By : สโรจ เลาหศิริ – Rabbit’s Tale/Moonshot Digital
ช่วงที่ผ่านมา ผมได้พูดคุยกับ SMEs หลายๆ เจ้า ที่เป็นพี่น้อง หรือ เพื่อนกัน ต่างแวะเวียนมาปรึกษาเรื่องการทำ Digital Marketing จากที่เคยได้ไปฟังสัมมนาตามที่ต่างๆ หรืออ่านตามหนังสือ หรืออ่านตามข่าว เรื่องราวส่วนใหญ่ ก็คงวนเวียนไม่พ้นว่า “จะเริ่มต้นอย่างไรดี?” หรือมีคอร์สอะไร หรือหนังสืออะไรที่อธิบายการทำ Digital Marketing ได้ครบสำหรับธุรกิจเริ่มตั้งต้นที่มีเงินทุนไม่มากบ้าง ?
บางครั้ง ก็มักจะได้รับบรีฟงานประเภททำไวรอล คลิป หรือการเปิดและบริหารแฟนเพจ รวมไปถึงการซื้อ facebook Ads ต่างๆ แต่พอเมื่อเจาะลึกลงไปในขั้นพื้นฐานของการทำธุรกิจแล้ว พบว่ายังมีอีกหลายบริษัทอีกมากมายที่ละเลยพื้นฐานทางการทำการตลาด หรือการทำธุรกิจไป สำหรับผมแล้ว คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ เราลองย้อนกลับไปที่พื้นฐานการทำการตลาดกันดีกว่า ว่าเราเข้าใจมันดีพอ และลึกซึ้งพอแล้วหรือยัง ?
โดยหากย้อนไปที่ความหมายของการทำการตลาด หรือ Marketing คำนิยามที่ผมชอบคือ “Managing a sustainable and profitable relationship between the company and their customers by providing them values that serve the needs of customers.” แปลเป็นไทยคือ การตลาดคือการจัดการความสัมพันธ์ที่มีผลกำไรอย่างยั่งยืนโดยการส่งมอบคุณค่าที่ตอบความต้องการของลูกค้า
การทำ Digital Marketing คือการเติมวลี ‘in the Digital era’ หรือ ‘ในยุคดิจิทัล’ ลงไปเท่านั้นเอง และคำว่ายุคดิจิทัล คือการที่เทคโนโลยีทางดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการแข่งขันเชิงธุรกิจ ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงในบทถัดไป
ทีนี้มาย้อนดูกันว่ามีคำสำคัญอะไรบ้างในประโยคนี้ และในฐานะของคนทำธุรกิจเราได้ตอบคำถามนี้ครบแล้วหรือยัง
Need – สินค้าและบริการของเราได้ตอบความต้องการของลูกค้าจริงหรือไม่ ? เราแก้ปัญหาของลูกค้า หรือ เราทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นอย่างไร ?
Value – คุณค่าของบริการหรือสินค้าของเรา ให้อะไรทั้งในแง่ของ คุณค่าทางจิตใจ หรือ คุณค่าทางการใช้งาน ? เรามีคุณค่าที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างไร ?
Relationship – เรามีการสร้าง และการบริหารความสัมพันธ์ซึ่งส่งมอบ ประสบการณ์ที่ดีอย่างไร ผ่านช่องทางไหน ? และมีความสม่ำเสมอในการสร้างความสัมพันธ์นั้น หรือเปล่า ?
Profits – สิ่งที่เราทำไปนั้น มีผลตอบแทนที่ดีและเหมาะสม สร้างผลกำไรให้บริษัทสามารถประกอบการต่อไปได้ ?
Sustainable – ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกค้าถูกสร้างมายั่งยืนหรือไม่ ? หรือเราหวังให้ลูกค้ามาอุดหนุนบริการของคุณเพียงครั้งเดียวหรือเปล่า ?
ทั้งหมดนั้นคือคำถามพื้นฐานของการทำการตลาด ซึ่งทีนี้ หลายคนยังไม่สามารถตอบคำถามด้านบนได้หมด ก็หวังที่จะเพิ่มการรับรู้ของสินค้าสุดฮิตอย่างทางการทำไวรอลคลิปเสียแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ประสบความสำเร็จและผู้คนก็ลืมไป เพราะไวรอลคลิป คือส่วนหนึ่งของการสื่อสารการตลาดในหัวข้อของ Relationship ซึ่งแม้จะสร้างความฮือฮา แต่ก็ไม่ได้ยั่งยืน
ทุกวันนี้เราจำชื่อแบรนด์ของโฆษณาไวรอลที่มี ชายจรจัดนอนอยู่หน้าบ้าน ถูกลุงเจ้าของบ้านไล่ตลอด จนอยู่มาวันหนึ่งชานจรจัดหายไป และเจ้าของบ้านก็เปิดดูวีดีโอแล้วก็ค้นพบความจริงได้หรือไม่ ?
เรารู้ไหมว่าสินค้ากล้องวงจรปิดดังกล่าว ดีกว่าอย่างไร? ตอนนี้เมื่อคุณดูจบแล้ว คุณซื้อกล้องมาติดบ้านหรือยัง? แล้วคุณซื้อกล้องยี่ห้ออะไรมา? ใช่ที่โฆษณาไหม ?
หรือ เราทราบไหมว่าแบรนด์ที่ทำไวรอลดังๆ อย่างเจ๊จู มีบริการหรือสินค้าที่ตอบโจทย์อะไรของลูกค้า ?
หรือ คุณคงเคยได้รับคำเชิญจากเพื่อนคุณให้กดไลค์แฟนเพจ สินค้าหรือบริการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวคุณเลย หรือ ได้รับการยิงโฆษณาผ่านทาง youtube โดยที่คุณใจดจดใจจ่อกับการรอปุ่ม กดข้าม เพื่อดูเพลงโปรด โดยลืมโฆษณาตัวนั้นไปแล้วหรือเปล่า?
ครับ สิ่งที่ผมพยายามจะสื่อก็คือ ก่อนที่เราจะก้าวมาทิ่สิ่งที่เรียกว่า Digital Marketing เราต้องเข้าใจพื้นฐานของคำว่า การตลาด ให้ถ่องแท้ เสียก่อน เราต้องรู้จักความต้องการของลูกค้าของเรา เราต้องมีสินค้าหรือบริการที่ให้คุณค่าแก่ลูกค้าของเราจริงๆ และเหนือกว่าคู่แข่งในมุมใดมุมหนึ่ง มีการสร้างประสบการณ์ผ่านทางส่วนประสมทางการตลาด แบรนดิ้ง หรือ การสื่อสารการตลาด มีการวางแผนบริหารความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน และมีการกำหนดโครงสร้างราคาและความเหมาะสมที่จะทำกำไรให้แก่บริษัทได้
จากนั้นเราค่อยเริ่มศึกษาว่า Digital Technology เข้ามาเปลี่ยนแปลงจุดในแต่ละจุดอย่างไรบ้าง และช่วยทำให้การทำการตลาดในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคและการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไป มี Tools ตัวไหนที่ช่วยทำให้การตลาดของเราสมบูรณ์ขึ้นบ้าง ? โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีงบประมาณทางการตลาดน้อย สู้องค์กรใหญ่ๆ ไม่ได้ เราควรจะเลือกทำสิ่งใดที่สำคัญที่สุดก่อน ?
สำหรับบทความชิ้นต่อไป ผมจะมาชี้แจงให้ฟังว่า การเข้ามาของดิจิทัล เปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง และเราจะทำการเปลี่ยนแปลงองค์กร หรือที่เรียกว่า ‘Digital Transformation’ อย่างไร
**Digital Marketing for SMEs Episode 1
สงวนลิขสิทธิ์ทางบทความให้ใช้เผยแพร่ที่นิตยสาร Positioning เท่านั้น