ทีวีดาวเทียม ทำไมใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของช่อง (ทีวี)

อดีตคนไทยส่วนใหญ่รู้จักโทรทัศน์ในรูปแบบของฟรีทีวี ผ่านช่อง 3-5-7-9-11 และไอทีวี แต่ปัจจุบัน “โทรทัศน์” มีพัฒนาการก้าวไกลกว่านั้น จากทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี จะเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และยิ่งร้อนแรงขึ้นเมื่อกฎหมายเปิดโอกาสให้มีโฆษณาได้ ส่งผลให้รายใหญ่ต่างตบเท้าเข้าสู่ธุรกิจนี้ และรวมถึงรายเดิมที่ต้องแผ่แสนยานุภาพหา “โอเอซิส” แห่งใหม่ซึ่งอาจกลายเป็น “บ่อทองคำ” ในอนาคต

สหพัฒน์ ดีแทค เป็นปรากฏการณ์ครั้งล่าสุด ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่แสวงหาช่องทางสร้างแบรนด์โดยเปลี่ยนจากผู้ซื้อสื่อโฆษณา มาเป็นเจ้าของรายการ และหารายได้ผ่านทีวีดาวเทียม

โพสต์ ทูเดย์ ในภาคของโพสต์ แชแนล คือการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจสื่อโทรทัศน์ของค่ายหนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่างบางกอกโพสต์ เป็นปรากฏการณ์ตามรอยเนชั่น แชแนลของเครือเนชั่น และ ASTV ของค่ายผู้จัดการ ขณะที่แกรมมี่สานฝันอากู๋ เตรียมลงเล่นสนามนี้ ด้านทีวีพูลเล็งเห็นกระแสร้อนนี้เช่นกันและอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด

ทีวี ไดเร็ค ผู้นำด้านช้อปปิ้ง แอด โฮม พร้อมลงทุนทีวีดาวเทียมเช่นเดียวกันด้วยงบกว่า 80 ล้านบาท

ส่วนในฟากของ ASTV 4 ปีเต็มกับธุรกิจนี้ ที่จะมาถึงจุดเปลี่ยน จากโอกาสใหม่ ที่มาจากความชัดเจนในการกำหนดเลขหมายช่องออกอากาศ และการสำรวจเรตติ้ง จากเอซี นีลสัน ด้วยการกำหนด Positioning 5 ช่อง 5 กลุ่มเป้าหมาย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว คือ การหารายได้จากสปอนเซอร์ การเผยแพร่ข่าวสาร โปรโมชั่น และการสร้างแบรนด์ของสินค้าและบริการของตัวเองอย่างเต็มที่ ด้วยการลงทุนที่ต่ำกว่าการซื้อเวลาโฆษณาในฟรีทีวีนับร้อยเท่า รวมถึงแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยที่จะมีโอกาสทำภาพยนตร์โฆษณาเสียที นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมเนื้อหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง (ภายใต้กฎหมาย) โดยไม่ต้องทำตามกฎของฟรีทีวี นอกเหนือไปจากนั้นคือ ความเชื่อที่ว่า “ผู้ครอบครองสื่อ คือผู้ครอบครองอำนาจ” (ถ้าสื่อนั้นได้รับความนิยมในวงกว้าง)

ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งจะเปิดไฟเขียวให้เกิดการโฆษณาในสื่อเหล่านี้ได้ ก็เป็นแรงผลักดันที่สำคัญมาก

นอกจากนี้ในแง่ของคนดูแล้วทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวียังสามารถตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ “ไม่หลับไม่นอน” หรือ 24/7 ของพวกเขาได้อย่างเต็มที่อีกด้วย ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคที่แยกย่อยมากขึ้น ช่องรายการแบบเฉพาะเจาะจงเรื่องราวประเภทใดประเภทหนึ่งแบบ 24 ชั่วโมงจึงได้รับความนิยม อีกทั้งคอนเทนต์แบบ Free to Air หรือที่เรียกกันในวงการว่า FTV ของทีวีดาวเทียม ที่เปิดโอกาสให้รับชมมากสูงสุดถึงกว่า 400 ช่องจากทั่วโลก (แล้วแต่ประเภทของจานดาวเทียม) นับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่า ทำให้เกิดการดึงดูดใจให้ผู้บริโภคติดตั้งจานดาวเทียมมากขึ้น

แหล่งข่าวจากสตาร์คอม หนึ่งในมีเดียแพลนเนอร์รายใหญ่ของไทย บอกกับ POSITIONING ถึงเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า พฤติกรรมคนดู เปลี่ยนจากดูฟรีทีวีมาเป็นเคเบิลทีวีมากขึ้น ประเมินจากการทำวิจัยแบบ Focus Group โดยแผนก Xpanse ของสตาร์คอมพบตัวเลขที่น่าสนใจว่า จำนวนคนดูเคเบิลทีวี (ทั้งดูจากเคเบิลทีวีโดยตรงและช่องสัญญาณจากทีวีดาวเทียม) เพิ่มขึ้นจากเดิม 17% แต่กระนั้นคนดูยังมีพฤติกรรมแชร์กันดูระหว่างฟรีทีวีและเคเบิลทีวี

อย่างไรก็ตาม นับเป็นตัวเลขที่สร้างรอยยิ้มให้กับสื่อทางเลือกเหล่านี้ได้ แม้จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนดูส่วนใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มหันมาติดเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมกันมากขึ้นเพราะต้องการรับชมสัญญาณของฟรีทีวีให้ชัดเจนมากกว่าจะมุ่งหวังประโยชน์ด้านคอนเทนต์ก็ตาม

ด้านสรโชติ อำพันวงษ์ กรรมการผู้จัดการ S Channel บอกว่า ต่างจังหวัดติดตั้งจานดาวเทียมสูงถึง 70%

ปัญหา ณ ขณะนี้ คือ แม้จำนวนตัวเลขคนดูจะมีการยืนยันจากหลายฝ่ายว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการวัดผลและแปรสิ่งที่เชื่อว่ามีอยู่จริงให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจให้ได้

แหล่งข่าวให้ข้อมูลอีกว่า เวลาทองของเคเบิลทีวีคือช่วงบ่ายของวันธรรมดา ซึ่งผังรายการส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์จีน ภาพยนตร์ไทย ขณะเดียวกันช่วงดังกล่าวของฟรีทีวีกลับถือว่าเป็น Non-prime time ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาน่าจะไหลเข้ามาในช่วงเวลานี้มากที่สุด และนั่นอาจทำให้ในอนาคตภาพของ Prime Time สำหรับฟรีทวี และ Non-prime time ของเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม สลับขั้วกันอย่างชัดเจน

ปัจจุบันแนวโน้มของเจ้าของสินค้าและบริการเริ่มต้องการเจาะลึกแต่ละท้องถิ่น แต่ละภูมิภาค และลึกกระทั่งเจาะเป็นรายจังหวัดซึ่งมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้สตาร์คอมมีลูกค้าหลายราย เช่น ห้าง เทสโก้ โลตัส ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ กำลังหันมาให้ความสำคัญอย่าง ในการลงโฆษณาใน Nextstep รวมถึงอยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อซื้อสัญญาณแบบทั้งช่องเลย

“การลงทุนโฆษณาแบบเจาะจงเฉพาะท้องถิ่นผ่านเคเบิลทีวีจะได้ผลเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีรองรับอยู่แล้ว เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี พัทยา ภูเก็ต และหาดใหญ่”

“เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละพื้นที่มีพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน การทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงจะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคแต่ละแห่งได้ถูกวิธีมากขึ้น”

ขณะที่เทรนด์ของมีเดีย เอเยนซี่ต่างๆ เริ่มหันมาทำวิจัยแบบภูมิภาคอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อความต้องการของลูกค้า และการวางแผนลงโฆษณาในสื่อ อย่าง เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม เช่น สตาร์คอมเปิดแผนก Xpanse เพื่อเจาะต่างจังหวัดโดยเฉพาะ ส่งทีมงานเดินสายเก็บข้อมูลในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ด้านแมคแคน อิริคสัน ทำบทวิจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนภาคอีสานมาแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และเพิ่งเปิดเผยบทวิจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนภาคเหนือในเดือนมีนาคมนี้ อีกทั้งเตรียมลุยทำวิจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์คนภาคใต้ต่อไป

ในแง่ธุรกิจล้วนก่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายต่างๆ มากมาย เช่น เจ้าของสินค้าและบริการ ต่อมา Operator เช่น เคเบิลทีวีท้องถิ่นและทีวีดาวเทียม รวมไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างทรูวิชั่นส์ ซึ่งน่าจะได้เปรียบกว่าใคร เพราะอยู่ในธุรกิจนี้มานานและมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ขณะที่ทีวีดาวเทียมของสามารถ ก็ขยายฐานอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีราคาจำหน่ายจานดาวเทียมสูงถึงจานละ 7,500 บาท (รวมค่าติดตั้ง) ขณะที่บางรายมีราคาเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท ส่วน Content Provider เช่น ก็มีช่องทางทำเงินมากขึ้น โดยไม่ต้องรอหวังฝากลมหายใจไว้กับฟรีทีวีเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้รูปแบบของทีวีดาวเทียมมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น จานดาวเทียมไดนาแสทระดับไฮเอนด์ด้วยระบบ Digital C/KU DUO MOVE สามารถรับชมรายการได้ 400 ช่อง จากดาวเทียม 10 ดวง แต่สนนราคาก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20,000 บาท

ท่ามกลางการหดหายของเสาอากาศโทรทัศน์ จานดาวเทียมคือสิ่งทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้เด่นชัด หากสังเกตตามคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ต่างๆ จะพบว่า จานดาวเทียมหลากสี หลากแบบ ติดตั้งเรียงรายตามริมระเบียงห้อง

พื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นประหนึ่งโชว์รูมของจานดาวเทียมยี่ห้อต่างๆ ไปโดยปริยาย ดังนั้นรูปลักษณ์ภายนอก ความสวยงามของจานดาวเทียมก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงกัน โดยเฉพาะสามารถถึงกับชูเรื่องดีไซน์ของจานดาวเทียมเป็นหนึ่งในจุดขายเลยทีเดียว

สุดท้ายต้องรอคอยผลวิจัยจากนีลเส็นว่าจะออกมาในรูปแบบใด และเอื้อประโยชน์ต่อทีวีดาวเทียมหรือไม่ อีกไม่นานรู้กันว่าจะเป็นฝันลวงหรือเรื่องจริงที่เป็นข่าวดีกันแน่