ผ่าสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทย รายเล็กต้องปรับตัวอย่างไร ในยุคที่ยักษ์ใหญ่ครองเมือง

จับตาอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยแข่งขันกันมันส์หยด ที่จากนี้ก้าวสู่การเปลี่ยนมือครั้งสำคัญ และจะกลายเป็นเกมของยักษ์ใหญ่ รายย่อยต้องรับมือกับเกมรุกครั้งนี้อย่างไร เรามีคำตอบ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาคงได้เห็นข่าวช็อกวงการอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการเข้าซื้อกิจการของยักษ์ใหญ่แห่งวงการทั้งสิ้น ปัจจัยหลักเบื้องต้นมาจากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทย

ที่เป็นข่าวใหญ่ที่สุดคงจะหนีไม่พ้นพี่ใหญ่อย่าง “อาลีบาบา” เข้าซื้อหุ้นใน “ลาซาด้า” อีคอมเมิร์ซในเครือบริษัทร็อคเก็ตอินเทอร์เน็ต (Rocket Internet) สัญชาติเยอรมนี ด้วยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท

การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้เป็นการเปิดทางในการที่อาลีบาบาจะบุกตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์ โดยใช้ช่องทางของลาซาด้าซึ่งมีให้บริการในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ที่เปิดให้บริการมา 4 ปีแล้วเป็นหลัก

มีการคาดหมายว่า ผลจากการเทกโอเวอร์ลาซาด้าของอาลีบาบาจะส่งให้มีสินค้าจากจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น จากที่ปัจจุบันอาลีบาบามีเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั้งเถาเป่า (Taobao), ทีมอล (Tmall) และบริการ Aliexpress

แต่เท่านี้คงยังไม่พอสำหรับอาลีบาบา ยังใส่เกียร์เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับการคอนเฟิร์มแล้วว่าบริษัทแอนท์ไฟแนนเชียล (Ant Financial) บริษัทด้านการเงินในเครืออาลีบาบา มีแผนซื้อหุ้น 20% ในบริษัทแอสเซนด์มันนี่ (Ascend Money) ในเครือทรู เพื่อเป็นใบเบิกทางในการให้บริการชำระเงินออนไลน์ และสินเชื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทางด้านกลุ่มเซ็นทรัลของไทยเอง ที่ได้เข้าซื้อกิจการซาโลร่า ประเทศไทย เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซด้านแฟชั่น เพื่อนำมาเสริมความเป็น Omni Channel ของกลุ่มเซ็นทรัลให้แข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งทำให้กลุ่มเซ็นทรัลเข้าถึงฐานข้อมูลลูกค้าออนไลน์ และฐานข้อมูลของซัปพลายเออร์ได้มากขึ้น

info1_ecommerce

อาลี แฟนซี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซาโลร่า ไทยแลนด์ ได้กล่าวถึงทิศทางต่อไปของซาโลร่าหลังจากที่เซ็นทรัลเข้าซื้อกิจการ หลักๆ มี 3 อย่างด้วยกันคือ

  1. ซาโลร่าจะมีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เป็นอินเตอร์แบรนด์ ของเซ็นทรัลมีในมืออยู่แล้ว เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น แต่กำลังอยู่ในช่วงการคุยกัน ปัจจุบันซาโลร่ามีสินค้ารวม 80,000 รายการ กลุ่มสินค้าที่เป็นอินเตอร์แบรนด์ เป็นกลุ่มใหญ่ที่สร้างรายได้สัดส่วนถึง 46%
  2. เกิด Omni Channel เกิดการเชื่อมต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น ทั้งห้างเซ็นทรัล หรือจะชอปผ่านช่องทางออนไลน์
  3. ขยายตลาดการชอปออนไลน์ของธุรกิจค้าปลีกให้เพิ่มขึ้น จากเวลานี้ที่มีเพียงแค่ 0.6% ของมูลค่าค้าปลีก ในขณะที่ต่างประเทศมีสัดส่วน 10-20% ซึ่งเซ็นทรัลก็จะเข้ามาช่วยในการขยายตลาดให้กว้างออกไป รวมถึงมีการแลกฐานลูกค้ากัน และในอนาคตจะมีการใช้บัตร The One Card และซาโลร่าด้วย

เห็นได้ว่าการบุกตลาดของยักษ์ใหญ่ไม่ได้มาเล่นๆ จริงๆ แน่นอนว่ามาด้วยเงินทุนมหาศาลที่พร้อมจะเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกเมื่อ ต่อไปอาจจะเป็นเกมของยักษ์ใหญ่ในวงการ เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้อีคอมเมิร์ซรายย่อยในประเทศจะต้องปรับตัวอยู่พอสมควร มิเช่นนั้นคงได้เห็นวงจรล้มหายตายจากอย่างแน่นอน

เพราะแม้แต่ Ensogo เจ้าของธุรกิจดีล ก็ยังต้องปิดกิจการในเอเชีย ส่วนหนึ่งนอกจากตัวธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ในอนาคตยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งรายใหญ่ อาลีบาบาได้ซื้อหุ้นลาซาด้า เพื่อบุกตลาดภูมิภาคเอเชีย

info2_ecommerce

แนะรายย่อยต้องสร้างเซ็กเมนต์ของตนเอง

เว็บไซต์ตลาดดอทคอมเป็นอีกหนึ่งอีคอมเมิร์ซที่ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกัน เพราะทางราคูเท็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้มีการปรับกลยุทธ์ในตลาดอาเซียน เป็นการเบนเข็มจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านเว็บไซต์ มาอยู่ในรูปแบบของโมบายแอปพลิเคชันแบบ C2C ทำให้มีการปิดธุรกิจในอาเซียน รวมทั้งได้ทำการขายหุ้นในตลาดดอทคอมในประเทศไทยเองก็เช่นกัน

ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย รับมือการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน “เราคงไม่ไปชนกับเขาโดยตรงเพราะคงสู้ไม่ได้ เป็นการปรับโพสิชันให้ตลาด สร้างจุดยืนให้ชัดเจนมากขึ้น ต้องปรับแผนเดินกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด สร้างความแตกต่างและความแข็งแกร่งให้ตัวเอง จะมีการเปิดตัวในช่วงเดือนกรกฎาคม”

ภาวุธ มองว่า ต่อไปตลาดอีคอมเมิร์ซจะเป็นเกมของยักษ์ใหญ่จากเมืองนอก ที่ใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือเข้าถึงคนได้ทั่วประเทศและทั่วโลก “กรณีอาลีบาบาได้ลงทุนเข้าซื้อลาซาด้าเพื่อใช้เป็นช่องทางในการขายสินค้า ส่วนในเรื่องเพย์เมนต์เลยมาลงทุนร่วมกับทาง Ascend ลงเฉพาะเรื่องเพย์เมนต์อย่างเดียวประมาณ 20% เขาต้องการเน้นเรื่องบริการด้านการเงิน หรือพวกฟินเทค อย่างพวกการปล่อยกู้ออนไลน์ ให้คนเข้ามากู้เงิน”

ตลาดอีคอมเมิร์ซเป็นเป็นธุรกิจของผู้ที่ต้องมีสายป่านยาวมากธุรกิจหนึ่ง เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ถ้ามองว่าใครจะเป็นผู้ชนะในธุรกิจนี้ ภาวุธตอบได้แค่ว่า “ใครที่มีเงินหนากว่าจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้”

อย่างแรกเลย ต้องมีเงินทุนเยอะ มีเงินมหาศาล สิ่งที่สำคัญที่สุด เอาเงินไปลงทุนด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ด้านโอเปอเรชัน ด้านโลจิสติกส์ คลังสินค้า 2. ต้องทำทุกอย่างให้ฟรี แพลตฟอร์มฟรี จัดส่งฟรี 3. ต้องใช้คนมหาศาล จะเกิดการแก่งแย่งคนในวงการอีคอมเมิร์ซมากมาย

สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย SME หรือสตาร์ทอัพ ที่ไม่มีเงินทุนมหาศาลไปต่อสู้กับรายใหญ่ได้อยู่แล้วนั้น ภาวุธบอกว่า จำเป็นต้องทำตัวเองให้เป็น “เซ็กเมนต์” ให้ได้ ต้องจับกลุ่มนิชมาร์เก็ต หรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพราะไม่สามารถเหวี่ยงแหเป็นระดับแมสสู้กับรายใหญ่ได้อย่างแน่นอน

“แน่นอนว่ามีการแข่งขันที่สูงขึ้น กระตุ้นตลาดให้คึกคักขึ้น และเราก็คงได้ Know How อะไรใหม่ๆ จากรายใหญ่ และมีเงินลงทุนเข้ามาอีกมาก เป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่ได้รับสินค้า และบริการใหม่ๆ แต่ที่น่ากลัวคือ การผูกขาดจากรายใหญ่ ด้วยการที่เขามีเงินทุนมหาศาลสามารถกำหนดโครงสร้างราคาได้ เพราะฉะนั้นรายย่อยต้องปรับตัวเพื่อสร้างจุดยืนให้ตัวเองให้ได้”

ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังมีการเติบโตมีมากมาย ถ้าดูจากมูลค่าแล้วถือว่ายังเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เป็นไปได้ว่าจะมีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาบุกตลาดอีกแน่นอนทั้งอเมซอน หรือกลุ่มทางยุโรป กลุ่มทางเกาหลีใต้ ซึ่งตลาดในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีโอกาสเติบโตอีกเยอะ และมีช่องว่างให้เข้ามาเล่นอีกเยอะ

info3_ecommerce info4_ecommerce