ถอดรหัส LOMO ปลุกชีพฟิล์ม ได้ใจเด็กแนว

ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อกันว่า ไม่นานนักโลกของการถ่ายภาพจะอยู่ในสภาพ “ฟิล์มตาย ไฟล์ดิจิตอลเกลื่อน” แต่แล้วท่ามกลางความรวดเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลของกล้องดิจิตอลแบบวินาทีต่อวินาที การใช้ฟิล์มก็กลับพบโอกาสฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เมื่อกระแสความสนุกจากการใช้ “กล้องโลโม่” ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นที่ว่าเป็น ”เครื่องช่วยหายใจ” ให้กับตลาดฟิล์ม ดังเช่นอีเวนต์ฮาๆ ของ “โลโม่เอเชีย” เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มีการเชิญชวนชาวโลกให้หันมาลิ้มลองรสชาติฟิล์มเก่าเก็บร่วมกับชาวโลโม่ (Expired Film Tasting with Lomo)

โลโม่ กำลังกลายเป็นตำนาน “แรงเฉื่อย” ของโลกอนาล็อกอันงดงาม ถึงขนาด BBC ได้นำมาทำเป็นภาพยนตร์สารคดี “Lomo Documentary” และเพราะเสน่ห์อย่างยากที่จะเลียนแบบ กล้องโลโม่จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Toy camera บ้าง … ”สินค้าแฟชั่น” บ้าง มิใช่กล้องที่มีไว้เพื่อการใช้งาน ด้วย Main Idea ของความสนุกในการ “ถ่ายภาพ” และความสวยงามของ ”ภาพถ่าย” ที่ (มัก) เกิดขึ้นบนพื้นฐานของ ”ความฟลุ้ค”

จาก Props คอมมิวนิสต์…สู่ Hit Kits ของเด็กแนว

จากวัตถุประสงค์การผลิตของสหภาพรัสเซียเดิมในปี 1982 ที่เป็นไปในเชิงปริมาณดังคำประกาศที่ว่า…“คอมมิวนิสต์อันทรงเกียรติทุกคนควรมีกล้องเป็นของตัวเอง” กระทั่งมาถึงยุคแห่งการค้นพบความสวยงามแบบบังเอิญของสองนักเรียนเวียนนาที่เดินทางไปท่องเที่ยวในสาธารณรัฐเชก จนเกิด Lomo Society เป็นครั้งแรกในปี 1992 จึงนำมาสู่การก่อตั้งบริษัท Lomographiche AG ขึ้นที่ประเทศออสเตรีย

ศักราชใหม่ของอารยธรรม “โลโม่” คาดการณ์ได้ว่า ทางหนึ่งเกิดจาก แนวคิดที่สอดคล้องกับความเฟื่องฟูของ Pop Art ที่ไม่เห็นด้วยกับอัจฉริยภาพทางศิลปะ พวกเขาเห็นว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องสูงส่ง ด้วยสามารถนำวัตถุดิบใกล้ตัวมาใช้สร้างความงามได้ ดังเช่นแนวคิดการทำซ้ำของ Andy Warhalls, Pop Artist ชื่อดัง

ในจังหวะเดียวกันกับที่กระแส Vintage มาแรง ไอเท็มต่างๆ ในตำนานอย่างสไตล์เวสป้า เดรสสั้น สร้อยลูกปัด สมัยคุณแม่ยังสาวถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ กระแสความนิยมข้าวของในอดีตถูกนำเข้ามาในเมืองไทย พร้อมๆ กับการอุบัติขึ้นของคำว่า “เด็กแนวๆ” ที่ช่างแสวงหา ”ความต่าง” ใส่ตัว

หนึ่งใน Cool Item ของคนยุคนี้จึงหนีไม่พ้นกล้องโบราณบุคลิกสนุกอย่างโลโม่ จนกลายเป็น Prop หรือ Accessories ที่ช่วยแสดงถึงความเป็นตัวตนแบบแนวๆ ของพวกเขา

กล้องโลโม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ในกลุ่มเด็กมัธยมปลาย นักศึกษา และคนทำงานรุ่นใหม่ ด้วยไม่ต้องอาศัยทักษะใดๆ มารองรับการถ่ายภาพนอกจากความฟลุ้ค ความต่างที่สร้างได้ง่าย พกพาได้สะดวกด้วยน้ำหนักที่เบา ผลลัพธ์ของภาพของที่มีความสามัญ เรียบง่าย ไม่ต้องอาศัยกระบวนการทางสมองที่ซับซ้อน และสามารถสะท้อนมุมมองแบบธรรมชาติของคนนั้นๆ ทำให้ปัจจุบันโลโม่ยังได้รับความนิยมในฐานะของ (หิ้ว) ฝากจากต่างแดน กระทั่งมีสนนราคาค่าหิ้วหากสั่งซื้อกับบุคคลปลายทางในเว็บไซต์

“มันเป็นเทรนด์แฟชั่น อย่างตอนจตุคามก็ปากต่อปาก เห็นเพื่อนทำก็ทำตามกัน แต่มองในแง่ดีก็แสดงว่าแบรนด์เราดี ทำให้เขาหยุด และประทับใจได้” มณีแดง กุลทวีทรัพย์ ทูตโลโม่ประจำประเทศไทยแสดงความเห็น

การสร้างแบรนด์ของโลโม่

โลโม่ประสบความสำเร็จระดับโลก ไม่ใช่เพราะเพียงแค่ภาพถ่ายสีจัดๆ หน้าตาแปลกๆ หากแต่หมายรวมถึงทุกองค์ประกอบที่สามารถอ้างอิงได้ถึงความเป็นโลโม่ จนเกิดเป็นคำเฉพาะที่ว่า “Lomo Style”

ความชัดเจนในคุณสมบัติของโลโม่แต่ละรุ่นเป็นตัวตั้งของการแบรนดิ้งที่ดี เช่น Holka และ Diana เป็นกล้อง Medium Format, Actionsampler และ Supersampler สร้างภาพได้หลายเฟรมหลายแอคชั่นในการกดชัตเตอร์ครั้งเดียว, Pop- 9 จะให้ภาพซ้ำแบบ Pop Art, Colorsplash มีแฟลชที่เปลี่ยนสีได้, Fisheye ลักษณะภาพจะดูนูน ขอบรูปวงกลม ดีไซน์กล้องที่ดูกึ่งๆ คลาสสิก, LC-A+ มีการ Recite ในเชิงประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นกล้องโลโม่รุ่นแรกตั้งแต่สมัยสายลับรัสเซีย

อาจกล่าวได้ว่าการแบรนดิ้งของ “โลโม่” เริ่มมาจากการสร้างความชัดเจนของกล้องแต่ละรุ่น การมุ่งสร้างภาพลักษณ์ สร้างคาแรคเตอร์ที่แตกต่างและชัดเจน มีการสร้างดีไซน์เฉพาะ ตั้งแต่งานกราฟิก งานแพ็กเกจจิ้ง การใช้ภาษา หรือการเลือกรูปภาพ

ความแข็งแกร่งของแบรนด์โลโม่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น กระทั่งสามารถสร้าง Society ของตนเองผ่าน ”เว็บไซต์”ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือการตลาดอันทรงพลังที่สุดของโลโม่ จากคำร่ำลือแบบ ”ปากต่อปาก” ของ Lomo Style จึงกลายเป็น ”คลิกต่อคลิก” ด้วยอาศัยสมรรถนะของเทคโนโลยี 2.0 ที่ผู้ใช้สามารถทำให้ฐานชุมชนของแบรนด์เติบโตขึ้นได้ด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกัน โลโม่ยังมีความเข้าใจในพฤติกรรมของ Lomographer ว่าการมีกล้องไว้เฉยๆ เล่นอยู่กับบ้านคนเดียวคงไม่สนุก ดังนั้น การมีเนื้อที่ให้ Lomographer ไม่ว่าจะด้วยการ Upload ภาพฟรี การโพสต์ข้อเขียน จึงยิ่งเสริมให้เกิดพลังของ LOMO Community ที่ยิ่งใหญ่

นอกจากนี้ โลโม่ยังมีการใช้กลยุทธ์การบริหารงานผ่านเครือข่ายตั้งแต่ระดับโลกผ่านเว็บไซต์ lomography.com ส่งต่อมายังระดับภูมิภาคผ่าน lomographyasia.com ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกง ขณะเดียวกันยังมีการทำตลาดแบบ Local ตามหัวเมืองหลักๆ ของโลกกว่า 70แห่ง ผ่านเครือข่ายที่เรียกว่า ” สถานทูต Lomo” ประจำประเทศนั้นๆ เพื่อเผยแพร่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโลโม่ ดูแลประชากรโลโม่ ส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดให้เข้ากับระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดประกวดภาพถ่าย การทำ Workshop การจัดLomo trip การให้บริการหลังการขาย หรือหากเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ถือสัญชาติ Lomographer สามารถใช้กล้องเป็นวีซ่า เพื่อเข้าไปขอคำปรึกษาในด้านต่างๆ ได้ เช่น การหาร้านอัดภาพในประเทศนั้นๆ ปัญหาในการใช้กล้อง เป็นต้น

“เราไม่มีการซื้อหน้าโฆษณา” มณีแดง เปิดเผย “ด้วยคาร์แร็กเตอร์ของโลโม่เอง เราไม่ใช่พราด้า กุชชี่ เราค่อนข้างแคร์ความเป็นชุมชนหรืออะไรที่ใกล้ๆ ตัวมากกว่า หรือถ้ามีลงนิตยสารก็จะเป็นลักษณะการ Offer หรือขอสปอนเซอร์มากกว่า อย่างที่ลงบ่อยหน่อยก็จะเป็นนิตยสารที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเดียวกับเราอย่าง A Day, OOM “

Lomo World Congress นับเป็นงานชุมนุมของสาวกโลโม่ทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด เนื่องจากไม่มีวาระการจัดงานที่แน่นอน ล่าสุดจัดขึ้นที่ ”ลอนดอน” โดยมี “Lomo Wall“ ซึ่งเป็นไอคอนที่สำคัญของการแสดงความเป็นโลโม่เป็นศูนย์รวม

“มันคือการพรีเซนต์ภาพถ่ายในแบบโลโม่ที่มีเอกลักษณ์ ไม่ใช่แค่การเอาภาพถ่ายมาแปะบอร์ด แต่มันมีการดีไซน์ เช่นมีการทำซ้ำ ทำโวลุ่ม มันสามารถมองได้ตั้งแต่การเป็นกราฟิกธรรมดากระทั่งมองเป็นภาพซ้อนรูปใหม่ได้ด้วย” บริษัทโลโม่จะจัดส่งอุปกรณ์และบอร์ดมาให้แต่ละสถานทูตเพื่อให้ Lomographer ในแต่ละประเทศได้ร่วมกันจัดกำแพงภาพถ่ายโลโม่ของตนเพื่อส่งเข้าร่วมงาน

ความเป็น Unique ของโลโม่เริ่มป็นที่สนใจของแบรนด์ดังๆ แม้แต่กับแบรนด์หรูอย่าง BMW/MINI ที่เป็นสปอนเซอร์หลักให้กับงาน Lomo World Congress ปีที่ผ่านมา Lomo Limited Super Sampler กล้องโลโม่สีม่วงที่ร่วมมือกับ Anna Sui, ABSOLUTLOMO แคมเปญรางวัลของ ABSOLUT VODKAในปี 2007และล่าสุดโลโม่ Fisheye Edition พิเศษ ที่มีหน้าตาสีสันแบบ Camper รองเท้าสไตล์มายอร์ก้า แบรนด์ดังจากสเปนที่โด่งดังระดับโลก ด้วยคอนเซ็ปต์ร่วมกันว่าสวมสบาย ดีไซน์สนุก

ส่วนในไทย การกำเนิดสมาคม Lomography ประเทศไทย คือบทพิสูจน์ความนิยมของชุมชน “โลโม” ในไทย และยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ “ไทเกอร์เบียร์” นำไปใช้ในการจัดงาน “Tiger Translate” กิจกรรมใหญ่ ดนตรี ศิลปะ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างแบรนด์ของไทเกอร์เบียร์ ในการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

ภัททภาณี โภวที แบรนด์เมเนเจอร์ของไทเกอร์เบียร์ บอกถึงการจัดนำกิจกรรมแสดงภาพ Lomo Walls กำแพงภาพถ่ายโลโม่ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียมาใช้ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “กล้องโลโม่ เป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ มีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีคนไทยเล่นกันกลุ่มหนึ่งเหนียวแน่นมานานแล้ว

ด้วยความที่โลโม่มีโมเดลที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเอง การทำกิจกรรมทุกอย่าง รวมถึงกรณีของ “Tiger Translate ต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาคม Lomography แห่งประเทศไทย เพราะว่าภาพถ่ายที่ถูกนำมาแสดงจะต้องได้รับ Approve ที่อเมริกาให้ถูกต้องตามกฎ ส่วนที่นำมาทำเป็น Wall เพราะต้องแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร มองว่าภาพถ่ายเหล่านี้นำมาจัดนิทรรศการได้ โชว์กล้อง ให้ความรู้แก่คนทั่วไปได้ ในเมื่ออังกฤษมี ทำไมเมืองไทยถึงไม่มี”

ร้าน Room Interier Products ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ผู้นำเข้ากล้องโลโม่มาจำหน่ายในเมืองไทยเป็นเจ้าแรกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว กล่าวว่า “โลโม่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในช่วง 2 ปีหลัง โดยเฉพาะรุ่น Fisheye 2 รองลงมาเป็น Holga และ LC-A+ “ ทางร้านมียอดขายโลโม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงกลางปี 50 ที่ผ่านมา วัยรุ่นนิยมซื้อกันมากในทุกช่วงเทศกาล”

งานนี้คงต้องช่วยลุ้นกันว่า ภาพจริงหันกลับของกล้องโลโม่ในโลกดิจิตอล ที่กำลังโตสวนทิศทางกับโลกที่ฟิล์มถูกลดปริมาณการผลิตลงเรื่อยๆ จะเป็นอย่างไรต่อไป “มีหลายคนห่วง แต่เราก็คงทำอะไรไม่ได้ ให้มันเป็นไปตามกลไกตลาด หวังแค่ว่าให้มันอยู่นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” ท่านทูตโลโม่ให้ความเห็น