ฉายภาพวิกฤต ‘SME’ โดย ‘ป้อม ภาวุธ’ ในวันที่กำลังถูกปล่อยให้ตาย!

ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงแทน SMEs ไทย สำหรับ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด โดย ป้อม จะมาฉายภาพถึงสถานการณ์ปัจจุบันของ SMEs ในวันที่ตลาดอีคอมเมิร์ซถูกยึดครองโดย จีน

SMEs ยิ่งขายยิ่งขาดทุน

นับตั้งแต่ปี 2562 ภาพรวม ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย จนถึงปี 2566 มีการเติบโตถึง 41.5% จำนวนผู้ใช้ก็เพิ่มจาก 30.7 ล้านคน เป็น 41.5 ล้านคน ขณะที่ยอดใช้จ่ายต่อคนก็เพิ่มขึ้นจาก 2,970 บาท เป็น 8,840 บาท และในปีนี่ ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยคาดว่าจะมีมูลค่าเฉียด 7 แสนล้านบาท เลยทีเดียว 

แม้ภาพรวมอีคอมเมิร์ซจะเติบโต แต่ ป้อม ภาวุธ อธิบายว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้โตตาม เพราะมีความน่ากลัวหลายอย่างซ่อนอยู่ โดยเฉพาะการถูก ผูกขาด จากผู้เล่น 3 รายหลัก ได้แก่ Shopee, Lazada และ TikTok ซึ่งร้านค้าที่ต้องพึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ต้องยอมจ่าย ค่าบริการ กลายเป็นว่า ไม่ขายออนไลนก็ไม่ได้ แต่มาขายออนไลน์ยิ่งขาดทุน

“จะเห็นว่าไทยต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติหมดเลย ซึ่งมันทำให้เราเสียเปรียบ เพราะต่างชาติคุมหมดทำให้แพลตฟอร์มสามารถขึ้นราคาค่าบริการแพลตฟอร์ม โดยบางแพลตฟอร์มขึ้นราคาถึง 300% ภายในปีครึ่ง จากที่ไม่เก็บเลย ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 7-10% และเราไม่สามารถไปชะลอได้”

ท้าทายรอบด้าน

เมื่อร้านค้าออฟไลน์ ต้องขึ้นมาแข่งขันบนออนไลน์ ก็ต้องเจอกับการแข่งขันด้าน ราคา ที่รุนแรง เพราะต้องเจอกับ สินค้าจีน ที่ทำราคาได้ดีกว่า และเริ่มส่งเร็วขึ้น นอกจากนี้ อีกจุดที่เสียเปรียบก็คือ ร้านค้าไม่ได้ ข้อมูลลูกค้า เพราะแพลตฟอร์มปิดทั้งหมด เพื่อไม่ให้ร้านค้าไปทำการตลาดทีหลัง ทำให้เป็นการล็อกให้อยู่แต่บนแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ในปีหน้าแพลตฟอร์มทั้งหมดต้องส่งข้อมูลให้ กรมสรรพากร อัตโนมัติ ทำให้ร้านค้าเล็ก ๆ ที่ไม่เคยเสียภาษีต้องเสียภาษี ดังนั้นจะเห็นว่า SMEs ที่เป็นกระดูกสันหลังกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้านและ ย่ำแย่ลง

“เฉพาะตอนนี้ มูลค่าสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในไทยคาดว่ามีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้อาจจะดีหน่อยที่รัฐบาลออกกฎเก็บ Vat สินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท”

อยากรอดต้องเน้นคุณภาพและส่งออก

ภาวุธ มองว่า SMEs ที่เน้นนำเข้าของจากจีนมาขายอาจจะอยู่ยาก เพราะจะสู้ราคาไม่ได้ แต่ต้องแข่งด้วย แบรนด์ และ คุณภาพสินค้า เน้นที่ประสบการณ์ นอกจากนี้ อย่าไปคนเดียว ต้องหาพันธมิตรเพื่อแบ่งทรัพยากรหรือลูกค้า ที่สำคัญต้อง หาตลาดใหม่ ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายใหม่หรือการ ส่งออก รวมไปถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ไม่ใช่อยู่แค่บนแพลตฟอร์ม สุดท้าย ต้อง นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้คน เช่น สามารถให้ลูกค้าผ่อนได้ ใช้ระบบออโตเมชั่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ SMEs ที่เห็นในปัจจุบันคือยัง ไม่ตื่นตัวกับการส่งออก เพราะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาษา ระบบการบริหารจัดการ และ ข้อกำหนดของแต่ละประเทศ ซึ่ง SMEs อาจทำความเข้าใจและดำเนินการได้ยาก ดังนั้น อยากให้ ภาครัฐ ควรสนับสนุนการพา SMEs ไปตลาดต่างประเทศ มีคลังสินค้าในประเทศนั้น ๆ มีคนช่วยโพสต์สินค้าขายในประเทศนั้น ๆ

“ความซวยคือ SMEs เราแทบไม่มีอะไรไปขาย เพราะระบบ SMEs แทบพังหมดแล้ว สู้ต้นทุนจีนไม่ไหว อาจจะมีเรื่องของอาหาร ผลไม้ ที่อาจสู้ได้ แต่รัฐบาลต้องช่วย เพราะเขาเข้มงวดกว่าเรา ไม่เหมือนเราที่เปิดให้เข้ามาง่าย ๆ”

แค่ 3 ข้อ ขอภาครัฐ

ภาวุธ มองว่า มีเพียง 3 ข้อที่อยากให้รัฐบาลทำ ได้แก่

  • บังคับใช้กฎระเบียบเดิมให้เข้มแข็ง เช่น คุมการนำเข้าสินค้าที่เข้มงวด อย่างให้สินค้าที่ไม่มี มอก. หรือ อย. เข้ามาไทย รวมถึงเข้มงวดเรื่องการ จัดตั้งบริษัท
  • ปรับเกณฑ์ให้คุ้มครองผู้ประกอบการ
  • สนับสนุนผู้ประกอบการจริง ๆ ไม่ใช่แค่จัดงานให้ความรู้

“ไม่ต้องกีดกันสินค้าจีนหรอก เราแค่ทำตามกฎระเบียบให้ได้ก่อน เพราะตอนนี้สินค้ามันหลุด มอก. หรือ อย. หมดเลย พอไม่มีอะไรกั้นก็บ่าเข้ามา SMEs ไทยก็สู้ไม่ได้ ก็เลือกจะปิดโรงงานแล้วนำเข้ามาถูกกว่า มันก็กระทบเป็นลูกโซ่หมด ต่างจากบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียที่ไม่ปล่อยให้แพลตฟอร์มหรือสินค้าจีนเข้ามาง่าย ๆ”

ทุกคนแทบปล่อยมือกับ SMEs หมดแล้ว

หากนับเฉพาะบริการ เพย์เมนต์เกตเวย์ ตอนนี้ เพย์ โซลูชั่น (Pay Solution) ถือเป็น ผู้เล่นไทยรายเดียวในตลาด เพราะผู้ให้บริการไทยรายอื่น ๆ ถูกต่างชาติซื้อไปหมดแล้ว และบริการเหล่านั้นจะเน้นจับลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ SMEs ที่คิดเป็น 80% ของประเทศกลับถูก ปล่อยมือทิ้ง SMEs หมด 

อย่างไรก็ตาม เพย์โซลูชั่นจะเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเป็นหลัก โดยจะเข้าไปช่วยระบบ ชำระเงิน เช่น บริการเครื่องรูดบัตร, ระบบตัดเงินอัตโนมัติ, ระบบผ่อนชำระเงิน, รับเงินจากต่างประเทศ และเชื่อมกับระบบ CRM รวมถึงช่วยออก E-Tax และ Invoid

โดยปีนี้ เพย์โซลูชั่นตั้งเป้าเพิ่มทรานแซคชั่นเป็น 7,800 ล้านบาท มีรายได้ 160 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะบุกที่ตลาด ออฟไลน์ มากขึ้น เพราะเป็นตลาดใหญ่ และธุรกิจออนไลน์หลายธุรกิจเริ่มจากออฟไลน์ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าออฟไลน์ของบริษัทมีสัดส่วนเพียง 5% แต่อนาคตต้องการเพิ่มเป็น 50% 

“SMEs มันกระจัดกระจายมาก มันเลยยุ่งยาก ทุกคนเลยคิดจะจับแต่รายใหญ่ ทำให้ตอนนี้ SMEs มันพังมากและกำลังจะตาย คนจีนมีเทคโนโลยีเพียบ แต่ไทยยังใช้กระดาษอยู่เลย เราเลยอยากจะช่วยรายย่อยพวกนี้ แต่เพย์เมนต์มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเรามีพาร์ทเนอร์อื่น ๆ เช่น ระบบบัญชี, ระบบบริหารข้อมูลลูกค้า นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราไปคนเดียวไม่ได้”

ปีหน้าจะพาผู้ประกอบการไทยไปต่างประเทศ

ภาวุธ ทิ้งท้ายว่า ปีนี้จะเป็นการดึงผู้ประกอบการออฟไลน์ขึ้นมาออฟไลน์ เพราะ SMEs ไทยยังไม่ค่อยใช้เทคโนโลยี แต่ปีหน้าตั้งใจจะช่วยพาผู้ประกอบการไทย ส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งไมด์เซ็ทของบริษัทคือ การที่บริษัทจะโตได้ ต้องทำให้ลูกค้าโตก่อน

“SMEs ไทยบางรายอยู่แบบเดิมมานานและไม่อยากเปลี่ยน ดังนั้น ต้องมีโรลโมเดลก่อน ให้คนไทยเห็นว่าดีถึงจะอยากไปใช้ตาม และตอนนี้ระบบไอทีถูกลง ดังนั้น อย่างน้อยเครื่องมือก็ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานเขาดีขึ้น ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องช่วย SME ด้วย”