มาสเตอร์การ์ดเผยคนไทยมีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับกลางในเอเชีย แซงหน้าเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

มาสเตอร์การ์ดได้ทำการสำรวจจากดัชนีวัดทักษะความรู้ทางการเงินล่าสุด เผยว่าประเทศไทยมีระดับความรู้ทางการเงินสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชียทั้งหมด 17 ประเทศ มีคะแนนอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศมาเลเซีย จีน และศรีลังกา และยังอันดับสูงกว่า 9 ประเทศ ซึ่งในนี้รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านความสามารถในการจัดทำงบประมาณ การออมเพื่อยามฉุกเฉิน และการรู้จักเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสม

พัฒนาการในด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทางการเงินของประเทศในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่นั้นถือว่าอยู่ในภาวะชะงักงัน โดยทั้งภูมิภาคมีคะแนนความรู้ทางการเงินตกลงหนึ่งจุดมาอยู่ที่ 64 คะแนน ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ได้เริ่มมีการทำสำรวจมาใน พ.ศ. 2553

ในภาพรวม เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีคะแนนไม่แตกต่างไปจากเดิม ในขณะที่คะแนนของกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่นั้นลดลงมากที่สุด โดยประเทศที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ได้แก่ เวียดนาม (58 คะแนน ลดลง 7 จุด) พม่า (60 คะแนน ลดลง 6 จุด) ฟิลิปปินส์ (62 คะแนน ลดลง 4 จุด) มาเลเซีย (67 คะแนน ลดลง 2 จุด) และอินเดีย (60 คะแนน ลดลง 2 จุด)

จอร์เจตต์ แทน หัวหน้ากลุ่มงานการสื่อสารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของมาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า การที่เราได้คะแนนความรู้ทางการเงินทั่วทั้งภูมิภาคที่ลดลงเป็นสถิติต่ำที่สุดกว่าที่เคยเป็นมาเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และควรมีการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ในส่วนของตลาดเกิดใหม่นั้น แม้ว่าช่องว่างเรื่องความแตกต่างทางเพศจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว แต่ข้อมูลจากดัชนีความรู้ทางการเงินในปีนี้กลับเผยให้เห็นว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีปัญหาเรื่องความรู้ทางการเงินมากที่สุด

พูดกว้างๆ ก็คือ เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับคนหนุ่มสาว และคนว่างงานทั้งหมดในทุกประเทศ เพื่อที่จะเพิ่มความรู้ทางการเงินโดยรวมของทั้งภูมิภาคให้สูงขึ้น ตลาดทางการเงินที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูงขึ้น ทำให้การพัฒนาความรู้ทางการเงินในหมู่ผู้บริโภคเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเฉพาะในยามที่ต้องมีการตัดสินใจลงทุนในเรื่องต่างๆ อย่างสมเหตุสมผล ที่เห็นได้ชัดจากผลสำรวจในปีนี้คือ ความตั้งใจส่วนบุคคลนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหานี้ได้ ทางออกของปัญหานี้จึงอยู่ที่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการปฏิรูปทางภาครัฐ แนวคิดริเริ่มของชุมชน ภาคการศึกษา และผู้ให้บริการทางการเงินทั้งหลาย ร่วมกับความพยายามของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกัน”

8_master

วิธีการวิจัย

ดัชนีวัดทักษะความรู้ทางการเงินของมาสเตอร์การ์ดในปีนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ห้า โดยได้รับการจัดทำต่อเนื่องมาทุกปี ครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2558 จากผู้ถูกสำรวจจำนวน 8,718 คนที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ใน 17 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินเดีย บังคลาเทศ พม่า และศรีลังกา)

2_master

1new

2new

3new