“คนผลิตรายการ คนทำตลาด ขายโฆษณา ต้องเอาสมองมารวมกัน”

ถ้าจะนับ “เจ้าแม่” ในวงการทีวี “จำนรรค์ ศิริตัน” หนึ่งในเจ้าของอักษรตัวแรกของบริษัท“เจเอสแอล” ก็น่าจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในนั้น เพราะกว่า 30 ปี ที่ “จำนรรค์” โลดแล่นอยู่บนหน้าจอ ฝ่าทั้งคลื่นลมมรสุมธุรกิจ

ในวันนี้แม้ เธอยังไม่ได้เป็นเจ้าของฟรีทีวี หรือเคเบิลทีวี เหมือนผู้ผลิตคนอื่นๆ แต่เธอ กำลังคว้าโอกาสใหม่ให้กับตัวเองอีกครั้งกับการเป็นเจ้าของ “many TV” โทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ต ความเคลื่อนไหวรายแรกของไทย

“จำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจเอสแอล ในฐานะ “ผู้เล่น” ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์มานาน 30 ปี มองปรากฏการณ์ของวงการโทรทัศน์ครั้งนี้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน”สำคัญที่ทั้งสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ และผู้ผลิตรายการต้องปรับตัวเพื่อแย่งชิงผู้ชม และในภาพรวมสำหรับธุรกิจผู้ผลิตรายการ นับเป็นช่วงที่ดีในการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ แม้จะไม่ใช่ช่องทีวีระดับยักษ์ใหญ่อย่างฟรีทีวี แต่ก็เป็นโอกาสที่มากขึ้นทั้งในทีวีผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวี รวมถึงทีวีอินเทอร์เน็ต

นาทีนี้ “เจเอสแอล” นอกจากจะเลือกเป็น “Content Provider” ให้กับฟรีทีวี โดยปักหลักอยู่ในช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 9 ยังขอเริ่มเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต ภายใต้สถานีทีวีที่ชื่อว่า “many TV” เพราะลงทุนไม่สูงนัก ซึ่งคุ้มค่ากับการปูทาง เพื่อดักสปอนเซอร์ที่มีแนวโน้มเข้าหาโลกออนไลน์ และลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

ในฐานะผู้ผลิตรายการมือเก๋า “จำนรรค์” ย้ำว่า แม้จะเป็นเจ้าของช่องทีวีได้โดยง่าย หรือมีช่วงเวลาออกอากาศและหลากหลายช่องทางมากขึ้น แต่โอกาสที่ผู้ผลิตจะไปไม่รอดก็มีสูง เพราะทำรายการไม่โดนใจผู้ชม จนไม่สามารถหารายได้จากโฆษณาแม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้ก็ตาม

นี่คือบทพิสูจน์อีกครั้งสำหรับ “ตัวจริง”

โอกาสทองผู้ผลิต “ตัวจริง”

“จำนรรค์” บอกว่าเจเอสแอลเห็นโอกาสของธุรกิจในวงการโทรทัศน์ที่มากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายอื่นๆ เพราะกฎหมายที่ผ่อนคลาย เปิดโอกาสให้มีสถานีโทรทัศน์มากขึ้น โดยเฉพาะในระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวีที่รัฐอนุญาตให้มีโฆษณา ส่งผลให้ต่อไปผู้ชมมีสถานีโทรทัศน์ให้เลือกมากขึ้น บางส่วนอาจฟรีไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกเหมือนที่ผ่านมา ถือว่าเข้ามาอยู่ในสนามเดียวกับฟรีทีวี

นี่คือโอกาสสำหรับผู้ผลิตรายการที่จะมีช่องทางในการเผยแพร่รายการสู่ผู้ชมมากขึ้น และที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับผู้ผลิตรายการที่ไม่ต้องผูกติดอยู่กับฟรีทีวีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม “จำนรรค์” บอกว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ จำนวนช่อง และจำนวนรายการมีมากเกินกว่าความต้องการของผู้ชมหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักการตลาดคือดีมานด์กับซัพพลาย หากซัพพลายล้นก็อาจขายไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายคือผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพและสนองความต้องการของผู้ชมจึงจะอยู่รอด เรียกได้นี่คือโอกาสพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า ตัวจริงเท่านั้นที่จะอยู่รอด และได้โอกาสทองจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทีวีครั้งนี้

สปอนเซอร์เจาะเซกเมนต์

หากถามว่าแล้วโอกาสของเจ้าของช่องทีวีเกิดใหม่อยู่ตรงไหน “จำนรรค์” บอกว่าอยู่ตรงที่แนวโน้มธุรกิจของสินค้าและบริการต่างๆ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แยกย่อยมากขึ้น ทำให้การเป็นสปอนเซอร์รายการจะเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายชัดเจน ต่างจากเดิมที่เน้นในกลุ่ม Mass ที่ต้องอาศัยฟรีทีวีเท่านั้นในการโฆษณาเพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ

เมื่อมีช่องสถานีโทรทัศน์มากขึ้น หลากหลายรายการกว่าเดิม สินค้าที่มาเป็นสปอนเซอร์ก็สามารถแยกย่อยการเป็นสปอนเซอร์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกันในแต่ละรายการ และช่องที่เกิดขึ้น

เน้นเป็น Content Provider

เจเอสแอลแม้จะมีเครดิตสูงในการเป็นผู้ผลิตรายการ มีโอกาสสร้างชื่อเสียงมานาน 30 ปี ผ่านสายตาแฟนจอตู้ทั้งช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 9 หลายคนจึงคิดว่าโอกาสในการเจ้าของสถานีโทรทัศน์สักช่องไม่น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับเจเอสแอล แต่ “จำนรรค์” บอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่เจเอสแอลจะมีสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวี เคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม ความพร้อมขณะนี้เจเอสแอลจึงเริ่มต้นในสื่อที่ลงทุนไม่สูง อย่างทีวีอินเทอร์เน็ตก่อนภายใต้ชื่อ “many TV” แม้จะไม่ใช่สถานีระดับบิ๊ก แต่ก็จัดได้ว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเจเอสแอล ที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์สักช่อง

“จำนรรค์” บอกว่าการเป็นเจ้าของช่องในสื่อทีวีต้องพิจารณา เรื่องการลงทุนเป็นสำคัญ และขณะนี้มีคู่แข่งจำนวนมาก ซึ่งเจเอสแอลได้ข้อสรุปว่าขอเป็น Content Provider ให้กับฟรีทีวีดีกว่า เพราะเส้นทางเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ยังไม่ทำให้มั่นใจเพียงพอที่จะเปิดช่องทีวีของตัวเองในประเภทฟรีทีวี เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม

”จำนรรค์” บอกว่าธุรกิจโฆษณาขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ และที่ผ่านมาแม้ว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจะมีนโยบายไม่หารายได้จากโฆษณา เท่ากับฟรีทีวีหายไป 1 ช่อง แต่เม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้กระจายไปยังรายการอื่นๆ มากนัก ส่วนใหญ่ยังลงไปที่ละคร เพราะมีคนดูมากที่สุด แต่โฆษณาในละครก็มีเวลาจำกัด เพียงแค่ 10-20 นาทีต่อเรื่อง รายการอื่นๆ จึงได้รับอานิสงส์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และบางส่วนเทไปสื่ออื่น เช่นโรงหนังที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และบางส่วนไปยังสื่อที่กำลังเติบโตอย่างอินเทอร์เน็ต

ถึงจะบิ๊กแต่ก็ต้องดิ้น

ภาวะสงครามแย่งชิงผู้ชม เพื่อดึงรายได้จากเม็ดเงินโฆษณา ซึ่ง “จำนรรค์” บอกว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะจากเทคโนโลยีและกฎระเบียบ ทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกบริโภคได้มากขึ้น คนทำก็ต้องแข่งขันกันมาก เพราะสปอนเซอร์ก็หาได้ยาก ใครไม่มีความสามารถก็ยืนบนเวทีนี้ไม่ได้ และสำหรับผู้ผลิตหน้าใหม่อาจต้องทำงานอย่างหนัก เพราะกว่าคนและสปอนเซอร์จะรู้จักต้องใช้เวลา ถ้าโชคดีก็เกิดได้

นี่คือเหตุผลที่ “จำนรรค์” บอกว่าผู้ผลิตต้องปรับตัวอย่างมาก ปัจจุบันการผลิตรายการสักเรื่องสำหรับเจเอสแอล คือทั้งคนผลิต คนทำตลาด ขายโฆษณา ต้องเอาสมองมารวมกัน ต้องคิดด้วยกันตั้งแต่แรกและขายด้วยกัน

หากถามถึงเคล็ดลับสำหรับ “จำนรรค์” ที่หลายคนยกให้เป็นบิ๊กผู้ผลิตรายการว่าทำอย่างไรเจเอสแอลถึงปักหลักในวงการมาได้ถึง 30 ปี ข้อสรุปของ “จำนรรค์” คือผู้ผลิตรายการต้องคิดตลอดเวลา และสังเกตดูว่าโลกและคนดูเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไรบ้าง ถ้าเรามีความมั่นใจ ผลิตรายการออกมาดี พรีเซนต์ดีในที่สุดสปอนเซอร์ก็มาเอง