"ไทยเบฟ" ควัก 100 ล้าน ปรับโฉม "ดิจิตอล เกตเวย์"กลับสู่ "เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์”

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ทางกลุ่ม “ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์” บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ ได้ลงทุนนำพื้นที่ไข่แดงที่สุดในเมืองกรุง ที่เดิมทีคือศูนย์รวมวัยรุ่นย่าน “เซ็นเตอร์พอยท์” ให้กลายเป็น “ดิจิตอล เกตเวย์” ไอที มอลล์ กลางสยามสแควร์

ด้วยความที่ใน 5 ปีก่อน เทรนด์เรื่องเทคโนโลยีมาแรงมาก หลายคนกำลังตื่นตาตื่นใจกับสมาร์ทโฟนในรูปแบบทัชสกรีน ทีซีซี แลนด์ฯ จึงสร้างคอมมูนิตี้คอนเซ็ปต์ไอที มอลล์

แต่เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีความสนใจที่หลากหลาย ไอที มอลล์ของยุคนี้ ทีซีซี แลนด์ฯ จึงต้องทำการแก้เกมครั้งใหญ่ ก่อนที่ดิจิตอล เกตเวย์จะกลายเป็นแค่ทางผ่านที่หลายคนเลือกเดินข้ามไปสยามพารากอน

ทีซีซีแลนด์ฯ จึงต้องควักงบ 100 ล้านบาท ปรับโฉมดิจิตอล เกตเวย์ ครั้งใหญ่ กลับมาเป็น “เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์” ชูคอนเซ็ปต์ “ไลฟ์สไตล์ มอลล์” เน้นสินค้าแฟชั่น และบิวตี้ เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-30 ปี

เพราะนอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ดิจิตอล เกตเวย์ยังได้โดนศึกรอบด้าน ทั้งการเปิดใหม่ของสยามสแควร์วัน และห้างละแวกใกล้เคียงอย่าง “MBK” หรือห้างมาบุญครอง ก็เป็นไอคอนที่หลายคนนึกถึงด้านไอทีมากกว่า

การปรับโฉมครั้งใหญ่เป็นเหมือนการแต่งตัวครั้งใหญ่ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงชื่อจากดิจิตอล เกตเวย์ เป็นเซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากไอที มอลล์ เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ เปลี่ยนโทสีจากสีเขียวเป็นสีชมพู ทำให้สัดส่วนร้านค้ามีการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นที่สินค้าแฟชั่น และบิวตี้ 40% สินค้าไอที 20% และอาหาร 20% จากเดิมที่สินค้าไอทีครอบคลุมสัดส่วนถึง 70% และอื่นๆ 30%

เปรมินทร์ เลอนรเสฏฐ์ ผู้จัดการทั่วไป เซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ กล่าวว่า “การปรับโฉมครั้งใหญ่ของดิจิตอล เกตเวย์ให้เป็นเซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ เราต้องการดึงศักยภาพของที่นี่ให้ชัดเจน เป็นการปรับธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่มีความต้องการทั้งเรื่อง

แฟชั่น ความสวยความงาม สุขภาพ เทคโนโลยี และอาหารการกิน เชื่อว่าการขยับตัวครั้งใหญ่ของเราจะสามารถสร้างสีสันให้กับรีเทลในย่านสยามสแควร์มากยิ่งขึ้น”

โดยที่เปรมินทร์คาดการณ์ไว้ว่า หลังจากที่มีการปรับโฉมจะมีทราฟฟิกผู้เข้าศูนย์เพิ่มขึ้น 15-18% เฉลี่ยอยู่ที่วันธรรมดา 40,000 คน/วัน และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ 70,000 คน/วัน พร้อมปรับสัดส่วนรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ 80% จากเดิมที่มีสัดส่วน 90% และเพิ่มรายได้จากการจัดกิจกรรมเป็น 20% จาก 10% เพื่อดึงดูดความสนใจให้คนเข้าศูนย์

และจะมีร้านค้าที่เป็นเชนเกี่ยวกับเฮลท์ แอนด์ บิวตี้จากต่างประเทศเข้ามาเปิดในช่วงไตรมาสที่ 4 เพื่อเป็น “แม็กเน็ต” ที่สร้างความแตกต่างจากศูนย์การค้าอื่นในละแวกใกล้เคียง

เบื้องต้นในการโปรโมตเพื่อให้คนรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นเซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ได้ใช้งบการตลาด 20 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ให้เติบโต 10-12% จากเดิมในปี 2557 ที่ผ่านมาเติบโตเพียง 2-3% เท่านั้น