‘โฆษณา’ จุดเปลี่ยนเคเบิลสู่ธุรกิจหมื่นล้าน

เคเบิลทีวี 1 ราย ลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านบาท คูณด้วยจำนวนสถานีที่มีอยู่ราว 500 สถานี รวมแล้วธุรกิจเคเบิลทีวีมีเงินลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยประมาณการว่ามีสมาชิกเคเบิลทีวีประมาณ 2.5 ล้านรายทั่วประเทศ มีผู้ชมมากกว่า 10 ล้านคน ค่าสมาชิกประมาณ 250-450 บาทต่อเดือน รวมแล้วธุรกิจเคเบิลทำรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 750 ล้านบาท หรือเท่ากับมีมูลค่าปีละอย่างน้อย 9,000 ล้านบาท แต่เมื่อกฎหมายใหม่ออกมาต่อยอดให้เคเบิลทีวีมีโอกาสหารายได้จากการขายโฆษณาเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการเก็บค่าสมาชิก โอกาสที่จะได้เห็นธุรกิจระดับหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งในแง่ของรายได้และการขายสมาชิกเหมือนธุรกิจเคเบิลในต่างประเทศ กำลังจะได้เห็นกันในเมืองไทยไม่เกิน 1-2 ปีนี้

กฎหมายใหม่ อนาคตใหม่

ผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กฎหมายวิทยุโทรทัศน์ มีเนื้อหาสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในวงการผู้ประกอบการวิทยุโทรทัศน์อย่างคึกคักอยู่ 2 ประเด็น นั่นคือ

ในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กฎหมายอนุญาตให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นผู้ออกใบอนุญาตชั่วคราวแบบปีต่อปีได้ ทำให้ผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของคอนเทนต์หลักๆ เช่น ค่ายเพลง ผู้ผลิตรายการ มีเดียเอเยนซี่ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าของสถานีโทรทัศน์ ต่างแสดงความสนใจที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมกันอย่างเต็มตัว ก่อนจะเกิด กสทช. ในอนาคต ซึ่งจะสามารถพิจารณาอนุมัติให้ใบอนุญาตได้ถึงครั้งละ 15 ปี

ภายใต้กฎหมายใหม่นอกจากจะเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ง่ายขึ้นกว่าเดิม ยังเพิ่มแรงจูงใจโดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหารายได้จากการขายโฆษณาได้ด้วย โดยกำหนดให้มีโฆษณาในเคเบิลทีวีได้ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง อัตราการโฆษณาที่กำหนดไว้นี้ ยังมีโอกาสที่จะขยายเวลาเพิ่มขึ้นได้ไม่แพ้ฟรีทีวีสูงสุด 12นาทีครึ่งต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 10 นาทีต่อชั่วโมงในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถทบทวนกฎหมายในประเด็นนี้ได้โดยตรงอีกครั้งหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ครบ 5 ปี

เรตติ้ง…ปัญหาของผู้ผลิต

ยุคที่ทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นใหม่ๆ เป็นการช่วยให้เคเบิลทีวีรอดพ้นวิกฤตขาดแคลนคอนเทนต์ ที่หันไปเป็น Exclusive Content ให้กับทรูวิชั่นส์ ขณะที่ตัวผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีดาวเทียมส่วนใหญ่ กลับต้องเจอปัญหาในด้านการหารายได้ เพราะผลิตขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้ดูฟรี

“เคเบิลรอดตายเพราะมีรายการให้คนดู แต่ผู้ผลิตคอนเทนต์ตายเพราะต้นทุนสูงค่าทั้งค่าเช่าดาวเทียมและจ้างทีมผลิตรายการ โฆษณาก็ไม่ช่วยเพราะเคลมไม่ได้ว่ามีคนดูที่ไหนบ้าง จำนวนเท่าไร เรตติ้งจึงเป็นปัญหาของผู้ผลิตมากกว่าผู้ให้บริการเคเบิลทีวี”

นายแพทย์ธิเบศร์ เมฆวิชัย เลขาธิการสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เล่าถึงสถานการณ์ของผู้ผลิตรายการ ซึ่งหลังกฎหมายใหม่ออกมา สมาคมเคเบิลฯและเจ้าของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม จึงร่วมมือกันเพื่อจัดทำผลสำรวจความนิยมหรือการวัดเรตติ้งขึ้นเพื่อนำผลที่ได้เป็นเครื่องมือในการหารายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตรายการ

นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรก ก่อนหน้านี้ สมาคมฯ และกลุ่มผู้ผลิตรายการ เคยทำวิจัยกลุ่มผู้ชมเคเบิลทีวีในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มมีเดียเอเยนซี่ และเจ้าของสินค้าว่านี่คือการวัดผลที่เชื่อถือได้

“เอเยนซี่ไม่เชื่อผลวิจัยของเรา ส่วนหนึ่งเพราะเขามองว่ายอดสมาชิกของผู้ประกอบการเคเบิลแต่ละรายเป็นความลับซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ตัวเลขที่มีอยู่ ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นของสมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีแห่งเอเชีย (CASBAA) หรือเอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ก็เป็นตัวเลขที่ทางสมาคมจัดทำให้ไปทั้งสิ้น”

นายแพทย์ธิเบศร์เล่าว่า ก่อนหน้านี้เนชั่นชาแนลเคยเชิญให้เขาไปบรรยายให้กับมีเดียเอเยนซี่รายใหญ่รายหนึ่งว่า จะลงโฆษณาในเคเบิลอย่างไรให้ได้ผล แต่คำตอบที่ได้รับยังคงยืนยันว่า รายการเคเบิลที่จะขายโฆษณาได้ อย่างไรก็ต้องมีการวัดเรตติ้ง และต้องวัดโดยบริษัทที่เอเยนซี่ยอมรับ

เมื่อคำตอบที่จะเป็นทางรอดของผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่เปลี่ยนแปลง ความพยายามก่อนหน้านี้ของสมาคมฯ ที่จะว่าจ้างหน่วยงานวิจัยของไทย อย่างสวนดุสิต หรือเอแบค เพื่อเก็บข้อมูลผู้ชมเคเบิล ด้วยเหตุผลว่าค่าจ้างไม่แพงและเป็นการสนับสนุนคนไทยด้วยกันก็ต้องพับไป จากนั้นเปลี่ยนมาใช้วิธีลงขัน โดยให้ผู้ผลิตรายการแต่ละช่องที่ต้องการวัดเรตติ้งลงเงินคนละ 1 หมื่นบาทต่อเดือนต่อช่องรายการที่ต้องการจัดเรตติ้ง เพื่อว่างจ้างเอจีบี นีลเส็น รีเสิร์ช ซึ่งเป็นที่เชื่อถือของเอเยนซี่มาจัดทำเรตติ้ง

รวมแล้วสมาคมฯจะต้องใช้เงินเพื่อการวัดเรตติ้งประมาณ 37 ล้านบาทในปีแรกนี้

ตัวเลขคนดูเคเบิล 2.5 ล้านมาจากไหน

“ผมกล้ารับประกันว่าถ้าบริษัททำสำรวจออกมาไม่ตรงกับตัวเลขเดิมก็แสดงว่าเขาทำผิด เพราะตัวเลขที่ผมประเมิน มาจากประสบการณ์ล้วนๆ ในธุรกิจเคเบิลกว่า 20 ปี ส่วนตัวผมมี 14 สถานีทั่วประเทศ ที่ไหนน่าจะมีเท่าไร ประเมินได้ ระดับพื้นที่ไหน ทำมากี่ปีมีเท่าไร ตัวเลข 2.5 ล้านรายของสมาชิกเคเบิล ก็ได้มาจากยุคที่นายกสมาคมฯคนปัจจุบัน (เกษม อินแก้ว) กับหลายสถานีช่วยกันลงขันเพื่อทำสำรวจมาก่อนหน้านี้”

ปัจจุบันนายแพทย์ธิเบศร์ ในฐานะตัวแทนสมาคมฯ อยู่ระหว่างจัดส่งข้อมูลให้กับเอจีบี นีลเส็น รีเสิร์ช เพื่อนำไปเก็บข้อมูลทำเรตติ้ง

“เป็นหน้าที่สมาคมฯ ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเคเบิลทุกรายช่วยกำหนดช่องตายตัว ไปจังหวัดไหนเปิดช่องเดียวกันเจอรายการเดียวกัน เช่น เอเอสทีวี เดิมไปเชียงใหม่อยู่ช่อง 30 ที่หาดใหญ่ช่อง 20 ชลบุรีช่อง 12 แค่ปัญหานี้ก็ทำให้หาโฆษณาลำบาก เอเยนซี่ไปก็หาไม่เจอ สิ่งแรกที่เอเยนซี่ขอก็คือให้ตั้งเป็นช่องเดียวกันทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ ขณะที่ช่องรายการเคเบิลของนายแพทย์ธิเบศร์ ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นนำภาพยนตร์เก่าสมัยมิตร เพชรา มาฉายในช่อง TCC (ไทยเคเบิลชาแนล) กลับไม่นำรายการของตัวเองเข้าไปอยู่ในลิสต์ ด้วยเหตุผลว่า “ช่องของผมคนดูเยอะอยู่แล้ว คนจำได้” ทำให้นอกจากจะไม่ต้องเสียเงินค่าจัดเรตติ้ง อีกมุมหนึ่งก็เพราะ TCC เป็นรายการของผู้ประกอบการที่มีรายได้แน่นอนอยู่แล้วจากค่าสมาชิก ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่เดือดร้อนจากเรตติ้งโดยตรง

อนาคตที่มากกว่าการโฆษณา

กฎหมายคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเคเบิลทีวีไทยไม่เติบโตมากเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศ เช่น ไต้หวัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยต้องมาเรียนรู้กิจการเคเบิลทีวีในไทย แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการเคเบิลทีวีในไต้หวันสามารถพัฒนารายการของตัวเองแซงหน้าฟรีทีวีจนถึงขนาดที่ฟรีทีวีต้องนำรายการของตัวเองมาซื้อเวลาจากผังรายการเคเบิลเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่า

“เคเบิลไต้หวันมูลค่าเป็นหมื่นล้านเพราะรัฐสนับสนุนเรื่องใบอนุญาต แต่ของเราปีต่อปี แบงก์มองว่าเสี่ยง ยื่นกู้ไม่ได้เลย ผู้ประกอบการเคเบิลทุกรายทุกวันนี้ลงทุนด้วยเงินตัวเอง แต่ต่อไปในอนาคตถ้ามี กสทช. เกิดขึ้น และพร้อมที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบการในระยะยาว 15 ปี ตอนนั้นคงจะได้เห็นการลงทุนมหาศาล”

ถ้ามีเงินลงทุนที่มากพอ นายแพทย์ธิเบศร์วาดภาพให้ดูว่า คนไทยจะมีโอกาสได้เห็นโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกที่เชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ ในลักษณะของ Multi-system จากเครือข่ายอำเภอ เป็นจังหวัด และเชื่อมโยงเป็นระดับภาค เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการเป็นกลุ่มใหม่ และพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องในลักษณะคอนเวอร์เจนซ์ได้มากขึ้น เช่น การเชื่อมบริการระหว่างอินเทอร์เน็ตและทีวี เป็นต้น

“ธุรกิจเคเบิลถ้าให้บริการอินเทอร์เน็ตจะน่ากลัวกว่าบริษัทที่ให้บริการอยู่ ในอเมริกา เกาหลีใต้ ไม่มีบริษัทไหนกล้าทำอินเทอร์เน็ตแข่งกับเคเบิล คนที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นบริษัทเคเบิลทั้งนั้น ถ้ามีใบอนุญาตและเงินทุนพร้อมเมื่อไร ก็จะเห็นภาพธุรกิจเคเบิลไทยที่เปลี่ยนไปเลยแบบ Infinity”

ข้อดีของโครงข่ายใยแก้วของเคเบิล คือการส่งข้อมูลภาพและเสียงได้ด้วยความเร็วระดับหลายร้อย MB ขณะที่บริการไฮสปีดอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำได้เพียง 1-2 MB เท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบัน ทั้ง บมจ.กสท และบมจ.ทีโอที ต่างก็เริ่มเจรจากับกลุ่มเคเบิล ล่าสุดสมาคมฯ กำลังอยู่ระหว่างมีจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับทีโอที

“ทีโอทีมีโครงข่ายหลัก เคเบิลมีโครงข่ายย่อยทุกหมู่บ้าน ใครจะลงทุนตรงไหน จะแบ่งรายได้กันอย่างไร ไม่เกินสิ้นปีคงเห็นภาพ เคเบิลส่งอินเทอร์เน็ตได้ด้วยความเร็วสูง มี IP Phone อาจจะเสียค่าสมาชิกเคเบิลแล้วใช้เน็ตฟรี หรือต่างคนต่างทำก็ได้ แต่คอนเซ็ปต์หนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือการเชื่อมเครือข่ายทั้งประเทศ”

นี่คือการต่อยอดที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการเคเบิลทีวีโดยตรง ซึ่งนอกจากจะขยายช่องรายการ ขยายฐานคนดูด้วยระบบโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันกว้างขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการยังมีโอกาสได้ส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาจากรายการที่ดึงมาออกอากาศด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้สูตรรายได้ของผู้ประกอบการเคเบิลจากเดิมที่มาจากค่าสมาชิกเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนแปลงไป

“ในไต้หวัน เคเบิลทีวีเขามีสมาชิกเป็นล้านราย เขาจะผลิตเกมโชว์ ละคร ข่าว ของตัวเอง มีการพัฒนาคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งทำให้เคเบิลของไต้หวันทำรายได้จากค่าสมาชิกแค่ 40% ที่เหลือเป็นรายได้จากโฆษณา”

ประโยชน์จากกฎหมายวิทยุโทรทัศน์ 2551
-ทำให้เคเบิลเถื่อนมีโอกาสขอใบอนุญาตอย่างถูกต้องและกลายเป็นผู้ประกอบการถูกกฎหมาย
-เปิดโอกาสให้มีการพัฒนารายการที่หลากหลาย จากโอกาสในการหาผู้สนับสนุนรายการได้ตามที่กฎหมายอนุญาต
-เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สามารถทำสถานีโทรทัศน์ของตัวเองได้ และเป็นการลดผลกระทบจากปัญหาการถูกปลดและยึดคืนเวลาจากผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์
-การโฆษณาได้สูงสุดไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง มีโอกาสขยายเพิ่มได้อีกหนึ่งเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้าเพราะกฎหมายเปิดช่องให้มีการนำประเด็นนี้มาพิจารณาได้หลังกฎหมายมีผลใช้บังคับครบ 5 ปีไปแล้ว
-เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเคเบิลทีวีที่มีรายการให้เลือกดูหลากหลายมากขึ้น
-การแข่งขันทำให้เกิดการแบ่งประเภทรายการได้ตามกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เช่น คนรักสุขภาพ คนชอบข่าว คนชอบละคร หรือคนชอบฟังเพลง เป็นต้น
-ทำให้เจ้าของสินค้ามีช่องทางในการเจาะตลาดเข้าหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ชัดเจนขึ้น ทั้งการแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่ ตามรสนิยม หรือแม้กระทั่งระดับรายได้จากรูปแบบรายการต่างๆ
-ผู้สร้างสรรค์โฆษณา นักวางแผนสื่อ มีโอกาสสร้างสรรค์รูปแบบการโฆษณาได้หลากหลาย และมีทางเลือกมากขึ้น เช่น แทนที่จะซื้อสปอตโฆษณาผ่านทีวีก็สามารถเลือกซื้อเป็นแพ็กเกจ เลือกสปอนเซอร์รายการ หรือแม้กระทั่งเชียร์ให้เจ้าของสินค้าผลิตรายการของตัวเองก็ยังได้
-คาดว่าจะทำให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์รายการของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ลดลง เพราะมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมโดยเฉพาะ

สถิติเคเบิลทีวีไทย
– จำนวนผู้ประกอบการเคเบิลทีวีไทย 250 บริษัท รวม 500 สถานี
– อัตราค่าสมาชิกเคเบิลเฉลี่ย 250-450 บาทต่อเดือน
– จำนวนสมาชิกเคเบิลทีวีในปัจจุบัน 2.5 ล้านครัวเรือน
– เข้าถึงผู้ชมมากกว่า 10 ล้านคน
– คิดเป็นมูลค่าการผลิตรายการต่อปีราว 1 หมื่นล้านบาท
– คาดว่าภายในปี 2553 จะเพิ่มมูลค่าการผลิตรายการเป็น 2 หมื่นล้านบาท
– ปัจจุบันมีผลิตรายการโทรทัศน์ดาวเทียมประมาณ 40-60 รายการ
– คาดการงบโฆษณาที่จะลงในเคเบิลทีวีปี 2551 ประมาณ 500 ล้านบาท