Internet TV ฉายที่นี่ต้องเจาะลึก

ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีมากถึง 3 ล้านคนในไทย กลายเป็นทางออกใหม่ของ “ทีวี” ที่กำลังเปิดกว้างให้กับผู้ผลิตรายการ ค่ายเพลง แม้แต่เจ้าของสินค้า ก็สามารถเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ แถมผู้ชมยังสามารถเลือกรายการเอง เลือกเวลาดูเอง

สนามใหม่นี้ไม่ใช่ที่ของสื่อ Mass และไม่ใช่ที่ของ“ที่ไว้ดูเพลินๆ ฆ่าเวลา” เมื่อทุกช่องทุกเว็บล้วนพบว่าสิ่งที่คนดู Internet TV ต้องการคือรายการที่เฉพาะเจาะจง และตรงกับสิ่งที่พวกเขาสนใจจริงๆ เหมาะกับกลุ่มไลฟ์สไตล์ของลูกค้า

“เราไม่ได้ดึงคนดูมาจาก TV ปกติ แต่เราจะดึงพวกคนเล่นเน็ตมาดูสิ่งที่หาดูไม่ได้จาก TV ทั่วไป เพราะคนรุ่นใหม่ๆ มากมายที่ไม่ดูทีวี ว่างจากเรียน หรือจากงานก็เล่นเน็ต” เป็นคำพูดที่ชี้ชัดถึง Positioning ของอินเทอร์เน็ตทีวี ของ สุวิทย์ สาสนพิจิตร์ CEO ของ http://www.manytv.com ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ใหม่ภายใต้เครือ JSL เป็นทีวีแบบใหม่ที่ต้องเปิดเว็บไซต์เพื่อเข้าชม

ไม่กี่ปีนี้เอเยนซี่โฆษณาและสำนักวิจัยทั่วโลกพบตรงกันว่า คนใช้เวลากับทีวีลดลงเรื่อยๆ แต่กลับให้เวลากับการเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้นทุกวันๆ จนทำให้เจ้าของสินค้าและนักการตลาดอยู่เฉยไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับว่าเงินลงทุนที่ใส่ไปในโทรทัศน์กำลังให้ผลตอบแทนที่ลดลงๆ

แล้วอุตสาหกรรมทีวีไทยต้องจับตา เมื่อยักษ์ใหญ่อายุยาวนานแห่งวงการอย่าง JSL ขยับลงมาทำอินเทอร์เน็ตทีวีเต็มตัว ภายใต้ชื่อ http://www.manytv.com เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านไป

เบื้องหลังดีไซน์คล้าย YouTube นั้น เป็นที่รวมกันของผู้ผลิตรายการชื่อดังๆ อย่าง อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส เจ้าของรายการ “บ้านอุ้ม” , “แบไต๋ไฮเทค” ของหนุ่ยพงษ์สุขและทีมงาน, “Monotone” ค่ายเพลงอินดี้ชื่อดัง, “U-Channel” สถานีที่ออกอากาศในหลายมหาวิทยาลัยมานาน, “AF Alumni” รวมนักล่าฝันทุกรุ่น และอื่นๆ อีกหลายสิบราย

และแต่ละรายนั้น JSL แถลงว่า “เอาไปเลย 1 ช่อง” และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเวลาแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อมีรายได้จากโฆษณาแล้วก็จะถูกจัดสรรแบ่งปันกันตามแต่เจรจาตกลง ซึ่ง จิติณัฐ อัษฎามงคล Marketing Director หนุ่มของสถานีเผยว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะรายการ และใครเป็นผู้ลงมือผลิตมากว่า

ทั้งนี้เพราะบางช่องเช่น “Central Hungry Guide” โดยกลุ่มเซ็นทรัลนั้นมีลักษณะเป็น“ช่องสร้างแบรนด์” ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลลงทุนและใช้ JSL ร่วมช่วยผลิตรายการให้ ในโมเดลนี้ JSL ย่อมต้องได้รับเม็ดเงินแทบจะเต็มๆ ซึ่งโมเดลนี้นอกจากเซ็นทรัลยังมียนตรกิจและเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์อีกด้วย

แต่ส่วนใหญ่แล้วโจทย์ที่ผู้ผลิตรายการของ ManyTV แทบทุกรายต้องเจอ คือต้องสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจที่สุด ดึงดูดผู้ชมได้ และไม่ใช่สิ่งที่หาดูได้จากทีวีทั่วไป เพราะสิ่งที่จะชี้ชะตารายการในนี้ไม่ใช่เรตติ้งเอเยนซี่อย่าง AC Nielsen แต่เป็นจำนวนครั้งที่มีคนมาโหลดดู คะแนนโหวตชอบ จำนวนคอมเมนต์ และอีกหลายตัวเลขที่มาจากมหาชนคนดู

โฆษณาที่นี่จะมีทั้งรูปแบบป้ายแบนเนอร์เหมือนเว็บทั่วๆ ไป และเป็นวิดีโอสั้นๆ สอดแทรกไปช่วงต้นๆ ของทุกคลิปด้วย และแน่นอนว่ามีการกลั่นกรองเลือกลงโฆษณาสินค้าให้ตรงกับเรื่องในคลิปนั้นๆ เสมอ

ManyTV ยังทำตัวคล้าย YouTube เปิดรับคลิปวิดีโอจากคนทางบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งหากใครทำเรตติ้งถึงขั้น ก็มีสิทธิ์จะรับส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาด้วย

ทุกช่องที่จะเข้ามาร่วมออนแอร์ใน ManyTV จะต้องผ่านการพูดคุยและสกรีนจากผู้บริหารอย่าง สุวิทย์ และทีมงานก่อน จากนั้นยังต้องถูกตัดสินด้วย “Page View” ว่ามีคนคลิกเข้าชมแค่ไหน ร่วมกับปัจจัยตรวจวัดได้ เช่นเวลาที่ผู้ชมอยู่ในหน้านั้นๆ เป็นต้น

เช่นเดียวกับกับเว็บไซต์ชื่อแปลก FukDuk.TV (ฟุ๊กดุ๊ก) ที่ก่อตั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านไปโดย ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล หรือ “คุณชายอดัม” ทายาทวัย 23 ปีของ “ท่านมุ้ย” ที่ปั้น Fukduk ให้เป็นทีวี 14 ช่องทางเน็ต ด้วยทีมงานเล็กๆ 20 กว่าคน และรูปแบบบริษัทอย่างมืออาชีพ ใช้ระบบรวมคลิปไฟล์ Flash เช่นในเว็บไซต์ YouTube

Fukduk ก็เช่นเดียวกับ ManyTV ที่เน้นเนื้อหารายการแหวกแนวออกจากโทรทัศน์เดิมๆ เช่นรายการเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำ รายการอธิบายวิธีการเล่นการ์ดเกม รายการเจาะลึกการใช้งานระบบปฏิบัติการ Linux และรายการวิธีการถ่ายภาพ และโฮมวิดีโอจากทางบ้านด้วย

“เราต้องการฉีก ให้รายการไม่เหมือนโทรทัศน์ พิธีกรจะเป็นผู้กำกับ เขียนบท วิจัย ดูแลการผลิต และนำเสนอคาแรคเตอร์ตัวเองได้ไม่มีที่สิ้นสุด” ฌานิศ ชูมณี โปรดิวเซอร์ 14 รายการของ FukDuk.TV ได้อธิบายกับ นสพ. ผู้จัดการ Cyberbiz ไว้เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2550

“เราจับตลาดนิชหรือตลาดเฉพาะกลุ่ม เหตุผลคือตลาดกลุ่มนี้เล็กแต่ฐานแน่น ต่อให้จำนวนไม่มากแต่ไม่มีทางลดลง เชื่อว่ามีแต่เพิ่มขึ้น รายการพวกนี้ทำขึ้นมายังไงก็มีคนดู”

4 วันแรกที่ “ฟุ๊กดุ๊ก” ออนแอร์ ก็สร้างปรากฏการณ์ที่เนื้อหายากๆ เจาะลึกอย่าง Ubuntu Channel ซึ่งเจาะลึกการใช้งานระบบปฏิบัติการ Linux นั้นได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจากรายการสอนทำหนังสั้น Cinecrazy ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ราว 3,200 ราย และถึงปลายปีที่ผ่านมาทำได้ 3 แสนฮิตต่อเดือน

“เราจะเก็บตลาด Niche ด้วยการเพิ่มรายการ ขยายฐานคนดูแต่ละกลุ่มไปเรื่อยๆ ” ม.ร.ว. เฉลิมชาตรีตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มรายการไว้ที่ปีละ 14 ช่อง โดยจำนวนสูงสุดที่ตั้งไว้ที่ 112 ช่อง และจะให้ดูฟรีตลอดไป ส่วนสปอนเซอร์นั้น FukDuk เปิดรับในรูปแบบป้ายโฆษณาบนหน้าเว็บไซต์ ซึ่งก็เป็นโจทย์การตลาดที่ต้องไปสร้างความนิยมกันไม่ต่างจากเว็บคอนเทนต์แบบอื่นๆ

แต่ยังมีอีกรายที่ Niche ยิ่งกว่า ก่อตั้งมาก่อนและเรตติ้งสูงไม่แพ้กัน คือ Duocore.TV ช่องรายการไอทีและรีวิวอุปกรณ์ไฮเทคของ กล้า ตั้งสุวรรณ และ ณัฐวัฒน์ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา 2 หนุ่มที่เดินตามฝันที่อยากมีรายการไอทีของตัวเองแต่ไม่มีช่องทางในทีวีปกติที่ไหน

กล้า และ ณัฐวัฒน์ บอกเล่าความต้องการอิสรเสรีไว้ใน นสพ. ประชาชาติธุรกิจ ฉบับต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านไปว่า “อินเทอร์เน็ตทีวีคือสื่อทางเลือก สำหรับคนที่ไม่มีทุนและพาวเวอร์มากพอที่จะเข้าไปเป็นสื่อกระแสหลัก แม้ขณะนี้จะมีสถานีทีวีสาธารณะอย่าง TPBS ที่มีเวลาและทุนให้ แต่การจะเข้าไปได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญคือไม่อิสรเสรี ใครๆ ก็ทำได้ ไม่เหมือนทีวีบนเน็ต”

ทั้งสองยังมองไปถึงตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ว่า “แม้ในประเทศที่มีทีวีสาธารณะมากๆ มีเคเบิลทีวีมากมาย ก็ยังมีทีวีบนเน็ตมากเช่นกัน และได้รับความนิยมมีคนดูเป็นแสนๆ รายต่อวัน”

แต่แม้จะมียอดผู้เข้าชมในระดับที่ทำรายได้ แต่ก็เน้นหากำไรจากการนำชื่อเสียงไปรับจ้างผลิตรายการ เป็นโปรดักชั่นเฮาส์ให้กับองค์กรธุรกิจสื่อใหญ่ๆ มากกว่า

รายการประเภทไอทีดูจะเป็นอันดับต้นๆ บนอินเทอร์เน็ตทีวี เพราะนอกจาก Duocore.TV ยังมี Gsquare.TVสถานีรายการเกมและไอทีของ True ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมที่เปิดช่องนี้มาบริการคอเกมออนไลน์ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรดักส์ของบริษัท

นอกจากรายการเชิงสาระเจาะลึก ยังมีช่องอินเทอร์เน็ตทีวีที่เน้นรายการบันเทิงทั่วไป แต่ใส่ความอินเตอร์แอคทีฟเพิ่ม เช่น ihere.TV ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ นันทสิทธิ์ แจ่มสมบูรณ์ ที่ชูจุดขายที่ดีเจดังอดีตนักร้องวัยรุ่นอาร์เอส พรีเซ็นเตอร์โอวัลตินคนล่าสุดอย่าง “โมเม” และแฟนหนุ่ม “จอห์น วิญญู” ดีเจชื่อดังจากฮอตเวฟและพิธีกรรายการ WakeClub ซึ่งทั้งคู่เป็นแม่เหล็กดึงดูดวัยรุ่นคอเพลงป๊อปได้เป็นอย่างดี

นอกจากอินเทอร์เน็ตทีวีชื่อดังเหล่านี้ ในไทยก็ยังมีรายย่อยๆ อย่าง tvsyn.com, thaishortfilm.com, sukiflix.com, itcoolgang.com, wakeupwakeupwakeup.com และ changkhui.com ที่เดินหน้าเก็บผู้ชมเซ็กเมนต์ของตัวเองอย่างขะมักเขม้น เช่น TVsyn ที่นิยมตามศิลปินนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ดังๆ ไปดูเบื้องหลังถึงห้องอัดเสียงกันเป็นประจำ

ด้วยความที่ต้นทุนต่ำ เปิดง่าย ไม่ต้องขอสัมปทานจากไหน ทั้งทุนเล็ก ทุนใหญ่ ทุนใหม่ ทุนเก่า จึงพากันก้าวเข้ามาบุกเบิกสนามนี้กันยกใหญ่ โดยเฉพาะในไทยที่คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์นั้นได้มายากมากถึงยากที่สุด แต่การเปิดสะดวกทุนต่ำก็ไม่ได้แปลว่าจะทำง่าย เพราะท่ามกลางคู่แข่งมากมายนั้น สิ่งที่จะตัดสินชะตาของทุกๆ ช่องในทุกๆ วัน ก็คือคนดูนับล้านที่พร้อมจะ Click หนีไปที่อื่นเสมอ

จับตา ! ทีวีดาวเทียมไร้จาน ผ่านเน็ต

ทีวีอินเทอร์เน็ตนั้นอาจจะอ้างว่าไม่ได้แข่งกับทีวีธรรมดาทั่วไป แต่อีกคู่แข่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือทีวีดาวเทียมที่ส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่สถานีข่าวดังๆ อย่าง CNN จากสหรัฐฯ, BCC จากอังกฤษ, CCTV จากจีน ไปถึงสถานีเพลงอย่าง MTV

และที่ขาดไม่ได้สำหรับคอบอลคือพรีเมียร์ลีกที่ SkyTV จากอังกฤษ, StarSport, FSoccer จากสหรัฐฯ และทั้งหมดนี้ดูฟรีผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 512 kbps ขึ้นไป โดยใช้โปรแกรม PPLive หรือ SopCast ก็เปิดดูได้อย่างลื่นไหลไม่สะดุด

ซึ่งความฮิตของโปรแกรมอย่าง PPlive นี้ กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ทำให้คอฟุตบอลสมาชิกเคเบิลทีวีแบบเสียรายเดือนมากมายในไทยยกเลิกบริการหันมาเปิดเน็ตดูไปตามๆ กัน และนั่นเท่ากับว่าทีวีดาวเทียมออนไลน์รูปแบบใหม่นี้เป็นคู่แข่งทั้งกับ Pay-TV , กับ Internet TV และกับ TV แบบเดิมๆ อย่างน่าจับตา