ห้างบิวตี้! 1 ปีกับการแก้เกมของ “เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์”

รีโนเวตพร้อมยกเครื่องใหม่มาครบเป็นเวลา 1 ปีแล้ว สำหรับเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ที่ได้ปรับโฉมจากดิจิตอล เกตเวย์มีการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากห้างไอทีเป็นห้างบิวตี้และไลฟ์สไตล์มากขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มวัยทำงาน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการแข่งขันในตลาดค้าปลีกในประเทศไทยตอนนี้ร้อนระอุอยู่ตลอด ยิ่งในทำเลย่านสยามสแควร์ยิ่งมีการแข่งขันสูง เพราะต้องมีแม็กเน็ตในการดึงดูดลูกค้า และเงินในกระเป๋าของลูกค้าให้ได้ การแก้เกมของเซ็นเตอร์พอยท์ฯ จึงมาลงตัวที่ห้างบิวตี้โดยที่เน้นร้านค้า และสินค้าในส่วนของความสวยความงาม เพื่อใช้เป็นจุดแข็งต่อสู้กับห้างค้าปลีกอื่นๆ ในย่านนี้

1_centerpoint

ทำให้สัดส่วนของสินค้าในห้างแบ่งเป็น บิวตี้ 40% ไลฟ์สไตล์ 35% และอาหาร/เครื่องดื่ม 25%

หมัดเด็ดที่เซ็นเตอร์พอยท์ได้เลือกใช้ก็คือการเปิดช็อปที่เป็นแฟล็กชิพของแบรนด์เครื่องสำอางจากแดนกิมจิ ประเดิมที่อิทูดี้ที่ได้คัมแบ็กทำตลาดในไทย เป็นการเข้ามาทำตลาดโดยบริษัทแม่เอง ดีลนี้ได้ทำการเจรจากว่า 1 ปีครึ่งถึงได้มีการเปิดช็อปอิทูดี้แห่งแรกที่นี้ แบรนด์ต่อไปจะแบรนด์ลาเนจ (LANEIGE)” ถึงแม้จะมีเคาน์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่จะเปิดเป็นโมเดลสแตนอโลนแห่งแรกในเมืองไทยที่นี่ ดีลนี้ใช้เวลาในการเจรจา 1 ปี

2_centerpoint

เปรมินทร์ เลอนรเสฏฐ์ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ เล่าให้ฟังว่าเทรนด์ของเรื่องบิวตี้ความสวยความงามยังคงมาแรงอยู่ เพราะคนยุคนี้ดูแลตัวเองมากขึ้น และด้วยกลุ่มในย่านนี้เป็นกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา วัยทำงาน ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงเน้นในเรื่องสินค้าบิวตี้เป็นพิเศษ ทำเลในย่านสยามนี้ก็ยังคงคึกคัก และมีส่วนกระตุ้นให้ตลาดมีสีสันมากขึ้นด้วย

เรียกว่าการแก้เกมของเซ็นเตอร์พอยท์ดูจะมาถูกจุด เพราะด้วยเทรนด์ความสวยความงาม และด้วยกระแสเกาหลีฟีเวอร์ยังคงมีอยู่ในไทย ทำให้ในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 20% และมีทราฟฟิกผู้เข้าใช้บริการเฉลี่ย 30,000 คนในวันธรรมดา และเพิ่มขึ้น 20-30% ในวันเสาร์อาทิตย์ ในปีนี้ช่วงไตรมาสที่ 4 มีการตั้งเป้าเพิ่มทราฟฟิกอีก 7-10%

เปรมินทร์เสริมว่าทราฟฟิกจำนวนนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากตอนที่เป็นดิจิตอล เกตเวย์เท่าไหร่นัก แต่ที่เห็นชัดก็คือกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้นเป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มผู้หญิง และกลุ่ม First Jobber ทำให้ในการทำการตลาดสื่อสารได้ง่ายขึ้น

ในปีนี้ได้ใช้งบการตลาด 15 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นในการจัดกิจกรรมต่างๆ ใช้น้อยลงจากปีที่แล้วที่ใช้ 20 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งทำการรีโนเวตจำเป็นต้องใช้งบในการโปรโมต

3_centerpoint 4_centerpoint