่อย่างใด

แต่บีบีซีก็ไม่ได้มีแค่ข่าวกับสารคดี เพราะรายการเด็กดังๆมากมายก็มาจากที่นี่ เช่น Teletubbies (เทเลทับบี้ส์) ที่เคยฮิตทางช่อง 7 เมืองไทย และแอนิเมชั่นหุ่นดินเหนียวอย่างนกเพนกวิน Pingu (พิงกุ), หัวรถไฟหน้ายิ้มโธมัส “Thomas the Tank Engine” ที่ขายดีทั้งเป็นแผ่นวีซีดีและของเล่นในไทยอยู่ทุกวันนี้

และแน่นอนว่าลิขสิทธิ์ของเล่นจากรายการดังๆ เหล่านี้ที่ขายไปทั่วโลก ก็เป็นอีกรายได้ของบีบีซีที่ไม่มีโฆษณาด้วยเช่นกัน

และหากจะมองอนาคตของไทยพีบีเอสว่าเป็นอย่างไร ก็คงไม่พ้นต้องมองไปที่บีบีซีซึ่งเป็นแม่แบบและเป้าหมายที่ไทยพีบีเอสพยายามไปให้ถึง

PBS ทีวีสาธารณะแห่งอเมริกา

PBS หรือ Public Broadcasting Service เป็นสถานีทีวีสาธารณะในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี 1969 ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร หารายได้หล่อเลี้ยงตัวเองผ่านการขายสัญญาณผ่านไปให้เคเบิลท้องถิ่น 354 แห่งตามเมืองต่างๆ ใน 50 รัฐทั่วอเมริกา

ในด้านการบริหาร PBS นั้นต่างจาก BBC ตรงที่แทบไม่มีทีมผลิตรายการของตัวเอง แต่ใช้วิธีว่าจ้างบริษัทภายนอกมาผลิตรายการต่างๆ กันไป ทั้งข่าว การศึกษา ทอล์กโชว์ รายการเด็ก และอื่นๆ โดย PBS เป็น Content Aggregator ดูแลภาพรวมและเลือกแนวเนื้อหามาจัดผังไปในแต่ละช่วง

รายการเด็กเป็น Positioning ที่แข็งแกร่งของ PBS ผ่านช่อง “PBS Kids” มาตั้งแต่รายการ Sesame Street ที่โด่งดังไปทั่วโลกรวมถึงไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยตัวละครอย่างบิ๊กเบิร์ดและกบเคอรมิต และล่าสุดคือ “Barney & Friends” ที่ลงแผ่นขายดีพ่อแม่ไทยซื้อให้ลูกดูในปัจจุบัน

นอกจากนี้ Teletubbies และ “Thomas the Tank Engine” จากบีบีซีเข้าไปโด่งดังในอเมริกาได้ก็ด้วยการนำเข้าของ PBS ส่วนรายการช่องอื่นสำหรับผู้ใหญ่อย่างช่อง “PBS World” และ “PBS X” ก็ผสมผสานกันระหว่างวาไรตี้ ทอล์กโชว์ และข่าว ซึ่งไม่เป็นที่กล่าวถึงเท่าใดนัก

การเริ่มต้นของ Thai PBS

ไทยพีบีเอสเริ่มออกอากาศ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา ใช้ทีมข่าวของตัวเองและผลิตรายการบางส่วนผสมผสานกับรายการจากผู้ผลิตภายนอก วาง Positioning ให้เป็นที่รวมรายการเชิงสาระสำหรับทุกเพศวัยด้วยเนื้อหาที่ต่างจากทีวีทั่วไปได้เพราะไม่ต้องการโฆษณา

ล่าสุดไทยพีบีเอสเริ่มเป็นที่สนใจด้วยละครนำเข้าชื่อดังอิงประวัติศาสตร์อย่าง “สามก๊ก”, ละครเด็ก “นะโม ฮีโร่ผู้น่ารัก”, รายการคุยข่าว “ตอบโจทย์”, รายการดนตรีที่ไม่ใช่เพลงตลาดอย่าง “ดนตรีกวีศิลป์” กับ “108 Music”, รายการแฉปัญหาสังคมอย่าง “เปิดปม” กับ “สถานีประชาชน”, รายการหนังสั้น “Hot Short Film” จับกลุ่มวัยรุ่น และรายการสารคดีท่องโลกและธรรมชาติในช่วงที่ยังรอรายการใหม่ๆ มาเพิ่ม

แต่นี่เป็นเพียงผังรายการระยะแรกเท่านั้น ยังจะมีการปรับผังรายการกันอีกหลายเฟส พลวัตการเปลี่ยนแปลงของไทยพีบีเอสตลอดทั้งปีนี้จึงน่าจับตายิ่งว่าสถานีไทยพีบีเอส หรือชื่อใหม่ “ทีวีไทย” จากวันนี้ไป จะบรรลุความฝันที่ปลอดจากอิทธิพลจากทั้งภาคธุรกิจ ภาคราชการ และภาคการเมืองได้โดยสิ้นเชิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตา