“ไอ-โมบาย VS โนเกีย” ไทยน็อกแบรนด์นอกเบียดแชมป์

“ไอ-โมบาย (i-mobile) ” เปลี่ยน Positioning จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือให้กับ Global Brand กลายมาเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่แข็งแรงภายใน 3 ปี ด้วยการตลาดเต็มรูปแบบ สามารถเอาชนะน็อก Global Brand หลายแบรนด์ และชิงส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือในไทยเป็นอันดับ 2 จากมูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หากจะเป็นรอง ก็รองแค่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง “โนเกีย” เท่านั้น นี่คืออีกหนึ่งหมัดที่น่าสนใจของคนไทย

ธุรกิจที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของนักการตลาดอย่างธุรกิจไอที และแม้แต่ผู้ก่อตั้งธุรกิจเองก็คาดไม่ถึง อย่างโทรศัพท์มือถือแบรนด์ไทย “ไอ-โมบาย (i-mobile)” กลายเป็น Local Brand ที่แข็งแรง วิ่งแซงหน้ามือถือ Global Brand เกือบทุกแบรนด์ด้วยส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ในสัดส่วนกว่า 30% โดยตามหลังแบรนด์เบอร์ 1 ของโลกอย่าง “โนเกีย” เท่านั้น จากปี 2004 ที่ไอ-โมบายก้าวเข้ามาแทบจะไม่มีเปอร์เซ็นต์ในตลาด

ทั้งหมดมาจาก Key Success 3 ส่วนคือกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะกับประเทศไทย การมีช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแรง และการบริหารงานแบบ Local ผสมผสานกับระบบครอบครัว

สตาร์ทด้วย Niche –Price
ประสบการณ์ 7 ปีของการเป็นตัวแทนจำหน่ายและรับซ่อมโทรศัพท์มือถือให้ Global Brand เช่น โนเกีย ซัมซุง ทำให้ “สามารถไอ-โมบาย” หรือชื่อเดิม “สามารถ อีซี่เปย์” รู้จักผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างดี เมื่อคิดจะสร้างสินค้าในแบรนด์ของตัวเองท่ามกลางแบรนด์ต่างชาติที่ครองตลาดอยู่ กลยุทธ์ Niche Market โดยเสนอสินค้าที่ยังไม่มีในตลาด จึงทำให้ไอ-โมบายแจ้งเกิด

“วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย บอกว่า ช่วงที่ยังเป็นแค่ตัวแทนจำหน่าย มาร์จิ้นกำไรต่อเครื่องลดลง จาก 20% เหลือไม่ถึง 10% เพราะแบรนด์นอกเริ่มหาตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม มีการแข่งขันตัดราคา นอกจากร้านไอ-โมบายจะพยายามหาของแถมใส่ในเครื่องให้ลูกค้าที่มาซื้อด้วยคอนเทนต์เพลงและเกมแล้ว ยังพยายามหาเครื่องที่มีฟังก์ชันใหม่ๆ โดยเคยติดต่อกับ Global Brand แบรนด์หนึ่งว่าน่าจะลองทำมือถือที่มีฟังก์ชันเป็นวิดีโอโฟน เพราะช่วงนั้นยังไม่มีแบรนด์ไหนทำตลาดรุ่นนี้ หรือที่มีก็ตั้งราคาสูง แต่บิ๊กแบรนด์นั้นไม่เห็นด้วย

เมื่อมีร้าน ก็ต้องมีสินค้า แต่ที่มีอยู่กำไรน้อย ไอ-โมบาย ก็ต้องหาสินค้ามาเข้าร้านเอง

เมื่อคิดจะสร้างสินค้าและต้องลงทุนทำตลาดด้วย จึงควรสร้างแบรนด์ของตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับไปสร้างแบรนด์ให้คนอื่น

“วัฒน์ชัย” พร้อมกับน้องชาย “ธนานันท์ วิไลลักษณ์” ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตัดสินใจเลือกเรียนรู้ประสบการณ์การเป็นเจ้าของแบรนด์โทรศัพท์มือถือ ด้วยทางลัดคือการ “Co Branding” ซึ่งช่วงนั้นโทรศัพท์มือถือเกาหลีมาแรง จึงร่วมกับ Innostream ทำมือถือวิดีโอโฟน เจาะ Niche Market ที่เป็นกลุ่มชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ

“ธนานันท์” บอกว่าวิดีโอโฟนรุ่นนั้น ขายประมาณ 12,000 บาท ถูกกว่าที่มีอยู่ในตลาดคือซัมซุง E700 รุ่นฝาพับ Dual Screen ที่ขายอยู่ 18,000 บาท ทำยอดได้ 40,000-50,000 เครื่อง ทำให้แน่ใจว่าตลาดยังมีช่องว่าง และที่สำคัญแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ Global Brand เท่านั้นที่ลูกค้าต้องการ แบรนด์อื่นที่ไม่ดัง แต่มีฟังก์ชันใหม่ๆ ก็สามารถทำตลาดได้

แม้วิดีโอโฟน Innostream จะทำมาร์จิ้นได้ถึง 25% แต่ก็สร้างประสบการณ์ที่เจ็บปวดให้กับไอ-โมบาย เพราะที่ขายออกไป ถูกส่งกลับมาซ่อมถึง 30% จนกลายเป็นภาพลักษณ์ติดแบรดน์ไอ-โมบายว่า “เจ๊งง่าย”

แต่เมื่อเริ่มสตาร์ทแล้ว และรู้ว่ามีโอกาสในตลาด ไอ-โมบายจึงตัดสินใจเลิกการ Co Brand แล้วมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง

Positioning ชัด ก็ไม่ยาก
จากประสบการณ์สร้างจุดขาย โดยใส่คอนเทนต์เข้าไปในเครื่องโทรศัพท์มือถือ ในช่วงที่เป็นตัวแทนจำหน่ายให้แบรนด์ระดับโลก “วัฒน์ชัย” คิดว่าเมื่อจะสร้างแบรนด์ตัวเองในปี 2005 จะต้องนำจุดขายนี้มาใช้ โดยเริ่มสะท้อนให้เห็นตั้งแต่ชื่อแบรนด์ “i-mobile” ซึ่งตัว I สามารถทำให้ลูกค้านึกไปถึงคำว่า Information, Interactive และ Internet เพื่อตอกย้ำให้คนซื้อรู้ว่าการซื้อมือถือ “ไอ-โมบาย” ไม่ได้หมายถึงการได้แต่เครื่องเปล่าๆ เท่านั้น

ที่สำคัญ “วัฒน์ชัย” บอกว่า ไอ-โมบายกำหนด Positioning ช่วงแรกชัดเจน ทำให้มีที่ยืนในตลาด คือเป็นโทรศัพท์มือถือสำหรับวัยรุ่น และผู้ที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ เพราะฉะนั้นรุ่นแรกที่ทำภายใต้แบรนด์ไอ-โมบาย จึงเป็นมิวสิกโฟน เพราะวัยรุ่นชอบฟังเพลง บวกกับคอนเทนต์ที่มีอยู่กับพันธมิตรค่ายเพลง

การ Launch แบรนด์ตัวเองรุ่นแรก คือรุ่น 601 วางสินค้าอย่างชัดเจนว่า คือมิวสิกโฟน มีเสียงเรียกเข้าแบบเอ็มพี 3 ในราคากว่า 6,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ Global Brand ช่วงนั้นราคาสูงกว่า 1 หมื่นทั้งนั้น

“ธนานันท์” บอกว่าไอ-โมบาย สามารถทำราคาได้ถูกว่า เพราะตัดฟังก์ชันกล้องถ่ายรูป เพื่อให้สินค้าชัดเจนว่าเจาะกลุ่มผู้ที่ชอบฟังเพลง เพราะตลาดขณะนั้นนิยมเพลงมากกว่ากล้อง ขณะที่โนเกียก็มีรุ่นที่มีทั้งเอ็มพี 3 และกล้องถ่ายรูปราคาจึงแพงกว่า ประกอบกับการทำทีวีซี ที่ใช้พรีเซ็นเตอร์ต่างชาติ ทำให้แบรนด์ดูทันสมัย เป็นอินเตอร์ เพราะการรับรู้ของลูกค้าเกี่ยวกับสินค้าไอที ถึงอย่างไรก็ชื่อถือแบรนด์ระดับโลกมากกว่า

นี่คือการเริ่มต้นอย่างดี โดยมีกลุ่มวัยรุ่นเป็นลูกค้าหลัก และเมื่อไอ-โมบายปล่อย 602 ตามมา ที่สื่อสารด้วยคำว่า “Music Instinct” และมี USB Flash Drive ยิ่งทำให้วัยรุ่นชอบ เพราะสามารถใช้เป็น Thump Drive เก็บงานได้อย่างสะดวก ขณะที่แบรนด์อื่นมีความยุ่งยากในการใช้งานกว่า

ฟังก์ชันที่โดน ต้องมากับดีไซน์ที่ดึงดูด วิธีการของ “ไอ-โมบาย” ช่วงเริ่มต้น คือการเลือกแบบที่มีอยู่แล้วในโรงงานเมืองจีน เพราะช่วงนั้น Global Brand จำนวนมากผลิตในจีนมาได้ระยะหนึ่ง “ไอ-โมบาย” จึงดูแล้วคล้ายกับลูกผสม มีทั้งแบบโนเกีย อิริคสัน โมโตโรล่า

นี่คือวิธีการที่ผู้บริหารไอ-โมบายต่างบอกว่า “ก็ต้องมีบ้าง” และไม่รู้สึกเสียหน้าที่ใช้สูตรก๊อบปี้ เพราะต้องยอมรับว่าลูกค้าคุ้นเคยทั้งรูปร่างหน้าตาของ Global Brand และเมนูของเครื่อง

จากหลักแสนเครื่องกลายเป็น 1.8 ล้านเครื่องในปี 2006 ด้วยรุ่น 510 ที่ย้ำ Positioning ของไอ-โมบาย และเพิ่มเติมจุดขายความเป็นมัลติมีเดีย ไอ-โมบายที่ฟังก์ชันครบ กับราคาที่ถูกกว่า ทำให้ยอดขาย 510 วิ่งไม่หยุด จนถึงปี 2007 ทำยอดขายได้ 1.5 ล้านเครื่อง

ยอดขาย 5 แสนเครื่องแรกมาจากคุณสมบัติของ 510 เองที่ฟังก์ชันครบ ตั้งแต่เอ็มพี 3 วิดีโอ และราคาประมาณเพียง 6 ,000 บาท ขณะที่เครื่องอื่นในตลาดราคาหลักหมื่น ทำให้เกิดการบอกปากต่อปาก จนเกิดยอดขายเครื่อง 5 แสนที่สอง และ 5 แสนที่สามมาจากตลาดต่างประเทศ เพราะยิ่งขายได้จำนวนมาก ยิ่งสั่งผลิตจากโรงงานได้ต้นทุนถูกลง จนขณะนี้ราคาเครื่องอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทเท่านั้น

ฐานช่องทางจัดจำหน่ายแน่นปึ๊ก
การเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือมาถึง 7 ปี ทำให้ไอ-โมบายมีความสัมพันธ์กับดีลเลอร์ทั่วประเทศอย่างดี เทคนิคที่ “วัฒน์ชัย” บอกก็คือ ไม่ว่ากี่ปีผ่านไปดีลเลอร์ก็ยังคงเห็นตัวเขาหรือไม่ก็ “ธนานันท์” ไปติดต่อประสานงาน ต่างจาก Global Brand ที่มีการเปลี่ยนหน้าผู้บริหารบ่อยครั้ง จุดนี้ทำให้ขาดความต่อเนื่อง

“เราดูแลกันอย่างเป็นครอบครัว ทั้งการจัดการและผลประโยชน์ ส่วนต่างกำไร รวมไปถึงความรับผิดชอบที่จะไม่ทำให้ดีลเลอร์ขาดทุน”

“ธนานันท์” บอกว่าไอ-โมบายจะไม่แต่งตั้งตัวแทนรายใหญ่ในแต่ละภาคทับซ้อนกัน เพื่อไม่ให้เกิดการตัดราคากัน ขณะเดียวกันมีการตั้งช็อปของตัวเอง ทั้งร้านไอโมบาย คีออส และแฟรนไชส์ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การบริหารจัดการเดียวกัน จึงไม่เกิดการตัดราคากับดีลเลอร์

สิ่งที่ทำให้ดีลเลอร์ได้มาร์จิ้นกำไรลดลงจากการขาย Global Brand เพราะการลดราคาจากตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า ทำให้ดีลเลอร์ปล่อยสินค้าออกไม่ทัน ขณะที่ไอ-โมบายทำระบบที่ควบคุมการลดราคาได้ดีกว่าดีลเลอร์จึงได้มาร์จิ้นสูงกว่า

ผลที่เกิดขึ้นคือดีลเลอร์จะเชียร์ลูกค้าให้ซื้อ “ไอ-โมบาย” โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลเชื่อคำแนะนำ หลายรายตั้งใจมาซื้ออีกแบรนด์หนึ่งแต่พอเจอตัวแทนขายเชียร์ไอ-โมบาย ก็เปลี่ยนใจ ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ในตลาดโทรศัพท์มือถือถึง 20% และเป็นลูกค้าไอ-โมบาย ถึงครึ่งหนึ่ง ไอ-โมบายจึงพูดได้ชัดเจนว่า ยอดขายทั้งหมดมาจากดีลเลอร์ถึง 80%

คิด-ทำแบบ Local
ครอบครัว “วิไลลักษณ์” เป็นบริษัทหนึ่งที่บริหารงานแบบครอบครัว เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือผู้บริหารระดับสูง แต่การปรับตัวในช่วงวิกฤตหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้สมาชิก “วิไลลักษ์” ดึงมืออาชีพและผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาผสมผสาน

จุดเด่นของความเป็นครอบครัวที่บริหารโดยใช้ความเป็นเจ้าของในการตัดสินใจ “ธนานันท์” บอกว่ามีข้อดีคือทำให้การตัดสินใจทำได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีขัอเสียคือหากตัดสินใจผิดพลาดก็แย่ จุดนี้ทางแก้ไขคือการดูข้อมูลและการเปิดรับฟังความเห็นจากทีมผู้บริหารมืออาชีพ

การคลุกอย่างเต็มตัวของ “เจ้าของ” ทำให้ผู้บริหารเข้าถึงได้ง่าย ใน “ไอ-โมบาย” มีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางของบริษัท พูดคุยเรื่องสำคัญ ประชุมทุก 2 สัปดาห์ หรือหากเร่งด่วนก็ตัดสินใจได้ทันที

ความเป็นบริษัท Local ที่ต้องแข่งกับบริษัทข้ามชาติ ยังมีข้อดีที่การตัดสินใจใช้กลยุทธ์ต่างๆ ทำได้เร็ว ไม่ต้องรอให้ซีอีโอที่อเมริกา หรือที่ยุโรปตัดสินใจ การพลิกแพลงกลยุทธ์ต่างๆ ก็คล่องตัวกว่า เพราะบริษัทข้ามชาติต้องคำนึงถึงกลยุทธ์รวมระดับโลก เช่น กรณีการใช้พรีเซ็นเตอร์ในไทย ไอ-โมบายสามารถเลือกได้ทันที และเข้าใจได้มากกว่าว่าใครเหมาะสมหรือไม่ แต่หากโนเกียจะเลือกใช้ ซีอีโอที่ต่างประเทศอาจไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้จักพรีเซ็นเตอร์คนนั้น นี่คือเหตุผลที่ไม่เคยเห็นเซเลบริตี้ ดารา นักร้องเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้โนเกีย แต่สำหรับ “ไอ-โมบาย” มีหลายคน และยังเชื่อในแนวทางนี้ ที่ผ่านมาไอ-โมบาย มีพรีเซ็นเตอร์ที่ชัดเจนคือ ทาทา ยัง หมอโอ๊ค และกำลังเลือกสำหรับปี 2008 ด้วยคอนเซปต์เลือกพรีเซ็นเตอร์เน้นคนที่มีความสามารถหลากหลายสะท้อน Positioning ของไอ-โมบาย ที่เป็นมัลติมีเดียโฟน มีฟังก์ชันครบ

เป็นแนวทางการปรับเปลี่ยน Positioning มาเป็นโทรศัพท์สำหรับกลุ่ม Mass มากขึ้น เพราะกลยุทธ์การใช้มีพรีเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่จะเจาะตลาด Mass ได้สำเร็จ

เป้าหมายใหม่ : ปรับดีไซน์-ต่างประเทศ
ในปี 2007 ไอ-โมบาย เริ่มลงทุนในการจ้างบริษัทเซเลบรัม ดีไซน์ เป็นที่ปรึกษาออกแบบมือถือ เพื่อให้ “ไอ-โมบาย” มีความเป็นตัวของตัวเอง และลบภาพของมือถือก๊อบปี้

“ธนานันท์” บอกว่า ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้มีดีไซน์ อยากทำให้สวยกว่าบริษัทผู้ผลิต ให้ไอ-โมบายมีทางเลือกมากขึ้น

การมีดีไซน์ของตัวเองยังเป็นการเตรียมพร้อมวิ่งไปสู่ตลาดต่างประเทศ หลังจากทดสอบตลาดมาตั้งแต่ปี 2006 กับพันธมิตรธุรกิจคือเทเลคอมมาเลเซีย ที่ไปลงทุนเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ในหลายประเทศย่านเอเชีย

ตลาดต่างประเทศเริ่มทำยอดขายให้ไอ-โมบายมากขึ้น จนได้เกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดในปี 2007 และกำลังจะได้ 60% ในปี 2009 เป็นสัญญาณที่ “วัฒน์ชัย” บอกว่า เมื่อแบรนด์ไทยไปเติบโตในต่างประเทศ ก็สะท้อนกลับมาทำให้คนไทยด้วยกันเองเชื่อในแบรนด์ “ไอ-โมบาย” มากขึ้น เป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกับเบอร์หนึ่งอย่าง “โนเกีย” ก็ไม่ยากอีกต่อไป